ลักษณะทั่วไป เป็นปลาขนาดเล็ก อาศัยอยู่ได้ทั้งในน้ำจืดและน้ำกร่อย รูปร่างคล้ายคลึงกันทั้ง ตัวผู้และตัวเมีย ตัวผู้ความยาวตลอดตัว ๒.๕-๓.๕ เซนติเมตร ตัวเมียรูปทรงกระบอกเกือบกลมและมักใหญ่กว่าตัวผู้ ความยาวตลอดตัว ๕-๘ เซนติเมตร ริมฝีปากล่างของตัวผู้และตัวเมียยื่นยาวออกไปเล็กน้อย ฟันเป็นรูปกรวยแหลมเรียงกันเป็นแถบ ขอบเกล็ดมีสีดำ ตัวผู้ลำตัวส่วนหน้าแบนทางด้านข้าง หัวใหญ่และแบนตามแนวนอน มักมีแถบสีคล้ำพาดจากหน้าผากผ่านตาไปจดแผ่นปิดเหงือก ลำตัวด้านบนสีน้ำตาลเหลืองจนถึงเขียวคล้ำแล้วค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีเทาเงินทางด้านใต้ท้อง มักมีจุดสีดำทั่วตัว บางครั้งพบมีลำตัวสีดำหรือเหลืองโดยตลอด ครีบหลังมีก้านครีบ ๘-๙ ก้าน ครีบหลังและครีบหางมีจุดสีดำเรียงเป็นแถวหลายแถว ครีบก้นมักไม่มีสีหรือสีจางมาก ส่วนตัวเมียลำตัวสีเขียวคล้ำและมีจุดสีดำเพียงไม่กี่จุด
ในธรรมชาติพบปลากินยุงชุกชุม อาศัยอยู่ตามลำธารน้ำใส โดยซุกตัวอยู่ตามกอพืชน้ำ ริมฝั่งแม่น้ำ คู คลอง และบึงหนอง นอกจากนี้ยังอาศัยอยู่ในน้ำกร่อยตามชายฝั่งทะเลได้อีกด้วย เนื่องจากพบปลากินยุงอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำบริเวณทิศตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศสหรัฐอเมริกา และทางตอนเหนือของประเทศเม็กซิโก จึงมีชื่อเรียกว่า Eastern Mosquito Fish
ปลากินยุงอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ในบริเวณที่น้ำมีอุณหภูมิ ๑๘-๒๒ องศาเซลเซียส มักรังแกปลาตัวอื่น กินสัตว์น้ำ เช่น แมลงน้ำ ตัวอ่อนที่อยู่ในน้ำของแมลงและพืชน้ำบางชนิด เช่น ตะไคร่น้ำ นอกจากนี้ยังกินปลาชนิดอื่น ๆ เช่น ปลาหัวตะกั่ว [Panchax panchax (Hamilton)] ปลาบู่ใส (Phenacostethus sp.) เนื่องจากการที่มันชอบกินลูกน้ำ ในประเทศเขตร้อนหลายประเทศที่มีไข้มาลาเรียระบาดจึงได้นำปลากินยุงไปเป็นตัวห้ำปราบลูกน้ำ โดยประเทศปานามาได้เริ่มทดลองใช้ปราบลูกน้ำเป็นครั้งแรก
ปลาชนิดนี้สืบพันธุ์โดยการออกลูกเป็นตัว ระยะตั้งท้องนานประมาณ ๓๐ วัน ออกลูกครั้งละ ๑๐-๓๐ ตัว บางครั้งออกลูกได้มากถึง ๘๐ ตัว ลูกปลาโตเต็มวัยเมื่ออายุประมาณ ๑ ปี แต่ ที่นำมาเลี้ยงในประเทศไทย สามารถถึงวัยเจริญพันธุ์ได้ในระยะเวลาเพียง ๓ เดือน ลูกปลาเมื่อออกใหม่ ๆ ลำตัวยาวประมาณ ๘ มิลลิเมตร ลักษณะคล้ายพ่อแม่ และว่ายน้ำได้คล่องแคล่ว
เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๗๒ นางเอมิลี เจ. คอลลินส์ (Emily J. Collins) ได้นำปลากินยุงจำนวน ๕๐ ตัว จากประเทศอิสราเอล เข้ามาที่กรุงเทพฯ (ปลาชนิดนี้เดิมได้มาจากมลรัฐจอร์เจีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๕) แต่เนื่องจากการเดินทาง ปลากินยุงจำนวน ๕๐ ตัว เหลือรอดเพียง ๑๒ ตัว ซึ่งนางเอมิลีได้มอบให้กรมรักษาสัตว์น้ำ กระทรวงเกษตราธิการ (กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในปัจจุบัน) ในเดือนกุมภาพันธ์ ปลาได้ตายไปอีก ๑๐ ตัว เหลือตัวเมียรอดอยู่เพียง ๒ ตัว ต่อมาตัวเมียที่เหลือได้ออกลูกมาหลายร้อยตัว จนกระทั่งถึงวันที่ ๔ มิถุนายน ปีเดียวกัน จึงได้ปล่อยปลากินยุงลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติในคูขนาดเล็กบริเวณกรมรักษาสัตว์น้ำเป็นครั้งแรก โดยปล่อยปลาตัวผู้ ๔ ตัว และปลาตัวเมีย ๑๔ ตัว ในจำนวนนี้มีตัวเมีย ๓ ตัว ท้องแก่ใกล้คลอด ต่อมาได้นำไปปล่อยขยายพันธุ์ในแหล่งน้ำหลายแห่งของกรุงเทพฯ สระบุรี และนครราชสีมา ในประเทศไทยสามารถขยายพันธุ์ได้เกือบตลอดปี.