กิ้งโครง-นก

ชื่ออื่น ๆ
นกคลิ้งโคลง
ชื่อสามัญ
Starling

ลักษณะทั่วไป รูปร่างอ้วนป้อม มีตั้งแต่ขนาดเล็ก วัดจากปลายปากถึงปลายหางยาวประมาณ ๑๖ เซนติเมตร จนถึงขนาดกลาง ยาวประมาณ ๒๗ เซนติเมตร หางสั้น ขาแข็งแรง
     นกชนิดนี้มักอยู่รวมกันเป็นฝูง เดินและกระโดดไปตามพื้น กินแมลงและผลไม้ บางชนิด เช่น นกกิ้งโครงคอดำ สามารถเลียนเสียงคนและเสียงอื่น ๆ ได้
     นกกิ้งโครงทำรังขนาดใหญ่เป็นแบบรังปิดมีทางเข้าออกทางเดียว บางชนิดทำรังในโพรงไม้ สถานที่และวัสดุที่ใช้ทำรังแตกต่างกันตามสภาพแวดล้อม ถ้าอยู่ใกล้ที่พักอาศัยก็จะทำรังตามหลังคา บางครั้งใช้เศษวัสดุตามกองขยะ เช่น กระดาษ ถุงพลาสติก มาสร้างรัง วางไข่คราวละ ๒-๖ ฟอง ใช้เวลาฟัก ๑๕-๑๗ วัน ลูกนกอยู่ในรังนาน ๒๐-๒๒ วัน จึงออกจากรังได้
     ทั่วโลกมีนกกิ้งโครงไม่น้อยกว่า ๑๑๐ ชนิด ในประเทศไทยมี ๖ ชนิด คือ
     ๑. นกกิ้งโครงแกลบกระหม่อมดำ [Sturnus malabaricus (Gmelin)] ชื่อสามัญ Ashy-headed Starling ขนาดประมาณ ๑๖ เซนติเมตร หัวสีเทาอ่อน ขนตามลำตัวสีน้ำตาลเทา อกและท้องสีเทาหรือน้ำตาล อาศัยอยู่ตามป่าโปร่ง ป่าละเมาะ และในสวน พบแทบทุกภาคยกเว้นทางตอนใต้ของภาคใต้
     ๒. นกกิ้งโครงแกลบปีกขาว [Sturnus sinensis (Gmelin)] ชื่อสามัญ Chinese Starling, Grey-backed Starlet ขนาดประมาณ ๑๖ เซนติเมตร ขนที่หัวและลำตัวสีเทา หัวปีกสีขาว ปลายปีกสีดำ อกและท้องสีขาว มักไม่ค่อยลงมาหากินตามพื้นดิน อาศัยอยู่ตามป่าละเมาะ ทุ่งโล่งใกล้บ้านเรือน พบแทบทุกภาคยกเว้นทางตอนใต้ของภาคใต้ เป็นนกอพยพ
     ๓. นกกิ้งโครงแกลบหัวเทา [Sturnus sturninus (Pallas)] ชื่อสามัญ Daurian Starling, Daurian Starlet ขนาดประมาณ ๑๖ เซนติเมตร หัว อก และท้องสีเทา ปีกและลำตัวด้านหลังสีม่วง อมเขียว ที่ปีกมีแถบสีขาว อาศัยอยู่ตามทุ่งโล่งในที่ราบต่ำบริเวณภาคกลาง ภาคตะวันออก และ ตอนบนของภาคใต้ เป็นนกอพยพ


     ๔. นกกิ้งโครงคอดำ [Sturnus nigricollis (Paykull)] ชื่ออื่น ๆ นกเอี้ยงโครง ชื่อสามัญ Black-collared Starling ขนาดประมาณ ๒๗ เซนติเมตร ปลายปากสีดำ หัวสีขาว มีวงสีดำรอบคอ อกและท้องสีขาว ขนตามลำตัวและปีกสีดำ มีแถบขาวเล็ก ๆ ที่ปีก อาศัยอยู่ตามพื้นที่เกษตรกรรม ตามสวน ตั้งแต่ที่ราบจนถึงระดับความสูง ๑,๕๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล พบแทบทุกภาคยกเว้นทางตอนใต้ของภาคใต้
     ๕. นกกิ้งโครงหัวสีนวล [Sturnus burmannicus (Jerdon)] ชื่อสามัญ Jerdon’s Starling ขนาดประมาณ ๒๓ เซนติเมตร ปลายปากสีแดง หัวสีขาว อกและท้องสีม่วงอ่อน ลำตัวและปีกด้านหลังสีเทามีจุดขาว อาศัยอยู่ตามพื้นที่เกษตรกรรม ทุ่งหญ้า พุ่มไม้เล็ก ๆ ตั้งแต่ที่ราบจนถึงระดับความสูง ๑,๒๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล พบแทบทุกภาคยกเว้นทางตอนใต้ของภาคใต้
     ๖. นกกิ้งโครงปีกลายจุด [Saroglossa spiloptera (Vigors)] ชื่อสามัญ Spot-winged Star-ling ขนาดประมาณ ๒๒ เซนติเมตร ตัวผู้คอสีน้ำตาลเข้ม ลำตัวด้านหลังสีเทา มีลายคล้ายเกล็ดปลาสีน้ำตาลดำ อกและท้องสีน้ำตาลอ่อน มีปื้นสีดำที่หน้าอก ตัวเมียด้านหลังสีน้ำตาล ลายเกล็ดออก สีน้ำตาลเข้ม อกและท้องสีอ่อน ตัวผู้ที่ยังไม่โตเต็มวัยมีลักษณะคล้ายตัวเมีย ทั้งตัวผู้และตัวเมียขอบปีกด้านนอกมีแถบสีขาว ประเทศไทยพบทางภาคตะวันตกแถบจังหวัดตาก ต่างประเทศพบอาศัยอยู่ตามป่าแถบภูเขาหิมาลัย ทางตะวันออกของประเทศอินเดีย พม่า
     ยังมีนกในสกุล Sturnus อีกชนิดหนึ่ง คือ นกเอี้ยงด่าง (Sturnus contra Linn.) ชื่อสามัญ Asian-pied Starling.

 

ชื่อหลัก
กิ้งโครง-นก
ชื่อสกุล
Sturnus Saroglossa
ชื่อวงศ์
Sturnidae
ชื่ออื่น ๆ
นกคลิ้งโคลง
ชื่อสามัญ
Starling
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายสุวัช สิงหพันธุ์
คำสำคัญ
-
แหล่งอ้างอิง
อนุกรมวิธานสัตว์ อักษร ก กองวิทยาศาสตร์ อนุกรมสัตว์ ก.1.pdf