ลักษณะทั่วไป เป็นวัวป่าขนาดใหญ่ รูปร่างสูงโปร่ง วัดจากปลายจมูกถึงก้นยาว ๒.๑-๒.๓ เมตร ความสูงวัดที่ระดับไหล่ ๑.๗-๑.๙ เมตร น้ำหนัก ๗๐๐-๙๐๐ กิโลกรัม เป็นวัวที่อยู่ในสกุลเดียวกับกระทิงและวัวแดง
กูปรีมีลักษณะผิดแปลกไปจากวัวป่าชนิดอื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัด คือมีหนอกสูงและยาวตั้งแต่ต้นคอไปจนถึงเกือบกลางหลัง ตัวผู้มีเหนียงใหญ่ห้อยยานลงถึงข้อเข่าหน้า ทำให้ดูเหมือนมีคอบริเวณติดหัวคอดกิ่ว เขากูปรีผิดจากเขาวัวชนิดอื่นมาก ตัวผู้มีเขาใหญ่กางออกทางด้านข้าง โคนเขาแบนมีพาลีประมาณ ๑ ใน ๕ ของความยาวของเขา เขาที่กางจะเริ่มม้วนงอตวัดมาทางด้านหน้าที่ประมาณ ๓ ใน ๔ ของความยาวของเขา แล้วชี้ปลายเขาที่เรียวแหลมขึ้นบน เมื่อโตเต็มวัยและ ถึงวัยผสมพันธุ์ตัวผู้จะใช้เขาขวิดดินทำแอ่งนอนพักอยู่กับตัวเมียที่ติดพันอยู่ ทำให้ปลายเขาแตกฉีก ออกเป็นเส้น ๆ ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้เรียกว่า “วัวเขาพะเนียง” ส่วนเขาของตัวเมียมีขนาดเล็กกว่าเขาตัวผู้และไม่กางออกทางด้านข้าง แต่จะม้วนบิดขึ้นด้านบน ส่วนปลายเขาชี้ขึ้นและบิดผายออกทางข้างเล็กน้อย กูปรีมีหางยาว ๑.๐-๑.๑ เมตร ปลายเป็นพู่ ใช้กวัดแกว่งไล่แมลงที่มาไต่ตอม มีสูตรฟัน ๐/๓ ๐/๑ ๓/๓ ๓/๓ * ๒ = ๓๒
ลูกกูปรีมีสีน้ำตาล จะเปลี่ยนสีเมื่ออายุประมาณ ๕ เดือน ตัวผู้จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเทา และเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มถึงดำเมื่อเต็มวัย ส่วนตัวเมียเมื่อโตเต็มวัยจะมีสีน้ำตาลเทาหรือน้ำตาลเข้ม ทั้งตัวผู้และตัวเมียไม่ปรากฏลายตามตัว แต่จะมีสีขาวรอบจมูกและขอบใบหู ขาทั้งสี่ตั้งแต่โคนกีบขึ้นไปจนถึงประมาณข้อเข่ามีสีขาว ซึ่งมีผู้นิยมเรียกลักษณะเช่นนี้ของวัวป่าว่า “มีถุงเท้าขาว”
วัวป่าที่พบในประเทศไทยคือ กระทิงและวัวแดง มีนิสัยว่องไวปราดเปรียว โดยเฉพาะกูปรีเป็นวัวป่าที่ปราดเปรียวมาก อยู่รวมกันเป็นฝูง ๔-๒๐ ตัว เมื่อตกใจจะพากันวิ่งเป็นฝูงอย่างคล่องแคล่ว รวดเร็ว ในฝูงจะมีตัวเมียที่มีอายุมากคอยสังเกตระวังภัย มีตัวผู้ใหญ่อยู่ใกล้ ๆ ฝูง ส่วนตัวผู้หนุ่มมักแยกตัวไปอยู่ต่างหากเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ๒-๔ ตัว คาดว่าจะกลับเข้าฝูงในบางขณะที่ต้องการผสมพันธุ์
กูปรีอาศัยพักนอนตามป่าทึบที่ใกล้ป่าโปร่ง ออกหากินตามป่าโปร่ง ป่าเต็งรังที่มีทุ่งหญ้า กินใบพืชต่าง ๆ และเลียกินดินโป่ง เคยพบหากินอยู่บริเวณเดียวกับควายป่า กระทิง วัวแดง กวางและละองละมั่ง
พบกูปรีในประเทศกัมพูชา ลาว เวียดนาม และไทย ในประเทศไทยพบที่เขตใกล้เทือกเขาพนมดงรัก แถบจังหวัดศรีสะเกษและอุบลราชธานี
กูปรีเป็นสัตว์ป่าหายากและมีแนวโน้มว่าอาจสูญพันธุ์ได้ ไม่มีผู้พบเห็นกูปรีไม่ว่าในถิ่นธรรมชาติหรือในที่เลี้ยงมานานนับสิบปีแล้ว แม้จะมีรายงานการประชุมเรื่องกูปรีเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๓๑ ที่กรุงฮานอยประเทศเวียดนาม ซึ่งกล่าวว่าเข้าใจว่าจะมีกูปรีเหลืออยู่บ้าง แต่ก็ยังไม่มีเอกสารที่ยืนยันได้แน่ชัด โดยเฉพาะในประเทศไทยคาดว่ากูปรีคงจะสูญไปจากถิ่นอาศัยแล้ว
พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๐๓ และฉบับปรับปรุงแก้ไข พ.ศ. ๒๕๓๕ กำหนดให้กูปรีเป็นสัตว์ป่าสงวน และอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศของชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ (CITES) ได้กำหนดกูปรีไว้ในบัญชีหมายเลข ๑ คือ ห้ามล่าและค้า.