ลักษณะทั่วไป เป็นกิ้งก่าขนาดกลาง อยู่ในสกุลกิ้งก่าบ้าน โตเต็มวัยวัดจากปลายปากถึงปลายหางยาวประมาณ ๒๗ เซนติเมตร หางยาวกว่าตัว มี ๒ ชนิดย่อย คือ Calotes emma emma Gray และ C. e. altacristatus Schmidt ทั้ง ๒ ชนิดมีลักษณะและสีใกล้เคียงกันมาก ผู้ที่ศึกษาใกล้ชิดเท่านั้นจึงจะสามารถแยกชนิดได้
ปรกติกิ้งก่าแก้วสีน้ำตาลอมเหลือง มีลายสีน้ำตาลเข้มขวางเป็นระยะ ๆ ตามตัว แต่สามารถเปลี่ยนสีได้ดีมาก ขณะคึกคะนองสีจะเปลี่ยนเป็นเข้มขึ้น โดยบริเวณครึ่งตัวท่อนหัวจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดงสด บริเวณลายสีน้ำตาลจะเข้มขึ้นจนเกือบดำ เหนียงใต้คางสีดำเหลือบม่วงเป็นมันเงาวาวและมีปลายเกล็ดสีส้ม การเปลี่ยนสีนี้จะสามารถเปลี่ยนกลับไปกลับมาได้อย่างรวดเร็ว โดยตัวผู้จะเปลี่ยนสีได้เข้มกว่าตัวเมีย
กิ้งก่าแก้วออกหากินในเวลากลางวัน โดยเฉพาะในขณะที่มีแดดอ่อน มักเกาะหากินตาม พุ่มไม้ที่มีความสูง ๑-๕ เมตรจากระดับพื้นดิน เนื่องจากเป็นกิ้งก่าที่อยู่ในป่า เมื่อแรกพบเห็นมนุษย์จึงไม่ตื่นกลัว และไม่ตะลีตะลานหนี ทำให้ดูเสมือนว่าไม่ปราดเปรียวนัก
กิ้งก่าชนิดนี้พบทุกภาคของประเทศไทย พบชุกชุมตามไร่และป่า ทั้งป่าโปร่งและป่าทึบ ไม่พบในละแวกบ้านเรือน.