กาบ-หอย

ชื่ออื่น ๆ
หอยกาบน้ำจืด
ชื่อสามัญ
Freshwater Clams

ลักษณะทั่วไป เป็นหอยกาบคู่ มีเปลือกหนาแข็งแรง ส่วนใหญ่รูปร่างยาวรี ขั้วเปลือกอยู่ด้านบน ที่บานพับอาจมีฟันหรือไม่มีฟันก็ได้ ด้านนอกของเปลือกสีเขียวอมเหลือง น้ำตาลเข้ม หรือดำ แล้วแต่ชนิดและอายุของหอย หากอายุยังน้อยเปลือกมักเป็นสีเขียว เมื่ออายุมากขึ้นสีจะเข้มมากขึ้นหรือเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลหรือดำ ส่วนใหญ่ด้านนอกของเปลือกมีร่องตื้น ๆ คล้ายเส้นบาง ๆ ตามแนวยาวของเปลือกเห็นได้ชัด ชั้นมุกของหอยกาบหนามากกว่าหอยชนิดอื่น ๆ เมื่อขัด เอาเปลือกชั้นนอกและชั้นกลางซึ่งค่อนข้างบางออกไป จะได้เปลือกชั้นในสุดที่เป็นมุกลักษณะมันวาว
     หอยกาบมีแผ่นเหงือกรูปทางมะพร้าวอยู่ในช่องระหว่างแผ่นเนื้อ เส้นเหงือกไม่เหยียดตรง เหงือกยาวเกือบตลอดความยาวของตัวหอย ขอบของแผ่นเนื้อซีกซ้ายและขวาเชื่อมต่อกัน ทางด้านท้ายตัวมีท่อน้ำ หอยกาบมีกล้ามเนื้อยึดเปลือก ๒ มัดอยู่ทางด้านหน้าและด้านท้ายของตัว ตีน (foot) ใหญ่และแข็งแรงเหมาะสำหรับขุดพื้นเพื่อฝังตัว
     หอยกาบฝังตัวอยู่ใต้พื้นท้องน้ำตามแหล่งน้ำจืดโดยโผล่ส่วนท้ายขึ้นมาเหนือพื้นเล็กน้อย กินแพลงก์ตอนและตะกอนของอินทรียวัตถุโดยใช้เหงือกกรองอาหาร ขณะที่น้ำผ่านช่องระหว่างแผ่นเนื้อ และผ่านเหงือก เหงือกจะกรองเอาอาหารไว้ สำหรับวัสดุที่ไม่เป็นอาหารซึ่งตกลงในช่องระหว่างแผ่นเนื้อจะถูกขจัดออกเมื่อหอยเปิดฝา อาศัยตามแม่น้ำ ลำคลอง ลำธารจากน้ำตก และบึงขนาดใหญ่
     หอยกาบผสมพันธุ์โดยไม่มีการจับคู่ ตัวผู้จะปล่อยน้ำอสุจิออกมาทางท่อน้ำออก และถูกน้ำพัดพาเข้าทางท่อน้ำเข้าของตัวเมีย ตัวอสุจิจะผสมกับไข่ที่ติดอยู่บริเวณเหงือกของตัวเมีย ทั้งนี้เพราะไข่ของตัวเมียเมื่อเจริญเต็มที่จะเคลื่อนมาติดอยู่บริเวณเหงือก ไข่จะฟักออกมาเป็นตัวอ่อนที่เรียก โกลคิเดียม อันเป็นระยะที่มีกาบเล็ก ๆ ๒ กาบ เปลือกยาว ๐.๑-๕.๐ มิลลิเมตร มีกล้ามเนื้อยึดเปลือก แม่หอยจะปล่อยตัวอ่อนนี้ทางท่อน้ำออก เมื่อถูกกระแสน้ำจากการเคลื่อนไหวของครีบหรือหางของปลา ตัวอ่อนของหอยจะถูกพัดพาเข้าไปทางปากและไปเกาะติดที่เส้นเหงือกของปลา ตัวอ่อน ของหอยบางชนิดสามารถเกาะกับครีบของปลาได้โดยตรง ส่วนตัวอ่อนในช่วงระยะเวลานี้ที่ไม่สามารถ เกาะกับปลาได้ ก็จะตายไปเนื่องจากมีชีวิตอยู่ตามลำพังไม่ได้ หอยกาบจึงดำรงชีวิตเป็นปรสิตของปลาจนกระทั่งมีเหงือกเจริญพอที่จะทำหน้าที่กรองอาหารกินเองได้ จึงผละออกจากปลาจมตัวลงสู่พื้นใต้น้ำเจริญเป็นตัวเต็มวัยต่อไป


     หอยกาบพบแพร่กระจายทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยมีหอยกาบอยู่ไม่น้อยกว่า ๒๐ ชนิด ตั้งแต่ขนาดปานกลางจนถึงขนาดใหญ่ พวกที่มีขนาดใหญ่ได้แก่ หอยกาบดำ [Chamberlainia hainesiana (Lea)] มีเปลือกยาว ๑๘๐-๒๕๐ มิลลิเมตร สูง ๑๒๐-๑๖๐ มิลลิเมตร มีปีกหลัง (posterior wing) สูงใหญ่ รูปร่างค่อนไปทางสามเหลี่ยม ด้านนอกของเปลือกสีเขียวอมน้ำตาล เมื่ออายุมากขึ้นเปลือกจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ หอยกาบที่มีขนาดใหญ่อีกชนิดหนึ่งได้แก่ หอยกาบขาวหรือ หอยกาบส้ม [Hyriopsis (Limnoscapha) myersiana (Lea)] ซึ่งมีขนาดใกล้เคียงกับหอยกาบดำ มีเปลือกรูปยาวรี ด้านหน้าและด้านท้ายมนกลม ปีกหลังค่อนข้างสูงเช่นเดียวกัน แต่มักแตกหักได้ง่ายเมื่อหอยมีอายุมากขึ้น หอยบางตัวจึงไม่มีปีกเหลือให้เห็น เมื่ออายุยังน้อยด้านนอกของเปลือกสีเขียวอมเหลือง และเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มเมื่อมีอายุมากขึ้น เปลือกชั้นนอกบริเวณขั้วเปลือกมักหลุดไปเกิดเป็นรอยด่างสีขาว ด้านในของเปลือกซึ่งเป็นมุกมีสีแตกต่างกันตั้งแต่สีขาวขุ่นไปจนถึงสีส้มอ่อนสวยงามกว่าหอยกาบดำ หอยกาบทั้ง ๒ ชนิด อาศัยตามแหล่งน้ำไหลโดยเฉพาะแหล่งที่อุดมด้วยหินปูน เช่น แม่น้ำน่าน แถบจังหวัดพิษณุโลก แควใหญ่ แควน้อย จังหวัดกาญจนบุรี
     หอยกาบขนาดกลางนั้นได้แก่ หอยกาบกี้หรือหอยกี [Uniandra contradens tumidula (Lea)] ซึ่ง ศ.โชติ สุวัตถิ เคยใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ของหอยชนิดนี้ว่า Nodularia tumidula Lea เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๓ เปลือกมีลักษณะเป็นรูปไข่ ยาว ๓๐-๗๐ มิลลิเมตร สูง ๒๐-๔๐ มิลลิเมตร สีเขียว อมเหลืองหรือน้ำตาลอมเขียว มีร่องตื้น ๆ คล้ายเส้นบาง ๆ เป็นลายละเอียดตามแนวยาวของเปลือก พบในแม่น้ำลำคลองทั่วไปโดยเฉพาะในภาคกลางและภาคใต้
     หอยกาบเป็นหอยน้ำจืดที่สร้างไข่มุกได้ แต่ไข่มุกที่เกิดโดยธรรมชาติมักมีรูปร่างบิดเบี้ยว ได้มีการนำหอยกาบมาเลี้ยงเพื่อผลิตไข่มุกเป็นอุตสาหกรรมโดยเฉพาะในประเทศจีน เปลือกของหอยกาบยังนำมาทำเป็นเครื่องประดับและเครื่องใช้ต่าง ๆ ด้วย เนื้อกินได้.

 

ชื่อหลัก
กาบ-หอย
ชื่อวงศ์
Amblemidae , Unionidae
ชื่ออื่น ๆ
หอยกาบน้ำจืด
ชื่อสามัญ
Freshwater Clams
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ.วันทนา อยู่สุข
คำสำคัญ
-
แหล่งอ้างอิง
อนุกรมวิธานสัตว์ อักษร ก กองวิทยาศาสตร์ อนุกรมสัตว์ ก.1.pdf