ลักษณะทั่วไป เป็นปลาน้ำเค็มขนาดเล็ก ความยาวตลอดตัว ๘-๑๕ เซนติเมตร รูปไข่ยาวเรียว แบนข้าง เกล็ดหนามลักษณะสากมือ เกล็ดตามลำตัวเล็ก ส่วนปากด้านบนไม่มีเกล็ด ปากค่อนข้างเล็ก ริมฝีปากหนาเห็นชัดเจน ลักษณะเด่นอยู่ที่แผ่นปิดเหงือกมีหนามเรียงกันเป็นแถว และใต้ตามีหนามขนาดเล็กจำนวนมาก ฟันรูปกรวยหรือคล้ายลิ่มเรียงกันเป็นแถวเดี่ยวหรือหลายแถว เกล็ดตามแนวขวางลำตัวมีมากกว่า ๕๐ เกล็ด เส้นข้างตัวแยกเป็น ๒ ตอน ตอนแรกเริ่มตั้งแต่หลังแผ่นปิดเหงือกจนถึงใต้ครีบหลัง ตอนหลังอยู่บริเวณคอดหาง ครีบหลังต่อกันเป็นครีบเดียวตลอด ก้านครีบแข็งมี ๙-๑๒ ก้าน ยาวกว่าก้านครีบแขนงมาก ครีบก้นสั้นรูปคล้ายก้านครีบแขนงของครีบหลังและมีก้านครีบแข็ง ๒ ก้าน ครีบหางกลมมนหรือเว้าเข้าเล็กน้อยตอนกลาง บางชนิดมีครีบหางแยกออกเป็น ๒ แฉกชัดเจน ลำตัวสีฉูดฉาดเช่น แดง ส้ม น้ำตาล หรือดำ มีแถบสีขาวพาดขวาง ๑-๓ แถบ แต่มีเพียง ๓ ชนิดที่ไม่มีแถบขาวพาดขวาง ชนิด Amphiprion ephippium (Bloch) มีแถบสีขาวเฉพาะเมื่อเป็นปลาวัยอ่อน เมื่อโตขึ้นแถบนี้จะจางหายไป สีที่ฉูดฉาดนี้ช่วยในการพรางตัวให้เข้ากับสีของปะการัง ทำให้สามารถจำกันเองได้ในระหว่างปลาชนิดเดียวกัน และยังเป็นสีเตือนปลาอื่น ๆ ไม่ให้เข้ามาในอาณาเขต ปลาตัวเมียโตกว่าตัวผู้ บางชนิดตัวเมียโตกว่าตัวผู้หลายเท่า
ปลาการ์ตูนมี ๒๖ ชนิด อาศัยอยู่ร่วมกับดอกไม้ทะเลตามแนวปะการังในบริเวณน้ำตื้น ปรกติพบอาศัยอยู่กับดอกไม้ทะเลขนาดใหญ่ในสกุล Stoichaetis จำนวนปลาต่อดอกไม้ทะเลแต่ละตัวขึ้นอยู่กับขนาดของดอกไม้ทะเล ตามปรกติมักมีปลาขนาดใหญ่ตัวหนึ่ง เข้าใจว่าเป็นปลาตัวเมียอยู่ร่วมกับปลาตัวผู้ที่มีขนาดเล็กกว่าอีกจำนวนหนึ่ง ปลาการ์ตูนจะสร้างสารเมือกขึ้นตามลำตัวเพื่อช่วยป้องกันเข็มพิษจากดอกไม้ทะเล แต่กลไกในการอยู่ร่วมกันโดยปลาไม่ได้รับอันตรายนี้ยังไม่เป็นที่เข้าใจกันดีนัก เมื่อตกใจหรือมีอันตรายปลาการ์ตูนจะมุดเข้าไปหลบอยู่ในกลุ่มหนวดของดอกไม้ทะเล และจะออกมาหากินเมื่ออันตรายผ่านพ้นไปแล้ว แต่ไม่ไปไกลจากดอกไม้ทะเล ดอกไม้ทะเลได้รับประโยชน์จากเศษอาหารที่ปลาการ์ตูนกินเหลือ และยังได้ปลาการ์ตูนช่วยทำความสะอาดให้อีกด้วย ปลาการ์ตูนบางชนิดอาศัยอยู่เฉพาะกับดอกไม้ทะเลชนิดเดียว ในขณะที่บางชนิดอยู่ร่วมกับดอกไม้ทะเลหลายชนิด ปลาการ์ตูนที่นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้โดยไม่ต้องมีดอกไม้ทะเล แต่ถ้าเอาดอกไม้ทะเลชนิดที่เหมาะสมลงไปเลี้ยงร่วมด้วยจะมีชีวิตยืนยาวกว่า
อาหารของปลาการ์ตูนส่วนใหญ่ ได้แก่ สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดเล็ก บางชนิดก็กินสาหร่ายที่ขึ้นบนปะการังด้วย
ปรกติปลาการ์ตูนว่ายน้ำขึ้น ๆ ลง ๆ แบบลูกคลื่น พร้อมกับส่ายตัวไปมาอย่างรวดเร็ว หลายชนิดอาศัยอยู่เป็นคู่ ๆ ลูกปลาวัยอ่อนอยู่รวมกันเป็นฝูงเล็ก ๆ ปลาการ์ตูนวางไข่บนก้อนหินตรงบริเวณใกล้โคนของดอกไม้ทะเล พ่อแม่ปลาจะทำความสะอาดก้อนหินก่อนวางไข่ แล้วคอย เฝ้าดูแลไข่อยู่ตลอดเวลา ลูกปลาที่ออกมาใหม่ ๆ มีขนาดเล็กมาก กินแพลงก์ตอนเป็นอาหาร มักใช้ชีวิตล่องลอยไปตามกระแสน้ำ เคยพบว่าปลาการ์ตูน ๒-๓ ชนิด วางไข่ในตู้เลี้ยงและลูก ๆ เติบโตได้ดี
ในประเทศไทยพบปลาการ์ตูนหลายชนิดอาศัยอยู่ตามแนวปะการังทั้งในบริเวณอ่าวไทยและ มหาสมุทรอินเดีย ต่างประเทศพบแพร่กระจายอยู่ทั่วไปในเขตอินโด-แปซิฟิก ยกเว้นในบริเวณรอบหมู่เกาะฮาวาย ปัจจัยที่มีผลควบคุมการแพร่กระจาย คือ ความทนทานของลูกปลาวัยอ่อนที่จะถูกกระแสน้ำพัดพาไปในทะเลเปิดก่อนไปถึงแนวน้ำตื้นชายฝั่ง ปลาการ์ตูนที่พบว่ามีเขตแพร่กระจายกว้างขวางทั่วทุกบริเวณมี ๑๑ ชนิด ชนิดที่มีเขตแพร่กระจายจำกัดมี ๘ ชนิด และชนิดที่พบอาศัยอยู่เฉพาะตามเกาะใดเกาะหนึ่งอีก ๗ ชนิด
ปลาการ์ตูนที่นำมาเลี้ยงและพบบ่อย ๆ ได้แก่ ชนิด Amphiprion ocellaris Cuvier, A. bicinctus Ruppel, A. clarki (Bennett), A. ephippium (Bloch), A. perideraion Bleeker และ A. sebae Bleeker.