ลักษณะทั่วไป เป็นหนอนของผีเสื้อหลายชนิด เมื่อยังเล็กผิวลำตัวเป็นมันเลื่อม บางชนิดเมื่อคลานไปตามใบพืชแล้วทิ้งเมือกซึ่งเมื่อแห้งแล้วใสเหมือนแก้วไปตามทางที่คลานผ่าน เมื่อโตขึ้นผิวที่เป็นมันเลื่อมหายไป หนอนแก้วมีลักษณะเช่นเดียวกับหนอนผีเสื้อทั่วไป คือมีขาจริง ๓ คู่ ขาเทียมซึ่งเป็นตุ่มยื่นมาตามท้องมี ๔ คู่ และที่ปลายท้องอีก ๑ คู่รวมเป็น ๕ คู่ ผิดกับหนอนบุ้งหรือร่านที่ตามลำตัวของหนอนแก้วมีขนน้อยมาก หรือมีเพียงขนสั้น ๆ บางชนิดเมื่อยังเล็กอยู่มีผิวหนังยื่นเป็นหนามอ่อน ๆ กระจายไปตามลำตัวก็มี ลักษณะที่สำคัญอีกประการหนึ่งของหนอนแก้วก็คือ หัวเล็ก อกโตขึ้นจากปล้องที่ ๑ และไปโตที่สุดที่ปล้องที่ ๓ ซึ่งจะโตกว่าปล้องของส่วนท้องที่อยู่ถัดไป
หนอนแก้วที่พบได้บ่อย ๆ เป็นหนอนของผีเสื้อหางแฉก (ปีกคู่ที่ ๒ ของผีเสื้อพวกนี้มีติ่งยื่นออกไปที่ปลายปีก ทำให้มองคล้ายเป็นติ่งหาง) ซึ่งอยู่ในวงศ์ Papilionidae โดยเฉพาะหนอนแก้วส้มที่อยู่ในสกุล Papilio ซึ่งมีอยู่หลายชนิดด้วยกันอันได้แก่ชนิดย่อย P. demoleus malayanus Wallace, P. polytes polytes Linn., P. polytes romulus Cramer และ P. memnon agenor Linn. เป็นต้น หนอนแก้วเหล่านี้กินยอดอ่อนและใบของพืชพวกส้ม เช่น มะนาว ส้มเขียวหวาน ส้มโอ มะกรูด ส่วนพวกที่กินพืชอาหารอย่างอื่นก็มี เช่น ชนิดย่อย P. agamemnon agamemnon Linn. กินใบทุเรียนเทศ ใบมะเขือยาว และใบจำปา
สีของตัวหนอนเหล่านี้อาจเปลี่ยนแปลงไปมากเมื่อเจริญเติบโตขึ้น จนทำให้คิดว่าต่างชนิดต่างพวกกันไปก็ได้ ตัวอย่างเช่นหนอนของ Papilio polytes romulus Cramer สีเขียวแต่มีสีขาวเปรอะตามรอยนูนของลำตัวดูคล้ายขี้นกที่ยังสดอยู่ เมื่อโตขึ้นสีจะเขียวจัดขึ้น รอยเปรอะสีขาวจะหายไปคงเหลือแต่บริเวณด้านล่างของลำตัว ขอบด้านหน้าของอกปล้องที่ ๓ มีตุ่มสีน้ำตาลเรียงกันเป็นแถวทำให้ดูคล้ายมีตาเป็นแถวอยู่ด้านหน้า ขอบด้านหลังของอกปล้องที่ ๓ มีลักษณะเป็นร่องสีน้ำตาล และมีแถบสีน้ำตาลประขาวพาดเฉียงข้างลำตัว ๒ แถบ แต่เมื่อเปลี่ยนเป็นดักแด้กลับมีสีน้ำตาลอมม่วง ส่วนชนิดย่อย P. demoleus malayanus Wallace นั้น ตัวหนอนเมื่อยังเล็กอยู่มีสีน้ำตาลเข้มหรือน้ำตาลแก่จนเกือบดำ ลำตัวมีหนามอ่อนสีเหลือง มีรอยนูนสีขาวกระจายเปรอะตามลำตัว มองดูคล้ายขี้นกเก่า ๆ เมื่อโตขึ้นตัวหนอนจะเปลี่ยนเป็นสีเขียวทั้งตัว แต่ที่อกปล้องที่โตที่สุดจะมีตุ่มกลมสีน้ำตาลหรือสีดำมีขอบสีน้ำตาลอมเหลืองหรือเหลืองอ่อนติดอยู่ ๒ ข้างคล้ายตาและขอบด้านหลังของอกปล้องที่โตที่สุดเป็นเส้นสีขาวนวล ทำให้เห็นอกเป็นหัว มีตา ๒ ข้าง และเมื่อเปลี่ยนเป็นดักแด้ ดักแด้จะมีสีเขียวเป็นมันตลอด
หนอนแก้วทั้งหมดที่กล่าวข้างต้นไม่มีหนวด แต่มีอวัยวะอยู่ในรูตรงกลางด้านหน้าของสันหลังอกปล้องแรกบริเวณที่ติดกับหัว อวัยวะนี้เป็นเยื่อบางที่ตัวหนอนสามารถทำให้พองตัว ยืดยาวออกมาเป็นง่ามคล้ายหนวดได้ มีชื่อเรียกว่า osmeterium และมักมีสีฉูดฉาด เช่น สีส้ม และสามารถปล่อยกลิ่นเหม็นออกมา ทำให้ศัตรูที่เข้าใกล้ตกใจ หลบหนีไปได้ หนอนแก้วที่โตเต็มที่ เช่น ชนิดย่อย Papilio memnon agenor Linn. นั้น อาจมีลำตัวยาวถึง ๗ เซนติเมตร ชนิดอื่นย่อมกว่าคือยาว ๔-๕ เซนติเมตร
รูปร่างดักแด้ของหนอนแก้วในสกุล Papilio นี้มีลักษณะคล้ายคลึงกัน กล่าวคือเมื่อมองดูทางด้านข้างจะมีรูปร่างคล้ายเรือที่เชิดหัวขึ้น หากมองทางด้านหลังจะเห็นมีลักษณะป่องตรงกลางแล้วเรียวแหลมไปทางหาง ด้านหัวเรียวลงไปเช่นกันแต่โค้งมนป่องตรงกลางก่อนจะถึงปลายหัว ที่ปลายหัวมีมุมแหลมยื่นออกไปเป็นง่าม ๒ ข้าง หนอนแก้วมักเปลี่ยนเป็นดักแด้ตามใบไม้หรือกิ่งไม้โดยเอาหัวขึ้นและมีเส้นใยบาง ๆ ๑ เส้น ติดตรงกลางลำตัวยึดดักแด้ให้ทำมุมประมาณ ๔๕ องศา กับวัตถุเช่นกิ่งไม้ที่ยึดอยู่นั้น
ระยะเวลาของการเจริญเติบโตในวัฏจักรชีวิตของหนอนแก้วชนิดต่าง ๆ ข้างต้นมีลักษณะ คล้ายคลึงหรือใกล้เคียงกัน กล่าวคือแม่ผีเสื้อจะวางไข่กลม ๆ สีขาวนวลหรือเหลืองอ่อนฟองเดี่ยว ๆ หรือบางครั้งเป็นกลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มละ ๒-๓ ฟอง ตามใบและยอดอ่อนของพืชอาหาร ไข่ฟักตัวออกเป็นตัวหนอนภายในเวลาไม่เกิน ๑ สัปดาห์ หนอนจะเจริญเติบโตลอกคราบ ๕ ครั้งก่อนเปลี่ยนเป็นดักแด้ รวมระยะเวลาเป็นตัวหนอน ๑๙-๒๒ วัน การเปลี่ยนเป็นดักแด้จะเปลี่ยนเป็นดักแด้ตามบริเวณพืชที่อยู่อาศัย โดยจะเห็นดักแด้ห้อยตามใบหรือกิ่ง ระยะเป็นดักแด้ ๘-๑๐ วัน ก็จะออกมาเป็นผีเสื้อ ผสมพันธุ์ และตัวเมียจะวางไข่ต่อไป ระยะเวลาที่เป็นผีเสื้อค่อนข้างสั้น ส่วนใหญ่จะมีเวลาไม่เกิน ๑๐ วัน ก็ตาย
หนอนแก้วส้มที่มีอยู่แพร่หลายในประเทศแถบภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บางชนิดแพร่กระจายไปถึงกลุ่มประเทศอาหรับก็มี.