ลักษณะทั่วไป วัดจากปลายปากถึงปลายหางยาวประมาณ ๕๓ เซนติเมตร เป็นนกที่มีสีดำ ตลอดตัว ปากและขาแข็งแรง กินอาหารทุกชนิด พบทั่วทุกภาคของประเทศในสภาพสิ่งแวดล้อมแตกต่างกัน คือ ตั้งแต่กลางเมืองใหญ่ ๆ จนถึงกลางป่าเขาที่ไม่มีมนุษย์อาศัยอยู่
กานับเป็นนกที่ฉลาดมากชนิดหนึ่ง สามารถฝึกให้เลียนเสียงคนได้เช่นเดียวกับนกแก้วหรือนกขุนทอง เพียงแต่ได้ไม่มากคำนัก มีนิสัยชอบขโมยลูกนกหรือไข่นกอื่นเป็นอาหาร หรือแม้แต่ลูกเป็ดลูกไก่ที่คนเลี้ยงไว้ โดยเหตุนี้จึงถือว่ากาเป็นศัตรูและมักถูกกำจัด
กาทำรังตามต้นไม้สูง ๆ โดยนำกิ่งไม้มาขัดกันอย่างหยาบ ๆ วางไข่ปีละครั้ง คราวละ ๓-๕ ฟอง ไข่สีฟ้าอมเขียว มีกระสีน้ำตาล ตัวเมียกกไข่นานประมาณ ๑๘ วัน จึงฟักออกเป็นตัว ตัวผู้จะหาอาหารมาเลี้ยง หลังจากนั้น ๓-๔ สัปดาห์ ลูกจึงหัดบิน
ปัจจุบันจะพบเห็นกามากที่สุดในใจกลางกรุงเทพฯ นี่เอง คือ บริเวณพระตำหนักจิตรลดา-รโหฐานและสวนสัตว์ดุสิต ประมาณว่ามีอยู่ไม่น้อยกว่า ๑,๐๐๐ ตัว กาฝูงนี้มักแย่งอาหารที่ใช้เลี้ยงสัตว์ชนิดต่าง ๆ และเป็นพาหะนำโรคมาสู่สัตว์ด้วย
แม้กาจะชอบลักขโมยลูกเป็ด ลูกไก่ ที่คนเลี้ยงไว้ แต่บางครั้งก็ทำประโยชน์ให้แก่คนโดยช่วยจิกกินซากสัตว์ตามท้องถนน เช่น หนู แมว สุนัข เป็นการช่วยทำความสะอาดอีกทางหนึ่ง และยังเชื่อกันว่ากระดูกของกาสามารถใช้เป็นยารักษาโรคบางชนิด เช่น กามโรค และโรคหืดได้
กาที่พบในประเทศไทยเป็นชนิดย่อย Corvus macrorhynchos levaillantii Wagler นอกจากนี้ยังมีนกจำพวกกาอีกชนิดหนึ่ง คือ นกแกหรืออีแก (C. splendens Vieillot) ซึ่งมีขนาดเล็กกว่ากาเล็กน้อยและขนบริเวณท้ายทอยลงไปถึงต้นคอมีสีเทา เคยพบทางแถบจังหวัดราชบุรี ในปัจจุบันมีจำนวนน้อยและไม่ใคร่พบกันบ่อยนัก (ดู แก-นก).