ลักษณะทั่วไป เป็นปลาน้ำเค็ม อยู่ในวงศ์เดียวกับปลาจวด ความยาวตลอดตัว ๙๐-๑๐๐ เซนติเมตร ลำตัวยาว ค่อนข้างกลม ตอนหน้ากว้างแล้วค่อย ๆ เรียวไปทางปลายหาง สันหัวแบนราบ และค่อย ๆ ลาดลงไปสู่ปาก ตาเล็ก ปากกว้างและเฉียงลึก ปากบนกว้างคลุมปากล่างและมีฟันแถวนอกเป็นรูปกรวย ปลายโค้งห่าง ๆ กัน แถวในเป็นฟันซี่ละเอียดเรียงกันเป็นกลุ่มแน่น ด้านหน้าสุดเป็นฟันคล้ายเขี้ยวขนาดใหญ่ ๑-๒ ซี่ ปากล่างมีฟันแถวนอกเป็นซี่เล็ก ๆ ฟันแถวในเป็นรูปกรวยขนาดใหญ่กว่า ขอบปากบนมีรู ๕ รู ด้านใต้ขอบปากล่างมี ๔ รู ขอบแผ่นปิดเหงือกอันหน้ามนกลม มีรอยหยักตามแนวตั้งเห็นไม่ชัดเจน กระดูกแผ่นปิดเหงือกมีหนาม ๒ อัน อันบนเล็กกว่าอันล่าง แต่มีติ่งเนื้อที่โคนครีบอกปิดทับไว้ ครีบหลังมี ๒ ตอน ตอนหน้ามีก้านครีบแข็ง ๙ ก้าน ตอนท้ายมีก้านครีบแข็ง ๑ ก้านและก้านครีบแขนง ๒๗-๓๓ ก้าน ครีบอกมีก้านครีบแขนง ๑๙ ก้าน ครีบก้นมีก้านครีบแข็ง ๒ ก้านซึ่งมีลักษณะไม่แข็งมาก และก้านครีบแขนงอีก ๗ ก้าน ครีบหางรูปลิ่ม ปลายแหลม เกล็ดตามลำตัวมีขนาดปานกลาง แบน และหลุดออกได้ง่าย เกล็ดตามเส้นข้างตัวมี ๑๑๕ เกล็ด เกล็ดใต้เส้นข้างตัวเป็นเกล็ดหนามลักษณะสากมือเห็นไม่ชัดเจนนัก กระเพาะลมยื่นยาวเข้าไปในช่องท้องประมาณครึ่งหนึ่งของความยาวลำตัว แตกออกเป็นสาขาได้ถึง ๒๕ ถุง ตอนหน้าสุดของถุงยังมีกระเพาะลมยาวเรียวอีกถุงหนึ่ง ด้านบนส่วนหัวและสันหลังสีเทาแกมเขียว มีเหลือบสีทอง ด้านข้างสีส้มทองและค่อย ๆ จางลงสู่ใต้ท้อง แนวเส้นข้างตัวสีทอง ทั้งครีบหลัง ครีบก้น และครีบหางสีเหลืองแกมน้ำตาลหรือสีส้มจาง ขอบครีบสีดำ ครีบอกสีน้ำตาล ครีบท้องสีส้มจาง มีจุดสีดำที่โคนครีบอก ข้างลำตัว และบนครีบ ยกเว้นครีบอกและครีบท้องมีจุดเล็ก ๆ สีน้ำตาลกระจายทั่วไป ตาสีส้มทอง ปลาอายุน้อยมีสีจางกว่า ส่วนบนของแผ่นปิดเหงือกสีดำอมฟ้า ไม่มีจุดสีดำที่โคนครีบอกหรือถ้ามีก็จางมาก ใต้ท้องสีน้ำตาลเหลือง
ปลาแก้วพบอาศัยอยู่ในทะเลตื้นและปากแม่น้ำ ในประเทศไทยพบทั้งด้านอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ตั้งแต่ชายฝั่งประเทศอินเดียไปจนถึงอินโดนีเซีย และขึ้นเหนือไปถึงประเทศจีน พบชุกชุมมากบริเวณช่องแคบมะละกาในเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม นิยมใช้เนื้อปลาสดทำอาหารหรือตากแห้ง กระเพาะลมของปลาชนิดนี้ใช้ทำเป็นกระเพาะปลาที่มีคุณภาพดี และมีราคาแพงที่สุด.