ก้นขบ-งู

Cylindrophis ruffus (Laurenti)

ชื่อวิทยาศาสตร์
Cylindrophis ruffus (Laurenti) วงศ์ Aniliidae หรือ Uropeltidae
ชื่ออื่น ๆ
งูก้นแดง, งูก้นงอน
ชื่อสามัญ
Red-tailed Pipe Snake

ลักษณะทั่วไป เป็นงูบกขนาดเล็ก เส้นผ่านศูนย์กลางลำตัวประมาณ ๒.๕ เซนติเมตร ยาว ประมาณ ๕๐ เซนติเมตร ลำตัวด้านบนสีดำเป็นเงามัน ด้านล่างมีลายเป็นแถบสีดำสลับขาว หางไม่เรียวยาวเหมือนงูชนิดอื่น ปลายหางโตไล่เลี่ยกับหัว ด้านล่างบริเวณใกล้ทวารร่วมสีแดงส้ม
     งูก้นขบอาศัยในที่ชื้น กลางวันจะขดตัวนอนตามที่ร่มเย็นและมีความชื้นสูง เช่น แหล่งไม้ผุ โพรงดิน ซอกหิน ใต้กองไม้หรือโอ่งน้ำ ออกหากินในเวลาพลบค่ำโดยเลื้อยช้า ๆ ไปตามพื้นดิน ไม่ว่องไวปราดเปรียวและไม่ขึ้นต้นไม้ กินสัตว์ต่าง ๆ เช่น หนู งู ปลา ปลาไหล เขียด จิ้งเหลน ไส้เดือน
     งูก้นขบออกลูกเป็นตัว คราวละ ๘-๑๕ ตัว ลูกมีลักษณะ สี และลวดลายเหมือนตัวเต็มวัย


     งูชนิดนี้มีทุกภาคของประเทศไทย พบทุกสภาพในทำเลธรรมชาติ เช่น ป่าทึบ ป่าโปร่ง ไร่ สวน ในบริเวณบ้านที่ยังมีลักษณะเป็นธรรมชาติ
     มักเข้าใจผิดกันว่า งูก้นขบมีพิษ เพราะเมื่องูชนิดนี้ตกใจจะหยุดเลื้อย ซุกหัวเข้าใต้ตัวหรือสิ่งอื่นที่อยู่ใกล้ตัว แล้วแผ่หางแบนม้วนชูขึ้น เห็นปลายหางสีแดงส้มมองดูเผิน ๆ ละม้ายหางตัวต่อ นอกจากนั้นยังปล่อยขี้และเยี่ยวสีขาวขุ่นออกมา ทำให้เข้าใจผิดว่าพ่นพิษออกมาด้วย จนกล่าวกันว่า เดือนข้างขึ้นหัวกัดตาย เดือนข้างแรมหางต่อยตาย แท้จริงแล้วงูชนิดนี้ไม่มีพิษและไม่มีอันตรายต่อมนุษย์.

 

 

 

ชื่อหลัก
ก้นขบ-งู
ชื่อวิทยาศาสตร์
Cylindrophis ruffus (Laurenti)
ชื่อสกุล
Cylindrophis
ชื่อชนิด
ruffus
ชื่อผู้ตั้งชื่อชนิดสัตว์
(Laurenti)
ชื่อวงศ์
Aniliidae หรือ Uropeltidae
ชื่ออื่น ๆ
งูก้นแดง, งูก้นงอน
ชื่อสามัญ
Red-tailed Pipe Snake
ผู้เขียนคำอธิบาย
น.อ.วิโรจน์ นุตพันธุ์
คำสำคัญ
-
แหล่งอ้างอิง
อนุกรมวิธานสัตว์ อักษร ก กองวิทยาศาสตร์ อนุกรมสัตว์ ก.1.pdf