กุเรา-ปลา

ชื่ออื่น ๆ
ปลากุเลา
ชื่อสามัญ
Threadfin, Tassel Fish, Thread Fish

ลักษณะทั่วไป เป็นปลาน้ำเค็มขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ลำตัวยาว แบนข้าง ปากบนมีโหนกยื่นออกไปด้านหน้าและตอนปลายสุดป้าน ส่วนปากล่างยาวประมาณครึ่งหนึ่งของปากบน ฟันเล็ก ตามีเยื่อไขมันหุ้ม เกล็ดปกคลุมลำตัวเล็ก เป็นเกล็ดหนามลักษณะสากมือ ครีบหลังมี ๒ ครีบ ครีบหลังครีบแรกมีก้านครีบ ๗-๘ ก้าน ครีบหลังครีบที่ ๒ มีก้านครีบ ๑๑-๑๕ ก้าน มีขนาดยาวกว่าครีบหลังครีบแรกและอยู่ตรงกับครีบก้น ลักษณะเด่นอยู่ที่ครีบอกตั้งอยู่ค่อนข้างต่ำ แบ่งออกเป็น ๒ ส่วน ส่วนแรกมีลักษณะเป็นครีบธรรมดาเช่นเดียวกับปลาทั่วไป ส่วนที่ ๒ อยู่ด้านล่างของส่วนแรก มีลักษณะเป็นก้านครีบเดี่ยวยื่นยาวออกไปเป็นเส้น ๆ ดูคล้ายหนวด เป็นอวัยวะรับความรู้สึกช่วยในการหาอาหาร ก้านครีบเดี่ยวนี้จะยาวมากเมื่อยังเป็นปลาขนาดเล็ก แต่จะสั้นเข้าเมื่อปลาโตเต็มที่ จำนวนก้านครีบเดี่ยวแตกต่างกันไปตามชนิดของปลา คอดหางกว้าง ครีบหางแผ่กว้างเว้าลึกหรือเป็นแฉกลึกตอนปลาย เส้นข้างตัวเจริญดี
     ปลากุเราส่วนใหญ่อาศัยอยู่ตามชายฝั่งที่เป็นทราย หากินอยู่ตามพื้นท้องทะเลหรือในระดับกลางน้ำ บางครั้งพบเข้าไปหากินอยู่ในบริเวณปากแม่น้ำและในนากุ้ง ในประเทศไทยพบทั้งในอ่าวไทยและทางฝั่งทะเลอันดามัน
     ในประเทศไทยมีปลากุเราอยู่ ๒ สกุล คือ สกุล Eleutheronema มีก้านครีบเดี่ยวของครีบอก ๓-๔ ก้าน และสกุล Polynemus มีก้านครีบเดี่ยวตั้งแต่ ๕ ก้านขึ้นไป
     ปลากุเราชนิดที่พบมากและนิยมนำมาบริโภค ได้แก่
     ๑. ปลากุเราหนวดสี่เส้น [Eleutheronema tetradactylum (Shaw)] ชื่ออื่น ๆ โหงวฮื้อ ชื่อสามัญ Fourfinger Threadfin, Fourthread Tassel Fish, Four-rayed Thread Fish ลำตัวยาว ๓๐-๓๗ เซนติเมตร ก้านครีบเดี่ยวของครีบอกมี ๔ เส้น ริมฝีปากบนไม่มีหรือเสื่อมไป เกล็ดตามเส้นข้างตัวมี ๗๘-๘๐ เกล็ด พื้นลำตัวสีเงินอมเขียวสีออกดำทางด้านหลัง และสีออกเทาอมเหลืองทางด้านข้าง ครีบหลังและครีบหางสีเทามีขอบสีดำ ครีบท้องและครีบก้นสีเหลืองส้ม ครีบอกที่เป็นก้านครีบเดี่ยวสีขาว กินสัตว์น้ำอื่น ๆ เช่น ปลากระบอกปลาทู ปลาโคก และแม้แต่ลูกปลากุเรา ปรกติเป็นปลาที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับบริเวณที่น้ำมีความเค็มต่ำหรือเจริญเติบโตได้ดีในน้ำกร่อย


     พบเสมอตามปากแม่น้ำและในนากุ้งทั่วทั้งด้านอ่าวไทยและมหาสมุทรอินเดีย ในต่างประเทศ พบอาศัยอยู่ตั้งแต่ชายฝั่งประเทศอินเดียขึ้นไปทางทิศเหนือจนถึงชายฝั่งประเทศจีน ฮ่องกง และลงไปทางทิศใต้จนถึงชายฝั่งประเทศออสเตรเลียด้านตะวันตก เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๖ กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ประสบความสำเร็จในการผสมเทียมปลากุเราชนิดนี้
     ๒. ปลากุเราหนวดสามเส้น [Eleutheronema tridactylum (Bleeker)] ชื่อสามัญ Threefinger Threadfin, Threethread Tassel Fish ลักษณะคล้ายปลากุเราชนิดแรก แต่ก้านครีบเดี่ยวของครีบอกมีเพียง ๓ ก้าน ลำตัวยาวประมาณ ๓๕ เซนติเมตร เคยมีผู้พบยาวถึง ๑.๘ เมตร
     ๓. ปลากุเราจุดดำ (Polynemus sextarius Bloch et Schneider) ชื่อสามัญ Sixthread Tassel Fish ลำตัวยาว ๑๕-๑๙ เซนติเมตร ก้านครีบเดี่ยวของครีบอกมี ๖ เส้น เกล็ดตามเส้นข้างตัวมี ๔๕-๕๐ เกล็ด ครีบหางแฉกลึก พื้นลำตัวสีเหลืองอมเขียว ด้านท้องสีเงิน ครีบทุกครีบสีเทาคล้ำมีขอบสีดำ มีจุดสีดำใหญ่ ๑ จุดอยู่ที่แผ่นปิดเหงือกซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นข้างตัว อาศัยอยู่ในระดับกลางน้ำและผิวน้ำในบริเวณน้ำตื้นชายฝั่ง บางครั้งลงไปอาศัยอยู่บริเวณหน้าดิน
     พบอาศัยอยู่ในทะเลตั้งแต่ชายฝั่งด้านตะวันออกของทวีปแอฟริกา ตลอดทั่วมหาสมุทรอินเดียและหมู่เกาะมลายู
     ๔. ปลากุเราหูดำ (Polynemus heptadactylus Cuvier) ชื่ออื่น ๆ ปลากาบขนุน, ปลาตับขนุน ชื่อสามัญ Seventhread Tassel Fish ลำตัวยาวประมาณ ๑๒ เซนติเมตร ก้านครีบเดี่ยวของครีบอกมี ๗ ก้าน ก้านที่ ๓, ๔ และ ๕ ยาวที่สุด โดยยาวไปจดปลายครีบท้องหรือยาวเลยออกไป เกล็ดตามเส้นข้างตัวมี ๔๘-๕๐ เกล็ด ครีบหางแฉกลึก ลำตัวด้านหลังสีน้ำตาล ท้องสีเหลืองทอง ครีบอกสีดำ ส่วนครีบอื่น ๆ สีเทาอ่อนมีขอบสีดำ
     พบอาศัยอยู่ในมหาสมุทรอินเดียจนถึงหมู่เกาะมลายู
     ปลากุเราเป็นปลาที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เครื่องมือประมงที่ใช้จับปลากุเรามีหลายชนิด ได้แก่ อวนลอยหน้าดิน อวนลาก โป๊ะ โพงพาง เบ็ด เนื่องจากปลากุเรามีเนื้อนุ่ม จึงนิยมบริโภค โดยเฉพาะทำเป็นปลาเค็ม.

 

 

ชื่อหลัก
กุเรา-ปลา
ชื่อสกุล
Eleutheronema และ Polynemus
ชื่อวงศ์
Polynemidae
ชื่ออื่น ๆ
ปลากุเลา
ชื่อสามัญ
Threadfin, Tassel Fish, Thread Fish
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายจารุจินต์ นภีตะภัฏ
คำสำคัญ
-
แหล่งอ้างอิง
อนุกรมวิธานสัตว์ อักษร ก กองวิทยาศาสตร์ อนุกรมสัตว์ ก.1.pdf