ลักษณะทั่วไป เป็นนกกระเต็นชนิดหนึ่งในจำนวน ๑๕ ชนิดที่พบในประเทศไทย วัดจากปลายปากถึงปลายหางยาวประมาณ ๒๔ เซนติเมตร รูปร่างป้อม หัวโต ปากตรง มีขนาดใหญ่ ปลายแหลม ปากบนสีดำ ปากล่างสีเทาอมชมพู มีแถบขนสีดำพาดตามยาวผ่านตา เหนือตาด้านหน้ามีแถบขนสีขาวไปจดโคนปากบนและใต้ตา ส่วนด้านบนของหัว ด้านหลังลำตัว และปีกสีน้ำเงิน แกมเขียว แต่รอบคอและด้านล่างลำตัวสีขาว ตีนสีเทา ตัวเมียสีค่อนข้างเขียวมากกว่าน้ำเงินเมื่อเทียบกับสีของตัวผู้
นกกินเปี้ยวเกาะนิ่ง ๆ อยู่ตามกิ่งไม้ มักร้องขณะบิน เสียงร้องดังมาก ล่าเหยื่อโดยโผลงคาบ หากเหยื่ออยู่ใต้น้ำไม่ลึกนักก็จะโฉบลงไปในน้ำคาบเหยื่อได้เช่นกัน เหยื่อส่วนใหญ่เป็นปลาหรือปูขนาดเล็ก หากเป็นปู นกกินเปี้ยวจะคาบเหยื่อฟาดกับกิ่งไม้เพื่อให้เหยื่อตายหรือเพื่อให้ก้ามหลุดและกระดองแตกก่อนกิน
นกกินเปี้ยวทำรังตามโพรงไม้ ตามราก ส่วนต่าง ๆ ของพืช เช่น เฟิร์น หรืออาจอยู่ในโพรงตามจอมปลวกหรือในซอกหินก็มี วางไข่คราวละ ๓-๔ ฟอง ไข่สีขาว
นกกินเปี้ยวมีเขตแพร่กระจายกว้างมาก ตั้งแต่ประเทศอินเดีย พม่า ตะวันออกเฉียงใต้ของจีน ตลอดไปจนถึงหมู่เกาะต่าง ๆ ในบริเวณทะเลอันดามัน ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย และเกาะที่อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก นักปักษีวิทยาจำแนกนกกินเปี้ยวออกได้ไม่น้อยกว่า ๔๘ ชนิดย่อย สำหรับที่พบในประเทศไทยน่าจะเป็นชนิดย่อย Halcyon chloris davisoni Sharpe พบตามเกาะในทะเลอันดามัน ชนิดย่อย H. c. humii Sharpe พบตามบริเวณชายแดนที่ติดต่อกับประเทศพม่าและมาเลเซีย และชนิดย่อย H. c. armstrongi Sharpe พบทางภาคใต้และภาคตะวันออก แหล่งที่พบนกกินเปี้ยวในประเทศไทยมากมักเป็นชายฝั่งทะเลโดยเฉพาะบริเวณป่าโกงกางหรือป่าพรุ รวมไปถึงริมฝั่งแม่น้ำใหญ่ที่อยู่ห่างจากทะเลมากด้วย
นกกินเปี้ยวเป็นนกกระเต็นชนิดเดียวที่ไม่มีชื่อเรียกขึ้นต้นด้วย “กระเต็น” ชื่อกินเปี้ยวเชื่อว่ามาจากการที่นกชนิดนี้กินปูเปี้ยว (Uca spp.) ซึ่งพบอาศัยอยู่ตามป่าโกงกางหรือป่าชายเลน.