กา-ปลา

Morulius chrysophekadion (Bleeker)

ชื่อวิทยาศาสตร์
Morulius chrysophekadion (Bleeker) วงศ์ Cyprinidae
ชื่ออื่น ๆ
ปลากาดำ (ภาคกลาง); ปลาเพี้ย, ปลาเพลี้ย (ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ); ปลาอีตู๋ (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)
ชื่อสามัญ
Black Shark

ลักษณะทั่วไป เป็นปลาในแหล่งน้ำจืด ลักษณะใกล้เคียงกับปลาตะเพียนและปลาสร้อย มีขนาดกลาง ที่จับได้ทั่วไปยาว ๑๐-๑๓ เซนติเมตร แต่มีบันทึกว่ายาวได้ถึง ๖๐ เซนติเมตร รูปร่าง สีสัน และการกินอยู่อาศัย เทียบได้กับปลาอีก ๒ ชนิดของไทย คือ ปลากาแดงหรือปลาสร้อยหลอด [Epalzeorhynchos frenatus (Fowler)] และปลา (กา) หางแดง ซึ่งบ้างก็เรียกว่า ปลา (กา) ทรงเครื่องหรือปลากาสี [E. bicolor (H.M. Smith)] ที่อยู่ในวงศ์เดียวกัน และพบเห็นเสมอเช่นกัน โดยบ่อยครั้งพบในแหล่งน้ำเดียวกัน จึงทำให้เกิดมีชื่อซ้ำซ้อนกันเมื่อถูกเรียกสั้น ๆ ว่า ปลากา
     อย่างไรก็ตาม นอกจากขนาดที่อาจใช้เป็นข้อแสดงความแตกต่างดังกล่าวแล้ว ปลากาซึ่งอยู่ในสกุล Morulius กับปลาในสกุล Epalzeorhynchos ยังมีลักษณะที่สำคัญอื่น ๆ ที่ใช้ในการจำแนกสกุลให้ต่างจากกันคือ ที่รอบริมฝีปากของปลากามีร่องลึกขวางอยู่ระหว่างส่วนของริมฝีปากบนกับจะงอยปาก และขวางอยู่ระหว่างริมฝีปากล่างกับส่วนเนื้อหนังที่ถัดไปทางท้าย ซึ่งยึดแผ่นปิดเหงือกและแก้มทั้ง ๒ ข้างเข้าด้วยกันทางคอดคอ และปลากายังมีก้านครีบแขนงบนครีบหลัง ๑๕-๑๘ ก้าน ลำตัวและครีบมีพื้นสีดำโดยตลอด แต่ปลากาแดงและปลา (กา) ทรงเครื่องมีริมฝีปากบนและล่าง ต่อเนื่องกับบริเวณข้างเคียงทั้งตอนหน้าและตอนหลังโดยไม่มีร่องแบ่งแยกจากกัน (ซึ่งลักษณะนี้เองยังทำให้ปลาในสกุล Epalzeorhynchos อาจถูกแยกไว้ในวงศ์ย่อย Garrinae ส่วนปลากาอยู่ในวงศ์ย่อย Cyprininae) ยกเว้นที่บริเวณมุมปาก และยังมีก้านครีบแขนงบนครีบหลังเพียง ๑๐-๑๔ ก้าน ส่วนครีบต่าง ๆ และลำตัวไม่มีพื้นสีดำโดยตลอดอย่างปลากา
     ปลากามีลำตัวยาวป้อมดูล่ำสัน แบนข้างเล็กน้อย ขณะยังเล็กจะมีแนวสันหลังโค้งลาดสม่ำเสมอ แต่ก็ยังมากกว่าความโค้งของแนวสันท้องเล็กน้อย ส่วนปลาขนาดตั้งแต่ ๑๕-๒๐ เซนติเมตรขึ้นไป จะมีแนวสันหลังโค้งชันมากขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะที่บริเวณจุดเริ่มต้นของครีบหลัง ความกว้างของลำตัวบริเวณนี้จึงแตกต่างกันมาก เป็น ๑ ใน ๒.๖-๓.๕ ของความยาวหัวและลำตัวรวมกัน ทั้งนี้แล้วแต่ขนาดของปลา ท้องมีลักษณะมนกลม ปลาที่มีขนาดโตขึ้นแนวสันท้อง จะโค้งน้อยลง และเกือบจะเป็นแนวตรงในปลาที่โตมาก ความกว้างและความยาวของคอดหางมีขนาดใกล้เคียงกัน โดยความกว้างเป็น ๑ ต่อ ๑.๖-๑.๗ เท่าของความยาวหัว ซึ่งมีขนาดเล็กและเป็นรูปกรวยเมื่อมองทางด้านข้าง และมีความยาวเป็น ๑ ใน ๓.๒-๓.๗ เท่าของความยาวหัวและลำตัวรวมกัน แนวสันหัวบริเวณเหนือนัยน์ตาแอ่นลงเล็กน้อย ปรกติที่บริเวณปลายหัวจากด้านหน้าของตาจะมีตุ่มของอวัยวะที่เรียกว่า pearl organ ขนาดต่าง ๆ กระจายอยู่โดยทั่วไป ในปลาขนาดโตบางครั้งยังอาจพบตุ่มดังกล่าวกระจายอยู่บนหัวและเลยไปจนถึงส่วนหลังจนจดครีบหลัง ตามีลักษณะกลมอยู่ในแนวประมาณกลางข้างหัวโดยคล้อยไปทางปลายหัวเล็กน้อย และมีขอบกระบอกตาเผยอเด่นชัดเจน ปลาขนาดเล็กตามีสัดส่วนโต ทั้งยังอยู่ใกล้แนวสันหัวมากกว่าปลาขนาดโต ซึ่งจะมีตาเป็นสัดส่วนเล็กกว่า คือ มีเส้นผ่านศูนย์กลาง ๑ ใน ๔.๕-๕.๐ ของความยาวหัวเท่านั้น หรือประมาณ ๑ ใน ๒ ของความยาวจะงอยปาก ขณะเดียวกันก็เป็น ๑ ใน ๒.๕-๓.๐ ของระยะระหว่างตาทั้ง ๒ ข้าง รูจมูกทั้งคู่ในแต่ละข้างจะตั้งอยู่ทางด้านหน้าของตาแต่ชิดไปทางสันหัว


     ปากงุ้มต่ำอยู่ใต้ปลายหัว มีลักษณะโค้งและไม่กว้างนัก ยืดหดได้เล็กน้อย มีส่วนประกอบข้างเคียงที่ทำให้ดูแบนกลม ซึ่งเป็นลักษณะปากซึ่งใช้ประกบดูด ขยุ้มอาหารที่เกาะติดอยู่ตามบริเวณที่หากิน ริมฝีปากหนา ไม่มีฟัน มีแผ่นเนื้อหนังจากจะงอยปากปกคลุมครอบร่องที่ขวางอยู่เหนือริม ฝีปากบนซึ่งมีริ้วเนื้อสั้น ๆ บริเวณริมฝีปากล่างกับร่องที่อยู่ถัดออกไปทางท้ายก็มีริ้วเนื้อรุ่งริ่งเช่นกัน ไม่มีฟันรอบโพรงปาก แต่ถัดเข้าไปที่บริเวณคอหอยมีฟันขนาดใหญ่ รูปร่างงอเป็นขอ เรียงอยู่ ๓ แนวในแต่ละข้าง ใช้ขยับบดอาหารซึ่งส่วนใหญ่เป็นพืชพวกสาหร่าย ซี่กรองเหงือกบนโครงเหงือกอันแรกสั้น มีหนวด ๒ คู่ อยู่บริเวณปลายสุดของขากรรไกรบนและที่เหนือริมฝีปากบนบริเวณ จะงอยปาก ขนาดของหนวดอาจยาวหรือสั้นกว่าเส้นผ่านศูนย์กลางของตา
     ครีบต่าง ๆ ไม่มีก้านครีบที่มีลักษณะเป็นหนามกระดูกแข็ง ครีบหลังใหญ่มากและมีเพียงตอนเดียว ประกอบด้วยก้านครีบเดี่ยวที่อยู่ส่วนหน้าสุด ๓ ก้าน ตามด้วยครีบแขนงอีก ๑๕-๑๘ ก้าน โดยตัวครีบมีจุดตั้งต้นตรงยอดโค้งของแนวสันหลังซึ่งอยู่ตรงข้ามกับจุดเริ่มต้นของครีบท้อง หรือประมาณเหนือส่วนปลายของครีบอก มีฐานลาดต่ำตามแนวสันหลังไปทางด้านท้ายไปสุดที่ประมาณเกือบตรงข้ามกับจุดเริ่มต้นของครีบก้น ขอบด้านหน้าหรือความสูงของครีบหลังมีความยาวมากกว่าหัว ในปลาที่มีความยาวน้อยกว่า ๑๕-๒๐ เซนติเมตร ขอบปลายครีบทางด้านบนจะโค้งหรือเกือบเป็นเส้นตรง ส่วนปลาที่มีขนาดโตกว่านี้ ก้านครีบก้านหน้าจะยื่นยาวจนบางครั้งเห็นปลายเป็นเส้น ทำให้ขอบบนของตัวครีบเว้ามากขึ้นตามขนาดของปลา ครีบอกแนบอยู่ในแนวใกล้สันท้องถัดจากขอบแผ่นปิดเหงือกเพียงเล็กน้อย โดยประกอบด้วยก้านครีบอ่อนเดี่ยว ๑ ก้าน ก้านครีบแขนง ๑๕-๑๗ ก้าน ตัวครีบยาวพอ ๆ กับความยาวหัว ปลายครีบแหลมยื่นไปจดหรือเกือบจดโคนครีบท้องซึ่งปรกติมีขนาดใหญ่กว่าครีบอกเล็กน้อย และประกอบด้วยก้านครีบอ่อนเดี่ยว ๑ ก้าน ก้านครีบแขนง ๘ ก้าน ก้านครีบก้านหน้ายาว เมื่อแนบไปกับแนวสันท้องจะยื่นไปจดครีบก้นซึ่งมีจุดเริ่มต้นอยู่ในแนวประมาณถัดจากปลายฐานครีบหลังพอดีหรือตรงกัน ครีบก้นประกอบด้วยก้านครีบอ่อนเดี่ยว ๓ ก้าน ตามด้วยก้านครีบแขนงอีกเพียง ๕ ก้าน จึงเป็นครีบที่มีจำนวนก้านครีบ น้อยที่สุด ครีบนี้ปรกติมีลักษณะเป็นยอดแหลมทางต้นครีบ ทำให้ตัวครีบมีลักษณะคล้ายเคียว และเป็นอีกครีบหนึ่งที่มีก้านครีบยาวมากกว่าหัว โดยยาวไปจดครีบหางซึ่งมีขนาดใหญ่มากพอ ๆ กับครีบหลัง ครีบหางมีลักษณะเป็นแฉกกว้างและลึก ปลายครีบหางตอนบนและตอนล่างแหลมใน ปลาขนาดเล็ก แต่อาจทู่มนในปลาขนาดโตขึ้น
     เกล็ดเป็นแบบเกล็ดเรียบคลุมตลอดลำตัวและล้ำไปบนครีบหาง ส่วนครีบอื่น ๆ รวมทั้งหัวไม่มีเกล็ดปกคลุม เกล็ดมีขนาดใหญ่พอสมควร เกล็ดหน้าสุดบนสันหลังมีจุดเริ่มในแนวเหนือขอบทางด้านท้ายของตา เส้นข้างตัวเด่นชัด พาดอยู่ในแนวแกนลำตัว โดยลาดต่ำทีละน้อยจากท้ายมุมบน ของแผ่นปิดเหงือกจนผ่านกลางคอดหางซึ่งมีเกล็ด ๒๑-๒๒ แถวเรียงอยู่โดยรอบ เกล็ดตามแนว เส้นข้างตัวมี ๓๘-๔๓ เกล็ด เกล็ดที่เรียงอยู่เหนือเส้นข้างตัวจนถึงแนวสันหลังหน้าครีบหลังมี ๘ แถว และทางด้านล่างจนถึงแนวสันท้องที่หน้าครีบก้นมี ๘*๑/๒ - ๙*๑/๒ แถว ส่วนที่เรียงอยู่ในแนวกลาง สันหลังระหว่างหัวกับครีบหลังมี ๒๐-๒๔ เกล็ด
     สีของปลากามักเห็นกันเป็นสีดำโดยตลอดทั้งหัว ลำตัว และครีบ ตั้งแต่ยังเป็นปลาขนาดเล็ก เมื่อโตขึ้นหากสังเกตให้ดีอาจเห็นเป็นสีม่วงดำหรือน้ำเงินดำ แต่เมื่อเป็นปลาขนาดใหญ่มากอาจเห็นเป็นสีดำออกน้ำตาล ด้านใต้ของส่วนหัวในปลาทุกขนาดจะเห็นเป็นสีจางกว่าเสมอ จุดสีออกเหลืองหรือเหลืองหม่น บ้างก็เห็นเป็นสีเหลืองทองบนเกล็ดข้างตัว จะเริ่มเกิดขึ้นเมื่อปลามีขนาดยาวตั้งแต่ ๑๐-๑๕ เซนติเมตรขึ้นไป หากโตกว่านี้มาก จุดสีดังกล่าวมักเปลี่ยนเป็นสีออกน้ำตาลหรือน้ำตาลแดง ทั้งยังสะท้อนแสงให้เห็นระยับ บริเวณรอบตาดำของปลาชนิดนี้จะมีสีออกเหลืองหรือส้มอ่อน
     เนื่องจากตลอดระยะการเจริญเติบโตจนมีขนาดที่บันทึกกันว่ายาวได้ถึง ๖๐ เซนติเมตร และหนักประมาณ ๘ กิโลกรัม ลักษณะของลำตัว ครีบ และสีของปลากามีความแตกต่างลดหลั่น กันมาก ทั้งยังมีส่วนที่เป็นผลจากอิทธิพลของอาหาร ฤดูกาล และสิ่งแวดล้อม นอกเหนือจากความสับสนของผู้ตั้งชื่อเอง ปลาชนิดนี้จึงมีประวัติความเข้าใจผิดทางด้านอนุกรมวิธานอยู่ไม่น้อย ฉะนั้น เมื่อมีการรวบรวมตัวอย่างปลาชนิดนี้ขนาดต่าง ๆ จากทุกเขตของการกระจายพันธุ์ รวมทั้งตัวอย่างต้นแบบ (type-specimens) ของทุกชื่อที่เคยมีการตั้งกันไว้มาศึกษาเพื่อหาข้อยุติ จึงสามารถสรุปได้ว่า ความแตกต่างในหลายกรณีที่เคยคิดว่าเป็นข้อสำคัญ ใช้แยกชนิดให้ต่างกันนั้น ล้วนยังอยู่ในเกณฑ์ ของความผันแปรที่มีอยู่ในปลากาชนิดนี้ ทั้งจากแหล่งจับเดียวกันหรือต่างแหล่ง ปลาในสกุล Morulius จากเขตไทย จึงยังคงมีเพียงชนิดเดียวเท่านั้น
     ปลากาอาศัยอยู่ในเขตน้ำตื้นหรือชายฝั่งแม่น้ำที่มีลำน้ำสายใหญ่ยาวและไหลลงเสมอ หรือเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ซึ่งอาจเกิดขึ้นโดยการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ เป็นที่น่าสังเกตว่า อ่างเก็บน้ำหรือเขื่อนชลประทานที่สร้างขึ้นโดยการดัดแปลง ปรับปรุงจากที่เดิมซึ่งเป็นหนอง ห้วย แก่ง คลองขนาดเล็ก ปรกติที่ผ่านมายังไม่ปรากฏว่า จะมีปลาชนิดนี้อาศัยแพร่พันธุ์อยู่จนรู้จักกันดี นอกจากจะเป็นการพลัดเข้ามาจากแหล่งน้ำขนาดใหญ่ดังกล่าวในปลายฤดูน้ำหลากคือราวเดือนพฤศจิกายน นอกจากนี้ ตามปรกติก็ยังไม่เคยมีการพบปลาชนิดนี้ในบริเวณเขตน้ำขึ้นลงโดยอิทธิพลจากน้ำทะเลหรือแหล่งน้ำใกล้ทะเล นอกจากจะเป็นในฤดูน้ำหลาก ฉะนั้น ตามบริเวณแม่น้ำสายสั้น ๆ ในเขตจังหวัดภาคใต้และฝั่งด้านตะวันออกของอ่าวไทยทั่วไป จึงยังไม่ปรากฏว่ามีปลาชนิดนี้อาศัยอยู่ ขณะเดียวกันก็เคยมีบันทึกว่าจับได้น้อยครั้งมากในเขตประเทศมาเลเซียซึ่งมีแหล่งน้ำใหญ่หรือแม่น้ำสายยาวน้อยมาก อย่างไรก็ตาม มีการพบปลาชนิดนี้อยู่บ้างตามแม่น้ำในเกาะขนาดใหญ่ เช่น บอร์เนียว ชวา และสุมาตรา สำหรับประเทศอื่นที่ติดต่อกับประเทศไทย ก็มีรายงานว่า พบปลาชนิดเดียวกันนี้ที่กัมพูชา ลาว และเลยไปถึงเวียดนาม จึงอาจกล่าวได้ว่าในเขตภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย รวมทั้งแม่น้ำโขงเป็นแหล่งสำคัญของปลาชนิดนี้ จากหลักฐานการรวบรวมพันธุ์ปลาชนิดนี้ขนาด ๕-๑๕ เซนติเมตร เพื่อซื้อขายกันเป็นปลาสวยงาม ปรากฏว่าเขตลุ่มแม่น้ำ แม่กลองมีการจับลูกปลาชนิดนี้ได้มากที่สุด ในบึงบอระเพ็ดซึ่งมีการปรับปรุงให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์น้ำจืดตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๑ ก็พบว่าในระยะเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ซึ่งเป็นระยะที่น้ำเริ่มลดหลังฤดูน้ำหลาก จะมีปลาขนาด ๗-๑๑ เซนติเมตร หรือยาวกว่านี้แพร่ออกจากบึงลงสู่แม่น้ำน่านและแม่น้ำเจ้าพระยา
     ภาคกลางมีปลากาในแม่น้ำแม่กลองตั้งแต่จังหวัดราชบุรีจนถึงกาญจนบุรี แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำ เจ้าพระยา และแม่น้ำบางปะกง ส่วนภาคเหนือพบปลาชนิดนี้ในแม่น้ำปิง อ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อน ภูมิพล กว๊านพะเยา แม่น้ำน่าน รวมทั้งอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนสิริกิติ์ ในบางท้องถิ่นไม่ค่อยมีผู้นิยมบริโภคปลาชนิดนี้นัก สาเหตุเนื่องจากมีสีดำจนได้ชื่อว่า “กา” เทียบได้กับ “อีกา“ ซึ่งเป็นนกที่มีข้อน่ารังเกียจตามความเชื่อถือ ทั้งยังมีกลิ่นตะไคร่น้ำในเนื้อตัว บ้างจึงว่าเป็นปลารูปชั่วตัวดำ ปริมาณที่จับได้ก็น้อยและไม่สม่ำเสมอ จะมีการซื้อขายกันก็เพียงตลาดในท้องถิ่นหรือผู้จับได้คัดไว้บริโภคเอง อย่างไรก็ตาม ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งพบปลาชนิดนี้อยู่ในแม่น้ำโขง และ แม่น้ำที่ติดต่อกัน เช่น แม่น้ำมูล รวมทั้งอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนสิรินธร แม่น้ำชี และอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนอุบลรัตน์ รวมทั้งแม่น้ำอูน เหล่านี้กลับปรากฏว่า คนในท้องถิ่นนี้นิยมบริโภคปลาชนิดนี้ซึ่ง มีขนาดประมาณ ๑ กิโลกรัม หรือมากกว่านั้นกันมาก โดยถือว่าเป็นปลาชั้นดี เนื้อสีเหลืองน่ารับประทานและปรุงอาหารได้หลายชนิด เครื่องมือประมงที่ใช้ในการจับปลากา มักเป็นอวนชนิดต่าง ๆ ยอ เฝือก และลอบ ไม่ปรากฏว่าจับได้ด้วยเบ็ด
     ปลากาเป็นปลากินพืช โดยเฉพาะที่เป็นสาหร่ายขนาดเล็กทุกชนิด เช่น สาหร่ายสีเขียว สีน้ำเงินแกมเขียว รวมทั้งพวกไดอะตอม และรากพืช เศษซากพืช แม้แต่สัตว์น้ำขนาดเล็กและแมลง หรือตัวอ่อนของแมลงในน้ำ ประกอบกับเป็นปลาที่เจริญเติบโตเร็ว ทนต่อสภาพที่กักขัง ทั้งยังไม่ปรากฏว่ามีนิสัยก่ออันตรายต่อปลาเลี้ยงอื่น ๆ นอกจากนี้ยังสามารถนำปลากาขนาดเล็กมาเลี้ยงเป็นปลาสวยงามที่มีราคามากชนิดหนึ่งของไทยได้ด้วย เนื่องจากความแปลกเด่นที่มีสีดำปลอด มีความอดทนอยู่รอดได้ดีในที่เลี้ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีนิสัยดูดกินตะไคร่น้ำ จึงเป็นการช่วยกำจัดสาหร่าย หรือช่วยทำความสะอาดตู้ไปพร้อม ๆ กับการว่ายวนหากินซึ่งเป็นจุดประสงค์ที่ผู้เลี้ยง จะได้รับความเพลิดเพลินไปด้วย ด้วยข้อดีเหล่านี้ปลากาจึงเป็นปลาที่เหมาะแก่การเลี้ยง ดังนั้น นักวิชาการไทยจึงได้ศึกษาจนประสบความสำเร็จในการผสมเทียมปลากาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๓ โดยใช้วิธีเร่งให้ไข่และน้ำอสุจิของปลาทั้ง ๒ เพศ สุกเร็วขึ้นในระยะเวลาที่ต้องการด้วยฮอร์โมนต่อมใต้สมอง แล้วจึงรีดไข่และน้ำอสุจิให้ผสมกัน
     การศึกษาชีวิตของปลากายังทำให้รู้ว่า ในธรรมชาติปลาชนิดนี้ชอบเลือกวางไข่ในบริเวณที่มี พรรณไม้น้ำขึ้นหนาแน่นในต้นฤดูฝน มีผู้ให้ข้อสังเกตว่า เฉพาะในปลาตัวผู้ที่โตพอสมควร ตรง บริเวณครีบอกจะมีเม็ดเล็ก ๆ กระจายอยู่เป็นปุ่มปมทำให้รู้สึกสากมือ และมีลำตัวเรียวยาวกว่าปลา ตัวเมีย ในฤดูผสมพันธุ์บริเวณท้องของปลาตัวเมียจะอวบอูมและมีสีออกแดงเรื่อ ๆ ปลากาที่มีอายุครบ ๑ ปี จะเริ่มสืบพันธุ์ได้ โดยตัวผู้จะมีความยาวประมาณได้ถึง ๓๐ เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ ๑ กิโลกรัม ส่วนตัวเมียยาวประมาณได้ถึง ๒๕ เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ ๘๐๐ กรัม แต่ปลาอายุ ๒ ปี จะมีความสมบูรณ์และเหมาะที่จะนำมาเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์มากกว่า ปลาตัวเมียที่มีน้ำหนักประมาณ ๑ กิโลกรัม จะมีรังไข่หนักประมาณ ๗๐ กรัม มีไข่ประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ ฟอง ส่วนขนาด ๒.๕ กิโลกรัม จะมีรังไข่หนักประมาณ ๑๖๕ กรัม มีไข่ประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ ฟอง ไข่ ที่ยังไม่ได้รับการผสม โดยเฉลี่ยจะมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑.๓ มิลลิเมตร ตามธรรมชาติ ปลากามักวางไข่ในระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงปลายเดือนสิงหาคม ไข่มีความหนาแน่นใกล้เคียงกับน้ำและล่องลอยตามสายน้ำ จึงจัดเป็นไข่ครึ่งลอยครึ่งจม หากน้ำนิ่งไข่จะจมทำให้เสีย ฉะนั้น ในธรรมชาติปลากาจึงชอบอยู่ในแหล่งน้ำใหญ่ที่น้ำไหลอยู่ตลอดเวลา ในน้ำสภาพปรกติเมื่อไข่ถูก ผสมด้วยตัวอสุจิของตัวผู้แล้วสักพักมันจะมีขนาดใหญ่ขึ้น เส้นผ่านศูนย์กลางขยายเป็น ๓-๕ มิลลิเมตร และจะฟักออกเป็นตัวภายในเวลา ๑๒-๑๕ ชั่วโมง ที่อุณหภูมิของน้ำ ๒๖-๒๘ องศาเซลเซียส เมื่ออายุครบ ๒-๓ วัน ถุงอาหารสะสมจะยุบหมดและลูกปลาเริ่มหาอาหารกินเอง เมื่ออายุได้ ๑๕-๒๐ วัน จึงจะมีอวัยวะครบถ้วน จากความสำเร็จของทางราชการในการผสมเทียม ปลากา ทำให้มีการปล่อยลูกปลาชนิดนี้ลงในแหล่งน้ำหลายแห่งเพื่อเพิ่มประชากร และในขณะเดียวกันก็มีผู้ค้าเป็นปลาสวยงามส่งต่างประเทศ
     การเลี้ยงปลากาจำเป็นต้องใช้บ่อที่มีพื้นที่มากและมีระดับน้ำลึกประมาณไม่ต่ำกว่า ๑ เมตร ปลาจะเจริญเติบโตรวดเร็วเพราะมีนิสัยชอบอยู่โดดเดี่ยว กินอาหารจุและย่อยอาหารเร็ว หากรวมฝูงมักโลดไล่หรือก้าวร้าวกันเช่นเดียวกับปลากาหางแดง มีข้อสังเกตว่าหากสามารถเลี้ยงโดยแยกเพศ ปลาได้ จะเป็นผลดีกว่าเลี้ยงรวมกัน
     เป็นที่น่าสนใจที่มีรายงานว่า ปลาชนิดนี้สามารถทำเสียงทุ้มแหบห้าวได้ในบางครั้ง ประกอบกับมีสีดำโดยตลอด ชาวเขมรจึงให้ชื่อกันในท้องถิ่นของเขาว่า ตฺรีแกฺอก (เตร็ยกะแอก = Trey Kaek) ซึ่งมีความหมายว่า ปลากา ทำนองเดียวกับไทย คือ เทียบเคียงได้กับ (นก) อีกา
     คงจะเป็นด้วยลักษณะของหัวซึ่งเรียวแหลม รวมทั้งครีบต่าง ๆ ที่กว้างใหญ่ดูเด่น ตลอดจนอาการว่ายน้ำฉวัดเฉวียนรวดเร็ว และความคึกคะนองระหว่างปลาชนิดเดียวกัน โดยเฉพาะครีบหลังที่มักกางกว้างเป็นกระโดงสูงเด่นบนหลัง และครีบหางที่มีขนาดใหญ่เช่นกันกับครีบอกที่อยู่ชิดแนวสันท้อง ปลากาจึงมีชื่อสามัญว่า Black Shark โดยเฉพาะในหมู่ผู้ค้าและเลี้ยงปลาสวยงาม.

 

 

 

ชื่อหลัก
กา-ปลา
ชื่อวิทยาศาสตร์
Morulius chrysophekadion (Bleeker)
ชื่อสกุล
Morulius
ชื่อชนิด
chrysophekadion
ชื่อผู้ตั้งชื่อชนิดสัตว์
(Bleeker)
ชื่อวงศ์
Cyprinidae
ชื่ออื่น ๆ
ปลากาดำ (ภาคกลาง); ปลาเพี้ย, ปลาเพลี้ย (ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ); ปลาอีตู๋ (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)
ชื่อสามัญ
Black Shark
ผู้เขียนคำอธิบาย
ศ. ดร.ทศพร วงศ์รัตน์
คำสำคัญ
-
แหล่งอ้างอิง
อนุกรมวิธานสัตว์ อักษร ก กองวิทยาศาสตร์ อนุกรมสัตว์ ก.1.pdf