ลักษณะทั่วไป แมลงแกลบมีรูปร่างลักษณะโดยทั่วไปเช่นเดียวกับแมลงสาบ กล่าวคือ มีลำตัวแบน รูปไข่ ตัวซ่อนอยู่ใต้สันหลังอกปล้องแรก หนวดยาว ขายาว มีหนามคลุมเต็ม และปล้องที่โคนขาส่วนที่ติดกับอกมีขนาดใหญ่ ชนิดที่พบได้บ่อย ๆ มีดังนี้
๑. ชนิด Pycnocelis surinamensis (Linn.) ในวงศ์ Blaberidae ชื่อสามัญ Surinam Cockroach มีขนาดลำตัวยาวประมาณ ๑.๕ เซนติเมตร ส่วนกว้างสุดของลำตัวซึ่งอยู่บริเวณท้องกว้างประมาณ ๑ เซนติเมตร ความยาววัดจากหัวถึงปลายปีกประมาณ ๒ เซนติเมตร หัวสีดำ อกปล้องแรกสีดำ ขอบด้านหน้าและด้านข้างเกือบตลอดเป็นสีเหลืองแก่ ปีกสีน้ำตาล ขาสีน้ำตาลอ่อนมีหนามคลุม เฉพาะขาหลังมีสีน้ำตาลเข้มเกือบตลอดทั้งขา ตัวเมียมีปีกสั้นกว่าลำตัว เมื่อหุบปีกแล้วจะยังเห็นส่วนท้องโผล่ยื่นออกมาอีก ๒-๓ ปล้อง ส่วนตัวผู้ปีกยาวกว่าลำตัว ปีกจึงคลุมยื่นเลยส่วนท้องออกไป แมลงแกลบชนิดนี้อาศัยอยู่ตามกองแกลบที่หมักหมมจนผุพังเพราะความชื้นสูง หรือตามกองขี้เลื่อย กองขยะเน่าเปื่อยซึ่งมีเศษพืชหรือเศษอาหารต่าง ๆ ซึ่งแมลงเหล่านี้กินเป็นอาหาร มีเข้ามาอาศัยอยู่ในบ้านเรือนน้อยมาก นอกจากบ้านที่มีพื้นเป็นดิน
๒. ชนิด Blattella germanica (Linn.) ในวงศ์ Blattellidae ชื่อสามัญ German Cockroach ชาวบ้านเรียกแมลงชนิดนี้ว่า แมลงแกลบ เพราะมีรูปร่างและสีเหมือนแกลบ ขนาดวัดจากส่วนหัวถึงปลายปีกที่พับอยู่บนหลังยาวประมาณ ๑.๓ เซนติเมตร ลำตัวกว้างประมาณ ๕ มิลลิเมตร หนวด หัว อก ปีก และลำตัวสีน้ำตาลอมเหลืองอ่อน และมีที่สังเกตง่ายตรงที่มีแถบยาวสีน้ำตาลแก่ ๒ แถบ พาดขนานกันที่บริเวณสันหลังอกปล้องแรกจากด้านหน้าไปจดด้านหลัง ตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะคล้ายกัน แต่ตัวผู้มีลำตัวยาวเรียว และตัวเมียท้องโตกว่าตัวผู้ แมลงแกลบชนิดนี้อาศัยอยู่ตามกองขยะมูลฝอยใกล้บ้าน กองกระดาษ หนังสือ และวัสดุอื่น ๆ ภายในบ้าน ในครัว
๓. ชนิด Supella supellectilium (Serville) ในวงศ์ Blattellidae ชื่อสามัญ Brown-banded Cockroach ชนิดนี้มีขนาดและสีพื้นของลำตัวทั่วไปใกล้เคียงกับชนิด Blattella germanica (Linn.) ต่างกันตรงที่ชนิดหลังนี้หนวดสีน้ำตาลเข้ม ไม่มีแถบที่อก แต่มีรอยด่างสีน้ำตาลเข้มตั้งแต่อกไปถึงหัว โคนและกึ่งกลางปีกคู่หน้า ซึ่งจะเห็นได้ชัดในตัวผู้ รอยด่างนี้เองทำให้ได้ชื่อสามัญว่าBrown-banded Cockroach ตัวเมียมีลักษณะสีสันคล้ายตัวผู้แต่ลำตัวอ้วนป้อมและสั้นกว่า ปีกยาวจดส่วนท้องพอดีไม่เลยออกไปเหมือนตัวผู้ แมลงแกลบชนิดนี้มักคลุกคลีอยู่กับเศษกระดาษ จึงอาจพบได้ตามชั้นหนังสือ ใต้กระดาษปิดฝาผนัง หลังกรอบรูป ตู้เสื้อผ้า เครื่องเรือนต่าง ๆ
๔. แมลงแกลบผี มี ๒ ชนิด คือ ชนิด Hemithyroscera vittata (Bruner) ในวงศ์ Blattidae มีขนาดลำตัวไล่เลี่ยกับชนิด Blattella germanica (Linn.) แต่มีสีและลวดลายแตกต่างไปจากชนิดอื่น คือ หนวดและขาสีน้ำตาลไหม้หรือดำเกือบตลอด ยกเว้นตรงโคนขามีสีเหลืองเข้ม หลังอกปล้องแรกสีเกือบดำ มีขอบสีเหลืองเข้มหรือเหลืองอมส้มเกือบรอบ ปีกคู่หน้ามีขีดสีเหลืองเข้มทอดตามยาวจากขอบโคนปีกและขยายใหญ่ขึ้นจนเป็นแถบไปถึงประมาณกลางปีก กับอีกชนิดหนึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า H. palliata (Fabricius) ชนิดนี้มีหนวด อก และลำตัวสีเดียวกับชนิดแรก แต่ปีกมีสีน้ำตาลอ่อนหรือน้ำตาลเข้ม ไม่มีแถบสีเหลือง และขนาดลำตัวเล็กกว่าเล็กน้อย การที่เรียกว่า แมลงแกลบผี เข้าใจว่าเป็นเพราะมีสีแปลก พบแมลง ๒ ชนิดนี้ได้ตามอาคารบ้านเรือนทั่วไป
วัฏจักรชีวิตความเป็นอยู่ของแมลงแกลบคล้ายคลึงกับแมลงสาบทั่วไป จะแตกต่างกันไปบ้างแล้วแต่ชนิด ไข่มีลักษณะเป็นฝัก ซึ่งอาจติดอยู่ที่ปลายส่วนท้องของตัวแม่อยู่ชั่วระยะหนึ่ง โดยมากจะเป็นเวลา ๑-๒ วัน นอกจากชนิด Blattella germanica (Linn.) ที่อาจติดอยู่นานจนกระทั่งจวนจะฟักเป็นตัว ตัวแม่จะผนึกฝักไข่ติดไว้ในบริเวณที่อยู่อาศัย ไข่เหล่านี้จะฟักเป็นตัวอ่อนซึ่งมีรูปร่างลักษณะคล้ายพ่อแม่แต่ไม่มีปีก การเจริญเติบโตของตัวอ่อนใช้เวลา ๑-๒ เดือน ยกเว้นชนิด Pycnocelis surinamensis (Linn.) ใช้เวลานาน ๔-๖ เดือน ก่อนเป็นตัวเต็มวัยที่มีปีกโดยสมบูรณ์ จะลอกคราบ ๕-๑๐ ครั้งแล้วแต่ชนิด เมื่อเป็นตัวเต็มวัยแล้วมักมีชีวิตอยู่ได้นาน ๓-๔ เดือน สามารถผสมพันธุ์และวางไข่ได้หลายครั้ง
ในด้านการเกษตร แมลงแกลบไม่มีความสำคัญใด ๆ แม้จะมีรายงานว่า ชนิด Pycnocelis surinamensis (Linn.) กัดกินรากผักในประเทศอินโดนีเซีย แต่ในประเทศไทยไม่เคยปรากฏว่า ได้มีการทำลายให้เกิดความเสียหายแต่ประการใด ส่วนที่ชาวบ้านนิยมใช้แมลงแกลบเกี่ยวเบ็ดเป็นเหยื่อตกปลาก็ถือว่ามิได้มีความสำคัญมากนัก อย่างไรก็ตาม ในด้านการแพทย์นั้น ถือว่าแมลงแกลบ เหล่านี้มีความสำคัญ ได้พบเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส โพรโทซัว เชื้อรา และหนอนพยาธิหลายชนิดของคนในแมลงแกลบ ชนิด Blattella germanica (Linn.) และ Supella supellectilium (Serville) ซึ่งเข้ามาคลุกคลีอยู่ใกล้ชิดกับอาหารและที่อยู่อาศัยของคน แมลงเหล่านี้จึงเป็นพาหะนำเชื้อโรคไปปะปน ในอาหาร น้ำดื่ม ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะโรคทางเดินอาหารที่ถ่ายทอดได้ง่าย เช่น โรคบิด ท้องร่วง ไทฟอยด์ อาหารเป็นพิษ นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า เด็กชาวชนบทในบางท้องที่กินแมลงแกลบชนิด P. surinamensis (Linn.) สด ๆ ซึ่งมีพยาธิลำไส้ของคนอยู่ด้วย ทำให้มีโอกาสถ่ายทอดพยาธิลำไส้และโรคในลักษณะนี้ได้ง่ายเช่นกัน.