ก้ามกราม-กุ้ง

Macrobrachium rosenbergii De Man

ชื่อวิทยาศาสตร์
Macrobrachium rosenbergii De Man วงศ์ Palaemonidae
ชื่ออื่น ๆ
กุ้งใหญ่, กุ้งหลวง, กุ้งก้ามคราม, กุ้งนาง (เพศเมีย)
ชื่อสามัญ
Giant Freshwater Prawn, Giant Prawn

ลักษณะทั่วไป เป็นกุ้งน้ำจืดขนาดใหญ่ วัดจากโคนก้านตาถึงปลายหางยาว ๑๕-๒๕ เซนติเมตร ลำตัวมีสีครามอมเขียวทั้งเข้มและจางสลับกันเป็นลายพาดขวางตามลำตัว ขาคู่ที่ ๒ เป็นขาก้ามขนาดใหญ่ ซึ่งเห็นได้ชัดว่ามีสีน้ำเงินหรือฟ้าอมเหลือง ใช้ในการป้องกันตัว ฉีกทึ้งอาหาร และ กอดรัดตัวเมียในขณะผสมพันธุ์ ส่วนปลายของกรีเรียวงอน ด้านบนและด้านล่างมีแง่ยื่นแบบฟันเลื่อย ฟันกรีด้านล่างมี ๘-๑๔ ซี่ กุ้งตัวผู้มักมีขนาดใหญ่กว่าตัวเมียซึ่งเรียกกันว่า “กุ้งนาง”
     กุ้งก้ามกรามมีกระเพาะอยู่ตรงกลางทางด้านบนใต้เปลือกหัว ลำไส้ทอดตามสันหลังไปถึงหาง หัวใจอยู่ถัดจากตอนท้ายของบริเวณกระเพาะอาหารไปถึงตอนท้ายของเปลือกหัว และมีตับ (hepato-pancreas) ซึ่งทำหน้าที่สร้างน้ำย่อย เรียกว่า “มันกุ้ง” อยู่ทางส่วนหน้าบริเวณด้านข้างของเปลือกหัว ตับมีไขมันประกอบอยู่มากและเป็นส่วนที่นิยมรับประทานในหมู่คนไทย กุ้งก้ามกรามตัวเมียที่พร้อมจะผสมพันธุ์ได้จะมีรังไข่สุกในบริเวณตอนกลางของเปลือกหัว มีสีส้มหรือเหลืองสังเกตได้ง่าย ชาวบ้านเรียก “แก้วกุ้ง”


     กุ้งก้ามกรามหาอาหารด้วยการดมกลิ่นและสัมผัส อาหารมีทั้งสัตว์และพืช ส่วนมากเป็นพวก หนอนน้ำต่าง ๆ แมลงน้ำ ตัวอ่อนแมลง กุ้งฝอย หอย และปลาตัวเล็ก ๆ ตลอดจนรากพืช ซากพืชและซากสัตว์ ถ้าหิวจัดและไม่มีอาหารกุ้งก้ามกรามจะกินกันเอง ตามปรกติเป็นสัตว์หากินตลอดวัน และว่องไวมากในเวลากลางคืน
     กุ้งก้ามกรามมีการอพยพย้ายถิ่น เมื่อกุ้งโตเต็มที่พร้อมที่จะผสมพันธุ์ได้ก็จะอพยพย้ายถิ่นลงไปยังบริเวณปากแม่น้ำซึ่งมีน้ำกร่อย แล้วผสมพันธุ์และวางไข่ ไข่ที่ผสมแล้วจะฟักเป็นตัว เป็นกุ้ง วัยอ่อน และจะอาศัยอยู่ในบริเวณนั้นจนกระทั่งเจริญเติบโตเป็นกุ้งวัยรุ่นซึ่งคว่ำได้ (อายุประมาณ ๑ เดือน) จึงจะอพยพย้ายถิ่นกลับไปยังบริเวณแหล่งน้ำจืดอีกครั้งหนึ่ง ถ้ากุ้งก้ามกรามผสมพันธุ์และวางไข่ในน้ำจืด ลูกกุ้งวัยอ่อนจะตายหมดในระยะเวลาอันสั้น ดังนั้น น้ำกร่อยจึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อการ เจริญเติบโตของกุ้งก้ามกรามวัยอ่อน กุ้งก้ามกรามวางไข่คราวละ ๕,๐๐๐-๒๐๐,๐๐๐ ฟอง
     กุ้งก้ามกรามแพร่กระจายอยู่ทั่วไปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปรกติอาศัยในแม่น้ำลำคลอง หนอง บึง ที่มีทางน้ำติดต่อกับทะเล เป็นสัตว์น้ำที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ในปัจจุบันสามารถเพาะพันธุ์กุ้งก้ามกรามได้ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย และสามารถนำพันธุ์กุ้งนี้ไปเลี้ยงให้โตถึงขนาดที่ตลาดต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีผลดีทางเศรษฐกิจ.

 

 

ชื่อหลัก
ก้ามกราม-กุ้ง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Macrobrachium rosenbergii De Man
ชื่อสกุล
Macrobrachium
ชื่อชนิด
rosenbergii
ชื่อผู้ตั้งชื่อชนิดสัตว์
De Man
ชื่อวงศ์
Palaemonidae
ชื่ออื่น ๆ
กุ้งใหญ่, กุ้งหลวง, กุ้งก้ามคราม, กุ้งนาง (เพศเมีย)
ชื่อสามัญ
Giant Freshwater Prawn, Giant Prawn
ผู้เขียนคำอธิบาย
ศ. ดร.เปี่ยมศักดิ์ เมนะเศวต
คำสำคัญ
-
แหล่งอ้างอิง
อนุกรมวิธานสัตว์ อักษร ก กองวิทยาศาสตร์ อนุกรมสัตว์ ก.1.pdf