ก้นปล่อง-ยุง

ชื่อสามัญ
Anophelines

ลักษณะทั่วไป เป็นแมลงจำพวกยุงกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีรูปร่างลักษณะเหมือนยุงโดยทั่วไป กล่าวคือเป็นแมลงขนาดเล็ก รูปร่างบอบบาง ลำตัวยาว หัวเล็กสั้น อกโตกว่าท้อง ท้องยาวกว่าอกประมาณ ๒ เท่า ตาโต หนวด ๑ คู่ยาวมีขนปกคลุม ขนตัวเมียสั้นและบาง แต่ขนตัวผู้ยาวและหนาแน่น ปากยาวคล้ายเข็ม แยกออกเป็นเส้น ๆ และรวมตัวเป็นส่วนเดียวกันได้ ภายในกลวงเป็นท่อเจาะดูดอาหารกิน ยุงก้นปล่องมีปีก ๑ คู่ รูปร่างของปีกค่อนไปทางยาวรี มีเกล็ดเล็ก ๆ ติดตามขอบปีกและเส้นปีกตลอดไปตามหัว อก และท้อง สามารถสังเกตเห็นยุงก้นปล่องต่างจากยุงอื่น ๆ ได้จากการเกาะบนพื้นจะยกก้นขึ้นสูง หัวต่ำลงเป็นเส้นตรงตั้งแต่ก้นจนเกือบถึงปลายปาก ทำให้ลำตัวทำมุมกับพื้นประมาณ ๔๕ องศาหรือมากกว่า ดูคล้ายปล่องที่ตั้งขึ้น จึงเรียกกันว่า ยุงก้นปล่อง ซึ่งผิดกับยุงธรรมดา ยุงลาย หรือยุงอื่น ๆ ที่เมื่อเกาะกับพื้นจะมีลำตัวขนานกับพื้นและหัวงุ้มลง ยุงก้นปล่องทุกชนิดจัดอยู่ในสกุล Anopheles มีลักษณะการเกาะทำมุมดังกล่าวข้างต้น ยกเว้นเพียงชนิดเดียวที่มีรายงานว่าเวลาเกาะเหมือนยุงธรรมดาคือ ชนิด An. culicifacies Giles ซึ่งพบทางภาคเหนือของประเทศไทยโดยเฉพาะที่จังหวัดเชียงใหม่


     นอกจากยุงก้นปล่องจะมีลักษณะการเกาะที่ไม่เหมือนยุงอื่น ๆ ดังกล่าวแล้ว ยังมีลักษณะที่สังเกตได้ง่ายถ้าส่องดูด้วยกล้องขยาย คือ ด้านล่างของท้องไม่มีเกล็ด ผิดกับยุงอื่นซึ่งตรงส่วนนี้มักมีเกล็ดหนาแน่น สำหรับยุงก้นปล่องตัวเมียมีลักษณะเด่นชัดที่ผิดกับยุงอื่น ๆ คือ รยางค์รับความรู้สึกของปากที่เรียกกันว่า พาลพัส (palpus) ที่เป็นคู่นั้นยื่นยาวออกมาเกือบเท่ากับความยาวของปากเช่นเดียวกับตัวผู้ ทำให้มองเหมือนกับว่ามีปากดูด ๓ อัน หรือปากแยกเป็น ๓ แฉก ซึ่งยุงอื่น ๆ ตัวเมียจะมีรยางค์รับความรู้สึกของปากส่วนนี้สั้นเพียง ๑/๖ - ๒/๓ ของปากเท่านั้น
     ยุงก้นปล่องมีวัฏจักรชีวิตคล้ายคลึงกับยุงอื่น ๆ กล่าวคือ ต้องอาศัยแหล่งน้ำเป็นที่เพาะพันธุ์และแพร่พันธุ์ ตัวเมียวางไข่โดยลอยตัวตามผิวน้ำแล้ววางไข่ หรืออาจบินเรี่ยผิวน้ำแล้วปล่อยไข่ลงบนผิวน้ำ ในชั่วอายุหนึ่งอาจวางไข่ ๒-๓ ครั้ง การวางไข่แต่ละครั้งอาจมีจำนวน ๑๐๐-๒๐๐ ฟอง ไข่ของยุงก้นปล่องมีลักษณะแปลกกว่ายุงอื่น ๆ ตรงที่มีส่วนที่เป็นฟองอากาศซึ่งยุงชนิดอื่นไม่มี ทำหน้าที่เป็นทุ่นพยุงให้ไข่ลอย ทุ่นนี้อาจมีข้างเดียว ๒ ข้าง หรือเป็นวงรอบไข่ หรือหุ้มรอบเปลือกไข่ ทั้งหมดก็มี ทั้งนี้แล้วแต่ชนิดของยุงก้นปล่อง ไข่เหล่านี้มีลักษณะแยกกันเป็นฟองเดี่ยว ๆ ไม่เกาะกันเป็นแพเหมือนยุงธรรมดา แหล่งน้ำที่ยุงก้นปล่องวางไข่อาจแตกต่างกันไปแล้วแต่ชนิดของยุง บางชนิดอยู่น้ำตื้น ๆ ในที่โล่ง มีแสงแดดส่องถึง บางชนิดอยู่ตามแหล่งน้ำไหล หรือบริเวณที่มีกิ่งไม้ ก้อนหิน หรือไม้น้ำซึ่งเป็นแหล่งที่มีน้ำนิ่งในบางตอน แต่บางชนิดกลับอยู่ในน้ำที่ขังอยู่ในโพรงไม้หรือตามใบพืชที่ร่มเย็นมีแสงแดดส่องถึงน้อยมาก ไข่ฟักออกมาเป็นตัวลูกน้ำภายใน ๒-๓ วัน ลูกน้ำยุงก้นปล่องแตกต่างจากยุงอื่น ๆ ที่สังเกตได้คือมีท่อหายใจสั้นซึ่งติดอยู่ที่ปลายหาง ฉะนั้น เมื่อขึ้นสู่ผิวน้ำเพื่อหายใจจึงวางตัวขนานไปกับผิวน้ำ ผิดกับลูกน้ำชนิดอื่นที่วางตัวห้อยหัวลงทำมุมกับผิวน้ำ ลูกน้ำยุงก้นปล่องกินพืชหรือสัตว์เล็ก ๆ เป็นอาหาร ใช้เวลาเจริญเติบโตประมาณ ๒ สัปดาห์ก็จะเปลี่ยนเป็นดักแด้ เป็นตัวอ้ายโม่งซึ่งเคลื่อนไหวได้แบบเดียวกับลูกน้ำ และภายในเวลา ๓-๔ วันต่อมาก็จะกลายเป็นตัวยุงบินไปหาอาหาร ตัวเมียจะดูดกินเลือดคนและสัตว์ ส่วนตัวผู้อาศัยน้ำหรือน้ำหวานจากพืช โดยทั่วไปยุงก้นปล่องจะผสมพันธุ์หลังจากลอกคราบอ้ายโม่งออกไปไม่นาน ส่วนใหญ่ตัวผู้จะบินเป็นกลุ่มในบริเวณใกล้ ๆ กับที่ตัวเมียกำลังลอกคราบเพื่อรอให้ตัวเมียบินเข้าไปหา ซึ่งบางชนิดอาจใช้บริเวณกว้างเพื่อผสมพันธุ์ แต่ก็มีหลายชนิดสามารถผสมพันธุ์กันได้แม้จะเป็นบริเวณแคบ ๆ เมื่อไม่อยู่ในระยะผสมพันธุ์ยุงก้นปล่องจะบินน้อย มักเกาะหลบซ่อนตัวตามใบไม้ กอไม้ หรือไม้น้ำ บริเวณที่มีความชื้นสูง เวลาเคลื่อนย้ายก็มักเดินไป

 


     ในประเทศไทยมียุงก้นปล่องเท่าที่ได้วิเคราะห์กันไว้แล้วไม่ต่ำกว่า ๖๐ ชนิด ซึ่งนับเป็นจำนวนไม่น้อยเมื่อเทียบกับจำนวนที่มีอยู่ทั่วโลก ๓๐๐-๔๐๐ ชนิด แต่ละชนิดอาจมีถิ่นที่อยู่อาศัยแตกต่างกันไปตามสภาพนิเวศวิทยาที่ต้องอาศัยการวางไข่และการแพร่พันธุ์ที่ไม่เหมือนกัน ดังได้กล่าวไว้แล้ว ข้างต้น
     ยุงก้นปล่องมีความสำคัญมาก ทั้งนี้เพราะมีหลายชนิดด้วยกันที่เป็นพาหะในการนำโรคที่สำคัญมาสู่คน อันได้แก่ ไข้จับสั่น (malaria) และโรคเท้าช้าง (elephantiasis) สำหรับไข้จับสั่นนั้นนำโดยยุงก้นปล่องทั้งสิ้น และในประเทศไทยมีไม่ต่ำกว่า ๒๘ ชนิดที่สามารถนำเชื้อโรคได้ แต่ชนิดที่จัดว่าสำคัญนั้นได้แก่ ชนิด Anopheles dirus Teyton et Harrison, An. minimus Theobald และ An. maculatus Theobald ซึ่งมีแหล่งอาศัยและแพร่พันธุ์ตามบริเวณป่าทึบและป่าโปร่งตีนดอย ชนิด An. sundaicus (Rodenwaldt) ซึ่งมีแหล่งอาศัยอยู่ตามบริเวณน้ำกร่อยตามชายฝั่งทะเล และชนิด An. aconitus Donitz ซึ่งอาศัยอยู่ตามที่ลุ่มบริเวณนาข้าว ส่วนเชื้อไข้จับสั่นเกิดจากโพรโทซัว ๔ ชนิด คือ Plasmodium falciparum, P. vivax, P. malariae และ P. ovale ซึ่งทั้ง ๔ ชนิดนี้มีชนิดแรกและชนิดที่ ๒ ที่สำคัญ ส่วนอีก ๒ ชนิดหลังนั้นพบน้อยมาก การถ่ายทอดเชื้อมาสู่คนนั้นเกิดจากยุงที่มีเชื้อกัด ซึ่งมิได้จำกัดเฉพาะแต่การเข้ากัดในบ้าน ดังเช่นยุงก้นปล่องชนิด An. dirus Teyton et Harrison และ An. minimus Theobald ซึ่งมักอาศัยอยู่นอกบ้านและกัดคนนอกบ้าน อย่างไรก็ตาม ไข้จับสั่นจะระบาดตามชุมชนได้ก็ต่อเมื่อในบริเวณนั้นมีผู้ป่วยเป็นไข้จับสั่นเรื้อรัง มียุงที่สามารถเป็นพาหะในการนำเชื้ออยู่เป็นจำนวนมาก และมีสภาวะแวดล้อมอันได้แก่แหล่งน้ำที่ใช้เพาะพันธุ์ แพร่พันธุ์ อุณหภูมิ และความชื้นที่เหมาะสมด้วย
     สำหรับเชื้อโรคเท้าช้างอาจนำโดยยุงธรรมดาและยุงอื่น ๆ หลายพวกด้วยกัน ส่วนยุงก้นปล่อง ที่สงสัยว่าสามารถนำเชื้อโรคเท้าช้างมาสู่คนได้นั้นในประเทศไทยมีไม่ต่ำกว่า ๑๘ ชนิด ในจำนวนนี้ที่สำคัญ เช่น Anopheles albotaeniatus Theobald, An. barbirostris van der Walp, An. maculatus Theobald, An. minimus Theobald, An. nigerrhimus Giles และ An. umbrosus (Theobald) แต่ยังไม่ได้มีการพิสูจน์ให้เห็นเด่นชัด.

 

 

 

 

ชื่อหลัก
ก้นปล่อง-ยุง
ชื่อสกุล
Anopheles
ชื่อวงศ์
Culicidae
ชื่อสามัญ
Anophelines
ผู้เขียนคำอธิบาย
ศ.ดร.สุธรรม อารีกุล
คำสำคัญ
-
แหล่งอ้างอิง
อนุกรมวิธานสัตว์ อักษร ก กองวิทยาศาสตร์ อนุกรมสัตว์ ก.1.pdf