แก้ว-นก

ชื่อสามัญ
Parrot

ลักษณะทั่วไป เป็นนกที่มีสีสวยสะดุดตา จะงอยปากบนงอโค้งเป็นขอ ปลายแหลม ขยับไปมาและขึ้นลงได้ ใช้เกาะจับช่วยในการเคลื่อนที่ จนเรียกกันว่า ตีนที่สาม ใต้ปลายจะงอยปากบนด้านในมีลักษณะเป็นสันและร่องขรุขระ ใช้สับจะงอยปากล่างให้คม เพื่อสะดวกในการจับอาหารหรือเมล็ดพืชได้แน่นยิ่งขึ้น จะงอยปากล่างขยับเลื่อนไปข้างหน้าและถอยมาข้างหลังได้ ลิ้นหนาแข็ง ปลายกลมมน มีกล้ามเนื้อแข็งแรงมาก หัวค่อนข้างใหญ่ ลำตัวป้อม ขนสั้น นิ้วตีนที่ ๑ และนิ้วตีนที่ ๔ อยู่ข้างหลัง ส่วนนิ้วตีนที่ ๒ และ ๓ อยู่ข้างหน้า ทำให้สามารถเกาะไต่ได้คล่องแคล่ว นอกจากนั้นยังใช้ในการจับอาหารอีกด้วย ส่วนใหญ่นกแก้วมักมีหางยาว
     นกแก้วส่วนใหญ่มีถิ่นที่อยู่อาศัยในป่าเขตร้อนทั่วโลก อยู่รวมกันเป็นฝูง กินผลไม้และเมล็ดพืช ขณะออกหากินจะส่งเสียงร้องรับกันดังมาก เมื่อลงหากินที่พื้นดิน จะมีตัวหนึ่งเกาะระวังภัยอยู่บนที่สูง
     นกแก้วทำรังในโพรงไม้ วางไข่คราวละ ๑-๑๐ ฟอง ส่วนมากตัวเมียทำหน้าที่กกไข่ ใช้เวลาฟัก ๑๘-๓๐ วัน ลูกนกเกิดใหม่ไม่มีขน พ่อและแม่นกจะสำรอกอาหารในถุงพักอาหารให้ลูกกินทุกวัน มีอายุ ๓๐-๗๐ ปี
     นกแก้วเท่าที่พบทั่วโลกมีไม่น้อยกว่า ๓๔๐ ชนิด ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด คือ ชนิด Anodorhynchus hyacinthinus (Latham) ชื่อสามัญ Hyacinth Macaw วัดจากปลายปากถึงปลายหางยาว ๖๘-๙๘ เซนติเมตร หนัก ๑.๕-๒ กิโลกรัม ขนาดเล็กที่สุดคือ ชนิด Micropsitta pusio (Sclater) ชื่อสามัญ Pygmy Parrot วัดจากปลายปากถึงปลายหางยาวประมาณ ๑๐ เซนติเมตร หนักประมาณ ๑๓ กรัม สำหรับในประเทศไทยมีนกในวงศ์นี้ ๗ ชนิด แต่ที่เรียกว่า นกแก้ว มีเพียง ๒ ชนิด คือ
     ๑. นกแก้วโม่ง [Psittacula eupatria (Linn.)] ชื่อสามัญ Large Parakeet ขนาดประมาณ ๕๖ เซนติเมตร เป็นนกแก้วขนาดใหญ่ที่สุดของไทย ปากสีแดง ตาสีเหลือง หัว ลำตัวตอนบน และปีกสีเขียวอมเหลือง หัวปีกมีแต้มสีแดง มีแถบดำพาดจากมุมปากไปถึงกึ่งกลางคอ ลำตัวตอนล่างสีเหลือง หางยาวสีฟ้า โคนและปลายหางสีเหลือง ตัวผู้มีแถบบางสีแดงรอบคอ พบทางภาคเหนือ ภาค ตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันตก สามารถฝึกให้เลียนเสียงคนและเสียงอื่น ๆ ได้

 


     ๒. นกแก้วหัวแพร (Psittacula roseata Biswas) ชื่อสามัญ Blossom-headed Parakeet, Rose-headed Parakeet ขนาดประมาณ ๓๔ เซนติเมตร จะงอยปากบนสีเหลือง จะงอยปากล่างสีดำ หัวสีเทาอมชมพู ลำตัวตอนบนสีเขียวอมเหลือง ตอนล่างสีเหลือง มีแต้มแดงที่ด้านข้างปีก หางยาวสีฟ้า ตัวผู้หน้าสีชมพู มีแถบดำพาดจากมุมปากไปรอบคอ ส่วนตัวเมียหัวสีเทาไม่มีแถบดำรอบคอ พบทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตก และตอนบนของภาคใต้
     นกอีก ๕ ชนิดในวงศ์นี้ คนไทยเรียกชื่อแตกต่างกันไป ได้แก่ นกกะลิง (ดู กะลิง-นก)นกแขกเต้า นกหกใหญ่ นกหกเล็กปากแดง และนกหกเล็กปากดำ.

 

 

ชื่อหลัก
แก้ว-นก
ชื่อวงศ์
Psittacidae
ชื่อสามัญ
Parrot
ผู้เขียนคำอธิบาย
น.สพ.อลงกรณ์ มหรรณพ
คำสำคัญ
-
แหล่งอ้างอิง
อนุกรมวิธานสัตว์ อักษร ก กองวิทยาศาสตร์ อนุกรมสัตว์ ก.1.pdf