ลักษณะทั่วไป เป็นปลาขนาดเล็กในวงศ์ Clupeidae ลักษณะที่ยกมาเป็นรูปพรรณที่สำคัญที่สุดคือ มีก้านครีบต่าง ๆ เป็นก้านครีบอ่อนทั้งสิ้น และมีส่วนท้ายของกระดูกขากรรไกรยาวไม่ถึงแนวทางด้านท้ายของตา ทุกชนิดที่พบในน่านน้ำไทยเป็นปลาทะเล อยู่เป็นฝูงบริเวณผิวน้ำในเขตใกล้หรือ ห่างฝั่ง บ่อยครั้งพบในเขตน้ำขึ้นลงหรือแม้น้ำกร่อย รวมทั้งบริเวณตอนในของปากแม่น้ำ ทะเลสาบ หรือลำคลอง โดยเฉพาะขณะเมื่อยังเป็นลูกปลา ปลากุแลมีรูปร่างยาวเป็นกระสวย และเกือบทุกชนิด แบนข้างมากจากหัวตลอดไปจนถึงคอดหางซึ่งมีความกว้างพอ ๆ กับความยาว โดยลำตัวมีส่วนที่กว้าง ที่สุดอยู่บริเวณแนวต้นครีบหลัง สันหลังหนาและกลมมน สันท้องคม และมีแนวสันท้องโค้งมากกว่าแนวสันหลังไม่มากก็น้อย
หัวมีขนาดปานกลาง สันหัวโค้งน้อยมากจนเกือบตรงและต่อเนื่องไปจนถึงครีบหลัง บริเวณท้ายทอยมีกลุ่มสันกระดูกสั้น ๆ เรียงตามยาวข้างละ ๓-๑๔ แนวในกรอบคล้ายสามเหลี่ยมที่บานออกทางด้านท้าย ปากมีขนาดเล็กอยู่ปลายสุดของหัว ปลายปากทั้งบนและล่างทู่โดยมีขากรรไกรล่างยื่นล้ำขากรรไกรบนเล็กน้อย ทำให้ช่องปากมีลักษณะเชิดขึ้น กระดูกขากรรไกรบนทั้งหมดเรียงติดต่อ กันเป็นแผ่นบางโดยมีปลายทางด้านท้ายมนกลมและห้อยคลุมส่วนท้ายของขากรรไกรล่างเกือบมิด ขากรรไกรบนมีขนาดกว้างและใหญ่ที่สุดทำหน้าที่เป็นขอบปากด้านบนต่อจากกระดูกหน้าขากรรไกรบน (premaxilla) ซึ่งมีขนาดเล็กกว่ามาก มีฟันขนาดเล็กมากเรียงเป็นแถวเดียวและเป็นช่วงสั้นอยู่ค่อน ไปทางด้านท้าย กระดูกเหนือขากรรไกรบนมี ๒ ชิ้นในแต่ละข้างและซ้อนอยู่ทางด้านบนของส่วนท้ายของขากรรไกรบน ขากรรไกรล่างมีฟันขนาดเล็กอยู่เกือบสุดปลายทางด้านหน้า
ตาโต กลม มีเส้นผ่านศูนย์กลางมากหรือน้อยกว่าความยาวของจะงอยปากเล็กน้อย และอยู่ในแนวแกนลำตัวแต่ค่อนไปทางปลายจะงอยปากและเกือบชิดแนวสันหลัง คลุมด้วยเยื่อใสที่แผ่ล้นเลยตาไปทางด้านหน้าและหลังเล็กน้อย โดยเว้นเป็นช่องแคบรูปรีตรงบริเวณกลางตาตลอดแนวตั้ง
กระดูกแผ่นปิดเหงือกทุกชิ้นมีขนาดใหญ่ ขอบทางด้านท้ายของแผ่นปิดเหงือกทอดอยู่ในแนวดิ่ง แผ่นปิดเหงือกทั้ง ๒ ข้างไม่มีส่วนติดต่อกันกับคอดคอทำให้แผ่นปิดเหงือกเปิดได้กว้างมาก ขอบทางด้านท้ายของช่องเหงือกซึ่งเป็นส่วนหน้าของบริเวณกระดูกฐานครีบอกมีตุ่มเนื้อ ๒ ตุ่มตั้งอยู่ห่างกันในแนวดิ่ง
ซี่กรองเหงือกเป็นแผ่นบาง แคบ และเรียงชิดกัน มีจำนวนมาก แต่ก็แตกต่างกันแล้วแต่ชนิด โดยพบว่ามีจำนวนน้อยในปลาขนาดเล็ก และมากขึ้นในปลาชนิดเดียวกันที่โตขึ้น
เกล็ดบางเป็นแบบเกล็ดเรียบ คือไม่มีซี่คล้ายหนามหรือฟันทางด้านท้าย ขนาดปานกลาง หลุดง่าย ครีบต่าง ๆ ไม่มีเกล็ดคลุมยกเว้นครีบอกและครีบหาง ตลอดส่วนหัวไม่มีเกล็ดคลุม เหนือครีบอกไม่มีเกล็ดเดี่ยว รูปร่างยาวเรียวอย่างที่พบอยู่เหนือโคนครีบท้อง แต่มีแถวเกล็ดบนลำตัวที่เรียงอยู่ในแนวนอนเหนือครีบอกที่เปลี่ยนรูปร่างจนมีปลายเป็นมุมแหลมชี้ไปทางด้านท้าย และมีขอบด้านล่างที่เรียงต่อเนื่องกันรับกับขอบบนของครีบอกได้พอดีโดยตลอด ในแนวสันท้องมีเกล็ดที่เปลี่ยนรูปเป็นสันคมและมีปลายแหลมชี้ไปทางท้าย ๑๕-๑๙ เกล็ดทางตอนหน้าของครีบท้อง และ ๑๑-๑๖ เกล็ด ระหว่างครีบท้องและครีบก้น หรือรวมตลอดแนวมี ๒๗-๓๔ เกล็ด ส่วนในแนวเฉียงระหว่างครีบหลังและครีบท้องมี ๑๑-๑๓ เกล็ด ไม่มีเส้นข้างตัว เกล็ดบนลำตัวมีร่องเป็นลายพาดอยู่ในแนวดิ่งหลายแนว
ครีบต่าง ๆ มีขนาดเล็ก ครีบหลังมีตอนเดียว ปรกติมักลู่พับติดลำตัว เมื่อกางเต็มที่มีลักษณะเป็นรูปคล้ายสามเหลี่ยม ตั้งอยู่ประมาณกึ่งกลางสันหลังบริเวณระหว่างปลายหัวและครีบหาง มีก้านครีบรวมทั้งสิ้น ๑๗-๑๙ ก้าน ครีบอกอยู่บนลำตัวบริเวณถัดจากแผ่นปิดเหงือกและสูงจากแนวสันท้องเพียงเล็กน้อย มีก้านครีบ ๑๔-๑๖ ก้าน ครีบท้องมีขนาดเล็กที่สุดและอยู่ชิดสันท้องในแนวระหว่างครีบอกและครีบก้นซึ่งเป็นบริเวณแนวใต้กลางฐานครีบหลังพอดี ประกอบด้วยก้านครีบเพียง ๗ ก้าน ครีบก้นตั้งอยู่ในแนวสันท้องแต่ค่อนไปทางครีบหางมากกว่าครีบท้อง ประกอบด้วยก้านครีบ ๑๗-๒๒ ก้าน ปรกติมีฐานของครีบยาวกว่าฐานครีบหลังเล็กน้อย แต่มีก้านครีบที่สั้นกว่าก้านครีบหลัง และทุกก้านมีความยาวพอ ๆ กัน แม้ก้านที่ ๒ หรือส่วนใหญ่ก้านที่ ๓ จะยาวที่สุด ครีบหางเป็นครีบที่ใหญ่ที่สุด มีปลายแยกเป็นแฉกรูปส้อมโดยมีลักษณะถ่างกางและลู่แหลมไปทางปลายทั้งบนและล่าง ทั้งคู่มีขนาดเท่าเทียมกัน
กระเพาะลมมีขนาดใหญ่ มีปลายเปิดออกสู่ภายนอกที่บริเวณรูก้น และมีท่อขนาดเล็กเชื่อมกับส่วนปลายสุดของกระเพาะอาหาร
หัวและลำตัวโดยทั่วไปมีสีเงินหรือสีเงินยวงทางด้านข้างและล่าง ส่วนด้านบนของหัวตลอดจนแนวสันหลังและข้างเคียงมีสีฟ้าหรือเขียวอมฟ้า โดยยังอาจเข้มจนเห็นเป็นสีน้ำเงินหรือเขียวคล้ำ สำหรับปลาที่พบในเขตห่างฝั่งมาก สีทางด้านบนของหัวและลำตัวเข้มกว่าปลาชนิดเดียวกันที่พบ ใกล้ฝั่ง ปลายจะงอยปากทั้งบนและล่างมีสีดำคล้ำเสมอ กลางแผ่นปิดเหงือกทางด้านนอกอาจมีสีเหลือง หรือชมพูเรื่อ ๆ บริเวณลำตัวที่ชิดกับมุมบนของแผ่นปิดเหงือกมักมีแต้มสีดำคล้ำชัดบ้างจางบ้าง ครีบหลังและครีบหางมักมีสีดำคล้ำและอาจแซมด้วยสีเหลืองหรือส้มจาง ๆ ในหลายชนิดเฉพาะสกุล Sardinella มีจุดเล็กสีดำที่โคนต้นครีบหลัง ครีบอกโปร่งแสง ส่วนครีบท้องและครีบก้นอาจมีสีขาวขุ่น (สีน้ำนม) บนครีบ หรือมิฉะนั้นก็จะโปร่งแสง เฉพาะปลากุแลบางชนิดจะมีจุดสีดำในแนวสันหลังใกล้ครีบหลัง หรือแถบสีดำคล้ำพาดอยู่ด้านข้างลำตัวตลอดแนวแกนลำตัว บ้างก็มีปลายครีบหางสีดำ
ปลากุแลวางไข่ตลอดทั้งปี โดยมีระยะชุกที่สุดในระหว่างฤดูฝน ไข่มีลักษณะกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑.๑๕-๑.๗๕ มิลลิเมตร มีจำนวนมาก จัดเป็นประเภทไข่ลอย ยังไม่มีผู้ใดให้ข้อมูลที่จะสังเกตความแตกต่างจากลักษณะภายนอกระหว่างเพศผู้และเพศเมียแม้เป็นปลาขนาดใหญ่แล้วก็ตาม
จากผลการศึกษาชนิดอาหารที่พบในกระเพาะของปลากุแล พบว่าปลาเหล่านี้ส่วนใหญ่กินสัตว์ขนาดเล็กและตัวอ่อน รวมทั้งไข่ขนาดเล็กของสัตว์ทะเลต่าง ๆ ที่สำคัญคือ ลูกกุ้ง ลูกปู เคอย ไรน้ำ ตัวอ่อนของปลา เป็นต้น
เครื่องมือที่ใช้จับปลากุแลส่วนใหญ่เป็นเครื่องมือประเภทเดียวกับที่ใช้จับปลาทูและปลาลัง คือ อวนตังเก อวนฉลอม อวนดำ อวนล้อมซั้ง อวนปลากุแล โป๊ะ รวมทั้งโพงพาง ถึงแม้ว่าปลา กุแลจะเป็นที่รู้จักกันดีในเขตชนบทชายทะเล แต่ปริมาณที่จับได้แต่ละชนิดหรือทั้งหมดมีประปราย ยกเว้นบางชนิดเท่านั้นที่อาจมีการจับได้มากเป็นบางครั้งและบางฤดูกาล เช่น ชนิด Sardinella gibbosa (Bleeker) รองลงไปคือ S. albella (Valenciennes) ส่วนชนิด Herklotsichthys quadrimaculatus (Rüppell) ซึ่งพบชุกชุมมากในหลายส่วนของเขตอินโด-แปซิฟิกด้านตะวันตก กลับเป็นชนิดที่พบน้อยที่สุดชนิดหนึ่งในน่านน้ำไทย และเป็นในเขตห่างฝั่งในทะเลอันดามันเท่านั้น ซึ่งเข้าใจว่าเนื่อง จากวิสัยการทำการประมงของไทยที่ยังทำกันใกล้ชายฝั่งเป็นส่วนใหญ่ สำหรับชนิด S. jussieui (Valenciennes) ซึ่งมีรายงานว่าพบชุกชุมในน่านน้ำไทยนั้น แท้จริง คือชนิด S. gibbosa (Bleeker) และชนิดดังกล่าวพบเฉพาะในเขตด้านตะวันตกของมหาสมุทรอินเดียเท่านั้น
ชนิดปลากุแลที่กระจายอยู่ในน่านน้ำไทยมีรวม ๘ ชนิด ใน ๒ สกุล คือ Sardinella และ Herklotsichthys ปลา ๒ สกุลนี้มีลักษณะเด่นที่ในปัจจุบันยึดเป็นข้อพิจารณาใช้แยกออกจากกัน โดยแต่ละสกุลยังมีชนิดและรูปพรรณที่สำคัญดังต่อไปนี้ คือ
๑. สกุล Sardinella มีกระดูกเหนือขากรรไกรบนอันท้ายสุดที่มีแนวขอบบนและล่างได้สัดส่วนใกล้สมดุลกัน กลุ่มสันกระดูกสั้น ๆ ที่บริเวณสันหัวตรงท้ายทอยมีข้างละ ๗-๑๔ แถว เกล็ด ๒ ข้างของแนวกลางสันหลังระหว่างท้ายทอยและครีบหลังจะมีส่วนเหลื่อมซ้อนกันในแนวกลางสันหลังยกเว้นชนิด S. melanura (Cuvier) ซึ่งในกลางสันหลังจะมีแนวเกล็ดพาดอยู่แทนที่จะเป็นแนวซ้อนกันของเกล็ดอย่างในปลาสกุล Sardinella ชนิดอื่นในน่านน้ำไทย อย่างไรก็ตาม ทุกชนิดของปลาในสกุลนี้ไม่มีแนวเกล็ดพิเศษซ่อนอยู่ใต้รอยซ้อนกันของเกล็ดดังกล่าวเช่นที่พบในปลาทุกชนิดของสกุล Herklotsichthys ครีบก้นมีก้านครีบ ๒ ก้านสุดท้ายซึ่งมีขนาดยาวและใหญ่กว่าก้านถัดไปทางด้านหน้าเล็กน้อย ร่องในแนวตั้งจากด้านข้างบนเกล็ดกลางตัวไม่เชื่อมต่อกันที่บริเวณกลางเกล็ด แต่อาจซ้อนกันในปลาบางชนิดเช่น S. melanura (Cuvier) ซึ่งชนิดนี้ยังมีโคนจุดเริ่มต้นของครีบหลังที่ไม่มีจุดสีดำอย่างในปลากุแลชนิดอื่น ๆ ปลาในสกุลนี้มีรวมทั้งสิ้น ๒๑ ชนิดในโลก และกระจายอยู่ในทุกมหาสมุทร สำหรับเขตอินโด-แปซิฟิกด้านตะวันตกพบรวม ๑๘ ชนิด ในจำนวนนี้มีเพียงชนิด S. tawilis (Herre) เท่านั้นที่พบในน้ำจืดในทะเลสาบบอมบอนบนเกาะลูซอนประเทศฟิลิปปินส์ ส่วนในน่านน้ำไทยพบปลาในสกุลนี้อยู่รวม ๖ ชนิด และเรียกว่า “กุแล” ทั้งสิ้น โดยเรียงตามลำดับความชุกชุมได้ดังนี้ คือ
๑.๑ ชนิด Sardinella gibbosa (Bleeker) ชื่อสามัญ Goldstripe Sardinella ลำตัวยาวเรียว วัดความกว้างได้ ๑ ใน ๓.๓-๔.๐ ของความยาวตลอดยกเว้นครีบหาง เกล็ดที่เปลี่ยนรูปเป็นสันเหลี่ยมคมในแนวสันท้องมี ๓๒-๓๔ เกล็ด ซี่กรองเหงือกบนตอนล่างของโครงเหงือกอันนอกสุดมี ๔๕-๕๙ ซี่ในปลาขนาดยาว ๖-๑๗ เซนติเมตรยกเว้นครีบหาง ร่องในแนวตั้งบนเกล็ดกลาง ตัวยาวไม่จดกัน ขอบทางด้านท้ายของเกล็ดกลางตัวยื่นเป็นปลายแหลมและมีรูพรุนเป็นจำนวนมาก บนลำตัวชิดกับมุมบนของแผ่นปิดเหงือกมีแต้มสีดำพร่าขนาดใหญ่แต่เห็นได้ชัดกว่าชนิดอื่น ๆ และในแนวแกนข้างตัวมีแถบแคบแต่เด่นพาดตลอดจากมุมบนของแผ่นปิดเหงือกจนถึงโคนหาง พบ แพร่กระจายตั้งแต่บริเวณซีกเหนือของฝั่งด้านตะวันตกของทวีปออสเตรเลียถึงหมู่เกาะในภูมิภาคเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้ ทะเลจีนตอนใต้ อ่าวไทย ทะเลอันดามัน ตลอดฝั่งตอนเหนือของมหาสมุทรอินเดีย และฝั่งด้านตะวันออกของทวีปแอฟริการวมทั้งเกาะมาดากัสการ์ โตเต็มที่ยาวได้ถึง ๑๗ เซนติเมตรโดยไม่รวมครีบหาง
๑.๒ ชนิด Sardinella albella (Valenciennes) ชื่อสามัญ White Sardinella ความกว้างของปลากุแลชนิดนี้แปรปรวนมากระหว่าง ๑ ใน ๒.๕-๔.๐ ของความยาวตลอดยกเว้นครีบหาง เกล็ดที่เปลี่ยนรูปเป็นสันแหลมคมตลอดแนวสันท้องมีรวม ๒๙-๓๓ เกล็ด ซี่กรองเหงือกตอนล่างของโครงเหงือกอันนอกสุดมี ๔๑-๖๘ ซี่ในปลาขนาดยาว ๔-๑๕ เซนติเมตรยกเว้นครีบหาง ร่อง ในแนวตั้งบนเกล็ดกลางลำตัวไม่ต่อกันที่กลางเกล็ด ขอบทางด้านท้ายของเกล็ดกลางตัวมีปลายยื่น แหลม รุ่ย และมีรูพรุนเป็นจำนวนมาก ลำตัวบริเวณชิดมุมบนของแผ่นปิดเหงือกมีแต้มสีดำจาง มีเขตกระจายบริเวณเดียวกับชนิดที่ ๑ โตเต็มที่ยาวได้ถึง ๑๔ เซนติเมตรยกเว้นครีบหาง
๑.๓ ชนิด Sardinella fimbriata (Valenciennes) ชื่อสามัญ Fringescale Sardinella มีความกว้างลำตัว ๑ ใน ๓.๓-๔.๐ ของความยาวตลอดยกเว้นครีบหาง เกล็ดแหลมคมในแนว สันท้องมีรวม ๒๙-๓๓ เกล็ด ซี่กรองเหงือกที่ตอนล่างของโครงเหงือกอันนอกสุดมี ๕๔-๘๒ ซี่ในปลาขนาดยาว ๕-๑๓ เซนติเมตรยกเว้นครีบหาง ร่องในแนวตั้งบนเกล็ดกลางตัวไม่ต่อหรือเหลื่อมกันที่กลางเกล็ด ขอบทางด้านท้ายของเกล็ดกลางตัวมักมีปลายยื่นแหลมมากกว่าชนิดอื่น ๆ และมี รูพรุนประปรายอยู่บริเวณส่วนแหลมเท่านั้น บริเวณลำตัวที่ชิดมุมบนของแผ่นปิดเหงือกมีแต้มพร่า สีดำจางมาก พบน้อยมาก แพร่กระจายอยู่ตั้งแต่บริเวณเกาะนิวกินี หมู่เกาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออก เฉียงใต้ อ่าวไทย รอบอ่าวเบงกอล ถึงนอกฝั่งบริเวณตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศอินเดีย โตเต็มที่ยาวได้ถึง ๑๓ เซนติเมตรไม่รวมครีบหาง
๑.๔ ชนิด Sardinella brachysoma Bleeker ชื่อสามัญ Deepbody Sardinella ลำตัวมีความกว้างถึง ๑ ใน ๒.๕-๓.๓ ของความยาวตลอดยกเว้นครีบหาง จึงเป็นปลากุแลที่มีลำตัวกว้างมากกว่าชนิดอื่น ๆ ทั้งหมดที่พบในน่านน้ำไทย แต่เป็นชนิดหนึ่งใน ๒-๓ ชนิดของเขตอินโด-แปซิฟิก ด้านตะวันตกที่มีลำตัวกว้างมาก เกล็ดแหลมคมในแนวสันท้องมี ๒๙-๓๒ เกล็ด ซี่กรองเหงือกที่ตอนล่างของโครงเหงือกอันนอกสุดมี ๔๘-๖๗ ซี่ ในปลาที่มีความยาวระหว่าง ๔-๑๓ เซนติเมตร ร่องในแนวตั้งบนเกล็ดกลางตัวเหลื่อมกันเล็กน้อยบริเวณกลางเกล็ดหรืออาจต่อเป็นร่องเดียวกัน ขอบทางท้ายของเกล็ดกลางตัวยื่นเพียงเล็กน้อยและมีรูพรุนประปรายบนลำตัวชิดกับมุมบนของแผ่นปิดเหงือกมีแต้มสีดำคล้ำแต่ไม่เด่นชัด พบเป็นครั้งคราวจำนวนน้อยมาก แพร่กระจายอยู่ตั้งแต่บริเวณนอกฝั่งตอนเหนือสุดของทวีปออสเตรเลีย ประเทศอินโดนีเซีย อ่าวไทย อ่าวเบงกอล ถึงบริเวณเกาะมาดากัสการ์ โตเต็มที่ยาวได้ถึง ๑๓ เซนติเมตรไม่รวมครีบหาง
๑.๕ ชนิด Sardinella melanura (Cuvier) ชื่อสามัญ Blacktip Sardinella ลำตัวเรียวยาว โดยมีความกว้างน้อยกว่า ๑ ใน ๓.๓ ของความยาวยกเว้นครีบหาง เกล็ดในแนวสันหลังหน้าครีบหลังมีทั้งที่เหลื่อมซ้อนกันอย่างปลากุแลชนิดอื่น ๆ ในสกุลเดียวกัน และที่เรียงคร่อมอยู่ในแนวกลางเกล็ดแหลมคมในแนวสันท้องมี ๒๘-๓๐ เกล็ด ซี่กรองเหงือกที่ตอนล่างของโครงเหงือกอันนอกสุดมี ๓๔-๗๔ ซี่ในปลาขนาดยาว ๕-๑๒ เซนติเมตรยกเว้นครีบหาง ร่องในแนวตั้งบนเกล็ดกลางตัวขาดจากกันบริเวณกลางเกล็ด ขอบทางด้านท้ายของเกล็ดไม่ยื่นแหลมและไม่มีรูพรุน บน ลำตัวมีลายสีคล้ำพาดตามยาวในแนวของเกล็ด ๓-๕ ลาย ไม่มีจุดสีดำที่โคนก้านครีบหลังก้านแรก ๆ ปลายครีบหางทั้งบนและล่างมีสีดำ พบน้อยมากในน่านน้ำไทย แต่มีแพร่กระจายอยู่ตั้งแต่บริเวณ หมู่เกาะซามัว ประเทศอินโดนีเซีย ถึงรอบอ่าวอาระเบีย และฝั่งด้านตะวันออกของทวีปแอฟริกาในแนวเกาะมาดากัสการ์ โตเต็มที่ยาวได้ถึง ๑๒.๒ เซนติเมตรยกเว้นครีบหาง
๑.๖ ชนิด Sardinella lemuru Bleeker ชื่อสามัญ Bali Sardinella ลำตัวแบนข้างน้อยกว่าชนิดอื่น ๆ ที่กล่าวมาทั้งหมด มีความกว้างของลำตัวใกล้เคียงกับชนิดที่ ๑ เกล็ดที่แหลมคมในแนวสันท้องมี ๓๓-๓๔ เกล็ด เป็นปลากุแลชนิดเดียวในน่านน้ำไทยที่มีก้านครีบท้อง ๙ ก้าน โดยชนิดอื่น ๆ ทั้งหมดมี ๘ ก้าน ขณะเดียวกันก็มีซี่กรองเหงือกบริเวณตอนล่างของโครงเหงือกอันนอกสุดมากถึง ๗๗-๑๘๘ ซี่ในปลาขนาดยาวกว่า ๖.๕ เซนติเมตร ร่องในแนวตั้งบนเกล็ดกลางตัวขาดจากกันบริเวณกลางเกล็ด ขอบทางด้านท้ายของเกล็ดไม่ยื่นเป็นปลายแหลม ไม่รุ่ย และไม่มีรูพรุน บนลำตัวชิดกับบริเวณมุมบนแผ่นปิดเหงือกมีแต้มสีดำ ขณะเป็นปลาสดบริเวณนี้เป็นสีเหลืองพร่าและต่อกับแถบสีเดียวกันที่พาดอยู่ในแนวเดียวกันกับแกนลำตัวจนถึงโคนหาง และที่โคนก้านครีบหลังอันแรก ๆ ไม่มีจุดสีดำ พบแพร่กระจายอยู่ตั้งแต่นอกฝั่งตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่น จีน เกาะฮ่องกง ฟิลิปปินส์ เกาะสุมาตรา ฝั่งด้านตะวันตกของทวีปออสเตรเลีย ถึงทะเลอันดามัน โตเต็มที่ยาวได้ถึง ๑๕ เซนติเมตร แต่เคยมีรายงานจากเขตทะเลจีนตอนเหนือว่าพบตัวอย่างยาวถึง ๒๓ เซนติเมตร เป็นปลากุแลที่พบน้อยที่สุดของไทยและพบเฉพาะทางด้านทะเลอันดามันเท่านั้น อาศัยอยู่ในทะเลเปิดที่มีความเค็มจัด
๒. สกุล Herklotsichthys มีกระดูกเหนือขากรรไกรบนอันท้ายสุดที่มีส่วนล่างกว้างและใหญ่กว่าส่วนบนที่อยู่ตรงข้ามกัน กลุ่มสันกระดูกสั้น ๆ ที่เรียงชิดกันอยู่บริเวณสันหัวตรงท้ายทอยมีข้างละ ๓-๗ แถว เกล็ด ๒ ข้างของแนวกลางสันหลังระหว่างท้ายทอยและครีบหลังเหลื่อมกันในแนวดังกล่าว และยังมีเกล็ดแถวพิเศษซ่อนอยู่ใต้กลางรอยซ้อนกันตลอดแนว ครีบก้น ๒ อันสุดท้ายมีขนาดเท่ากับอันถัดไปทางด้านหน้า แต่ละร่องในแนวตั้งบนเกล็ดกลางลำตัวไม่ขาดจากกัน ทุกชนิด ไม่มีรูพรุนบนเกล็ด และไม่มีจุดสีดำที่โคนก้านครีบหลังอันแรก ๆ ในโลกมีปลาสกุลนี้ ๑๐ ชนิด และกระจายอยู่เฉพาะในเขตอินโด-แปซิฟิกด้านตะวันตก ในน่านน้ำไทยพบ ๒ ชนิด คือ
๒.๑ ชนิด Herklotsichthys dispilonotus (Bleeker) ชื่อสามัญ Blacksaddle Herring หัวและลำตัวแบนข้างมาก ลำตัวกว้าง ๑ ใน ๓.๐-๓.๓ ของความยาวตลอดยกเว้นครีบหาง เกล็ดที่เปลี่ยนรูปเป็นสันเหลื่อมคมในแนวสันท้องมีรวม ๒๖-๒๘ เกล็ด เกล็ดพิเศษที่ซ่อนอยู่ใต้แถวเกล็ดในแนวสันหลังบริเวณหน้าครีบหลังมีลักษณะกลมคล้ายเกล็ดทั่วไปบนลำตัว ฟัน ๒ ข้างบนเพดานปากมีขนาดใหญ่ ลักษณะขรุขระแตกต่างจากชนิดอื่นอย่างเด่นชัด ซี่กรองเหงือกบนโครงเหงือกอันนอกสุดมี ๓๗-๓๘ ซี่ในปลาขนาดยาว ๕-๘ เซนติเมตรยกเว้นครีบหาง มีจุดสีดำชัดเจนขนาดเท่า ๆ กันอยู่บนสันหลังที่บริเวณโคนก้านครีบหลัง ๓-๔ ก้านสุดท้าย ๑ จุด และที่ห่างออกไปอีก ๑ จุด พบประปรายในบริเวณใกล้ฝั่งโดยเฉพาะเขตปากแม่น้ำ ลำคลอง และที่มีอิทธิพลน้ำขึ้นลงบริเวณ หมู่เกาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอ่าวไทย โตเต็มที่ยาวได้ถึง ๘.๕ เซนติเมตรยกเว้นครีบหาง ทั่วไปจับได้ขนาดยาว ๗ เซนติเมตร
๒.๒ ชนิด Herklotsichthys quadrimaculatus (Rüppell) ชื่อสามัญ Bluestripe Her-ring, Gold Spot Herring ลำตัวยาวเรียวเกือบเป็นทรงกระบอกโดยแบนข้างเล็กน้อย มีความกว้างของลำตัวเพียง ๑ ใน ๓.๓-๕.๕ ของความยาวตลอดยกเว้นครีบหาง เกล็ดที่มีลักษณะแหลมคมที่แนวสันท้องมี ๒๙-๓๒ เกล็ด เกล็ดพิเศษที่อยู่ใต้แถวเกล็ดหน้าครีบหลังมีลักษณะขยายออกทางด้านข้างคล้ายปีก ฟัน ๒ ข้างบนเพดานปากมีขนาดเล็ก ซี่กรองเหงือกที่บริเวณส่วนล่างของโครงเหงือกอันนอกสุดมี ๓๐-๓๖ ซี่ในปลาขนาดยาว ๔-๑๓ เซนติเมตรยกเว้นครีบหาง ลำตัวโดยทั่วไปสีเงิน ตลอดด้านหลังมีสีน้ำเงินหรือน้ำเงินเข้ม ขณะเป็นปลาสดบนลำตัวบริเวณถัดจากมุมบนของแผ่นปิดเหงือกมีจุดพร่าสีทองเรียงอยู่เคียงกันในแนวตั้ง และมีเส้นสีน้ำเงินเข้มพาดต่อในแนวข้างตัวจนถึงโคนหาง พบเป็นฝูงใหญ่อยู่ห่างฝั่งมากตลอดเขตร้อนของเขตอินโด-แปซิฟิกด้านตะวันตก โตเต็มที่ยาวได้ถึง ๑๔ เซนติเมตรยกเว้นครีบหาง ในเขตน่านน้ำไทยพบเฉพาะทางด้านทะเลอันดามันเท่านั้น และยังมีการจับกันน้อยมาก.