ลักษณะทั่วไป เป็นสัตว์ที่มีลำตัวและอวัยวะหลายอย่างคล้ายกุ้ง มีขนาดเล็ก ลำตัวยาว ๐.๕-๑๕ มิลลิเมตร โดยทั่วไปลำตัวยาวเมื่อเทียบกับความกว้าง มีลักษณะแบนข้าง แบ่งเป็นปล้อง อกปล้องแรกรวมเป็นส่วนเดียวกับหัว อกที่เหลือแบ่งเป็น ๗ ปล้อง ท้องแบ่งเป็น ๖ ปล้อง เห็นได้ชัดเจน หัวเล็กสั้น ต่างกับกุ้งคือไม่มีเปลือกหัว และตาไม่มีก้านยื่นออกมา มีหนวด ๒ คู่ คู่แรกสั้นกว่าคู่ที่ ๒ มีขนเล็ก ๆ คลุมตลอดหนวด ปากเจริญดี มีฟัน ๒ คู่ ขากรรไกร ๑ คู่ และรยางค์ของฟัน ๑ คู่ รยางค์ที่เกิดทางด้านล่างของลำตัวมีลักษณะเป็นปล้อง รูปร่างคล้ายขาแมลง รยางค์ ๒ คู่แรกที่เกิดจากอกใกล้ชิดกับหัวที่เรียกว่า gnathopods มักใหญ่กว่าคู่อื่น ๆ และบางชนิดมีรูปร่าง คล้ายคีม รยางค์ ๒ คู่นี้ใช้จับและฉีกเหยื่อก่อนยื่นใส่ปากกิน รยางค์ที่ติดกับอกที่อยู่ถัดมาอีก ๕ คู่หรือที่เรียกว่า periopods นั้นมักยาว ทำหน้าที่เป็นเหงือกสำหรับหายใจ บางชนิดมีขนปกคลุมช่วยยึดฟองอากาศทำให้หายใจได้มากขึ้นในแหล่งที่มีออกซิเจนน้อยและช่วยในการจับเหยื่อ สำหรับรยางค์ที่เหลืออีก ๖ คู่ซึ่งติดอยู่ที่ส่วนท้องนั้นใช้ในการเคลื่อนไหว โดย ๓ คู่แรกพัฒนาเป็นขาสำหรับว่ายน้ำ เดิน หรือขุดคุ้ยพื้นดินที่อยู่อาศัยฝังตัวลงไปได้ ส่วนอีก ๓ คู่หลังมีลักษณะสั้นแต่แข็งแรง ใช้ดีดตัวให้ลอยขึ้นสูง ๆ ได้ บางชนิดดีดตัวได้สูงถึงครึ่งเมตร กุ้งเต้นมีหลายชนิด และถูกจัดให้อยู่ในวงศ์ต่างกัน ที่สำคัญคือวงศ์ Talitridae, Hyalidae และ Acanthogammaridae อันดับ Amphipoda และอยู่ในชั้นเดียวกับกุ้ง คือชั้นย่อย Malacostraceae และชั้น Crustaceae
กุ้งเต้นชนิดที่พบบ่อย ๆ อาศัยอยู่ตามหาดทรายชายทะเลบริเวณอ่าวไทย เช่นแถบชะอำ หัวหิน นั้นได้แก่ชนิด Orchestia floresiana Weber ในวงศ์ Talitridae กุ้งเต้นชนิดนี้ตัวผู้และตัวเมียมีขนาดและลักษณะต่างกัน ตัวผู้มีลำตัวยาวประมาณ ๗ มิลลิเมตร ลำตัวค่อนข้างแบนทางข้าง สีขาวนวลหรือชมพูอ่อนอมเขียวเล็กน้อย หนวดคู่ที่ ๑ สั้น ยาวไม่ถึงครึ่งหนึ่งของหนวดคู่ที่ ๒ หนวดคู่นี้มีขนคล้ายหนามเล็ก ๆ ๒-๓ อัน บริเวณปล้องโคนและปลายของแต่ละปล้อง หนวดคู่ที่ ๒ มีปล้องที่โคนป้อมและสั้น ปล้องที่ ๒ และ ๓ ยาวขึ้นตามลำดับ มีขนคล้ายหนามเล็ก ๆ ประปรายไปตามความยาว หนวดส่วนที่เหลือซึ่งยาวกว่าครึ่งหนึ่งของหนวดทั้งเส้นเล็กน้อยแบ่ง เป็นปล้องเล็ก ๆ จำนวน ๑๕ ปล้องต่อกันยาวคล้ายเส้นด้าย แต่ละปล้องมีขนใกล้ ๆ บริเวณข้อต่อตลอด รยางค์อก ๒ คู่แรกใช้จับเหยื่อกิน คู่แรกมี ๖ ปล้อง แต่ละปล้องมีขนประปราย ปล้องโคนโตใหญ่ ปล้องปลายมีลักษณะเป็นอุ้ง ปลายมีรูปร่างคล้ายตะขอสำหรับฉกและจับเหยื่อ คู่ที่ ๒ มี ๕ ปล้อง มีขนาดโตกว่าคู่อื่น ๆ แต่ละปล้องมีลักษณะป้อมใหญ่แข็งแรง ปล้องปลายขยายใหญ่เป็น ก้ามและมีปลายเป็นเล็บหรือตะขอสำหรับหนีบหรือจับเหยื่อ รยางค์คู่นี้ไม่มีขนตามปล้องต่าง ๆ แต่มีหนามเล็ก ๆ ที่ก้าม รยางค์อกส่วนที่เหลืออีก ๕ คู่ใช้เป็นขาเดิน ขุดคุ้ย หรือมีส่วนช่วยในการยึดเหยื่อ มีรูปร่างคล้ายคลึงกัน คือยาวเรียวไปทางปลายขา ๓ คู่แรกมีขนาดไล่เลี่ยกัน ปล้องที่ติดกับลำตัวโตกว่าปล้องอื่น ๆ ปล้องถัดไปของ ๒ คู่แรกเล็ก แต่ของคู่ที่ ๓ โต ส่วนคู่ที่ ๔ และ ๕ ยาวกว่า สำหรับ ๓ คู่แรกและคู่ที่ ๕ ยาวที่สุด คู่ที่ ๔ และ ๕ นี้มีปล้องที่ ๒ ที่โคนขาโตอ้วนใหญ่กว่าปล้องอื่น ๆ ด้านหน้ามีหนามตามขอบและขอบหลังมีซี่คล้ายฟันเลื่อย ทุกขามีขนเล็ก ๆ ตามข้อต่าง ๆ ในระยะห่าง ๆ ตลอดความยาวของขา รยางค์ท้อง ๓ คู่แรกไม่มี ส่วน ๓ คู่หลังเป็นแท่งสำหรับดีดตัว โดยเฉพาะปล้องท้องปล้องสุดท้ายมีรูปร่างเป็นแท่งมี ๒ ปล้อง ปล้องฐานโตกว่าปล้องปลายมาก มีขนสั้น ๆ ประดับที่ปลายแห่งละ ๕-๖ เส้น รยางค์ท้องปล้องที่ ๔ และ ๕ มีรูปร่างคล้ายกัน แต่ของปล้องที่ ๔ โตและยาวกว่า ปล้องโคนเป็นแท่งคล้ายสามเหลี่ยมโค้งและเว้าเล็กน้อย ปล้องปลายเป็นสองง่ามลึกลงมาประมาณครึ่งหนึ่งของความยาวทั้งหมด มีขนประปรายตามขอบและที่ปลายหางซึ่งมีลักษณะเป็นปมคล้ายตุ่มเล็ก ๆ ยื่นออกมา
ตัวเมียเล็กกว่าตัวผู้ ยาวประมาณ ๖ มิลลิเมตร ลักษณะต่างจากตัวผู้ที่มีรยางค์อกคู่แรกและ คู่ที่ ๒ เหมือนกัน กล่าวคือปล้องปลายใหญ่มีรูปร่างคล้ายคู่ที่ ๒ ของตัวผู้ แต่แตกต่างที่ปล้องถัดมาของรยางค์คู่แรกค่อนข้างยาว ไม่สั้นป้อมเหมือนตัวผู้ นอกจากนี้รยางค์ท้อง ๓ คู่แรกเจริญดี มีขนาด ไล่เลี่ยกัน มีปลาย ๒ แฉก และความยาวของแฉกสั้นกว่าครึ่งหนึ่งของความยาวทั้งหมด
อาหารของกุ้งเต้นมีทั้งพืชและสัตว์ที่มีขนาดเล็กกว่า หรือพืชและสัตว์ที่ตายเน่าเปื่อยแล้ว การผสมพันธุ์บางชนิดตัวผู้อาจผสมพันธุ์ทันทีขณะตัวเมียลอกคราบครั้งสุดท้าย โดยทั่วไปตัวผู้เล็กกว่าตัวเมีย ตัวเมียจะวางไข่ไม่นานหลังจากผสมพันธุ์ ตัวอ่อนที่ฟักออกจากไข่จะมีรูปร่างลักษณะต่าง ๆ ค่อนข้างครบคล้ายตัวเต็มวัย การเจริญเติบโตโดยทั่วไปจะใช้เวลาไม่เกิน ๑ สัปดาห์ก็เป็นตัวเต็มวัย กุ้งเต้นสามารถปรับตัวให้ขยายพันธุ์ได้มากขึ้น โดยเพิ่มจำนวนไข่ จำนวนแม่พันธุ์ และความเร็วของการขยายพันธุ์ได้ดีในสภาพที่เหมาะสม จึงมักพบกุ้งเต้นเป็นจำนวนมาก ๆ ในแหล่งที่มีสภาพดังกล่าว
กุ้งเต้นอาศัยอยู่ตามฝั่งน้ำ บริเวณกองปุ๋ยหมักที่ซับน้ำ ใต้ก้อนหิน ท่อนไม้ ใบไม้ที่ทับถมกันซึ่งมีความชื้นสูง เมื่อถูกรบกวนจะดีดตัวขึ้นสูงหลาย ๆ ครั้ง จนกว่าจะขุดดินหรือวัตถุที่หมักหมมอาศัยอยู่ซ่อนตัวเข้าไปใหม่ได้ โดยทั่วไปกุ้งเต้นต้องอาศัยแหล่งชุ่มชื้นเป็นที่อยู่อาศัย มีน้อยชนิดที่อาศัยอยู่บนบกในแหล่งที่ขาดความชุ่มชื้น อย่างไรก็ตาม กุ้งเต้นได้พัฒนาร่างกายให้สามารถใช้แหล่งชุ่มชื้นให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองมากที่สุด เช่น ฝังตัวเอง อาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำใต้ดิน หรือสร้างสิ่งป้องกันรอบตัว เช่น ที่อาศัยที่มีรูปร่างคล้ายหลอดหรือเปลือกหอยแล้วเข้าไปอยู่ภายใน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะป้องกันการระเหยหรือสูญเสียน้ำและความชุ่มชื้นได้เป็นอย่างดี.