เก้งหม้อ

Muntiacus feae (Thomas et Doria)

ชื่อวิทยาศาสตร์
Muntiacus feae (Thomas et Doria) วงศ์ Cervidae
ชื่ออื่น ๆ
เก้งดำ, ฟานดำ, กวางจุก (ภาคใต้)
ชื่อสามัญ
Fea’s Barking Deer, Fea’s Muntjac, Fea’s Muntjak

ลักษณะทั่วไป เป็นกวางขนาดเล็ก ใหญ่กว่าเก้งเล็กน้อย ลำตัวยาว ๘๘-๑๑๐ เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ ๒๒ กิโลกรัม มีเขาแต่ไม่สวยงามเท่าเก้ง และเขี้ยวบนมักไม่โผล่ยื่นพ้นริมฝีปาก ด้านบนลำตัวสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ ด้านล่างสีน้ำตาลปนขาว ขนเป็นมัน หน้าสีน้ำตาลเข้ม กลางหัวมีขนสีเหลืองและขนสีดำตั้งตรงเป็นกระจุก หางสั้น ด้านบนสีดำ ด้านล่างสีขาว ต่อมน้ำตาและแอ่งน้ำตามีขนาดใหญ่ เก้งหม้อมีโครโมโซม ๘ คู่ สูตรฟัน ๐/๓ ๑/๑ ๓/๓ ๓/๓ * ๒ = ๓๔
     ปรกติเก้งหม้อมักอยู่ตามลำพังตามป่าทึบที่เป็นป่าดงดิบ ไม่อยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ แต่อาจอยู่รวมเป็นกลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มละ ๒-๓ ตัว และอยู่เป็นคู่ในฤดูผสมพันธุ์ ออกหากินในเวลาเช้าตรู่ พลบค่ำ และกลางคืน ถ่ายเป็นที่ ขี้มีลักษณะเป็นก้อนต่างจากเก้งซึ่งมีลักษณะเป็นเม็ด


     เก้งหม้อกินใบไม้ หน่ออ่อนของต้นไม้ ผลไม้สุกทุกชนิด และหญ้า เก้งหม้อมักใช้พู่ขนบนหัวถูต้นไม้พร้อมทั้งเอาจมูกถูตามไปด้วย เป็นการทำร่องรอยทิ้งไว้เพื่อแสดงถิ่นของมัน สำหรับตัวผู้จะใช้เขาและพู่ขนถูจนเป็นรอยบนต้นไม้เห็นได้ชัดเจน
     ตามธรรมชาติเก้งหม้อจะผสมพันธุ์กันในฤดูหนาว แต่ถ้าเลี้ยงในกรงจะสามารถผสมพันธุ์ได้ตลอดปี ตั้งท้องนาน ๒๓๘-๒๔๐ วัน ออกลูกคราวละ ๑ ตัว ลูกอ่อนขี้เป็นเม็ด
     เก้งหม้อเป็นสัตว์ที่หายากมาก พบเฉพาะแถบเทือกเขาตะนาวศรีและภาคใต้ของประเทศไทย เช่น จังหวัดระนอง และสุราษฎร์ธานี
     เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองของประเทศไทย.

 

 

ชื่อหลัก
เก้งหม้อ
ชื่อวิทยาศาสตร์
Muntiacus feae (Thomas et Doria)
ชื่อสกุล
Muntiacus
ชื่อชนิด
feae
ชื่อผู้ตั้งชื่อชนิดสัตว์
(Thomas et Doria)
ชื่อวงศ์
Cervidae
ชื่ออื่น ๆ
เก้งดำ, ฟานดำ, กวางจุก (ภาคใต้)
ชื่อสามัญ
Fea’s Barking Deer, Fea’s Muntjac, Fea’s Muntjak
ผู้เขียนคำอธิบาย
น.สพ.อลงกรณ์ มหรรณพ
คำสำคัญ
-
แหล่งอ้างอิง
อนุกรมวิธานสัตว์ อักษร ก กองวิทยาศาสตร์ อนุกรมสัตว์ ก.1.pdf