ลักษณะทั่วไป เป็นนกขนาดใหญ่ วัดจากปลายปากถึงปลายหางยาวประมาณ ๑ เมตร ปากหนาสีเหลือง ยาวแหลมปลายโค้ง หน้า หัว และคอเป็นหนังสีแดงอมส้ม ไม่มีขน ลำคอสีขาว ตรงหน้าอกมีแถบสีดำพาดขวาง ขนบริเวณหลังสีขาว ตรงช่วงท้ายของลำตัวตอนบนมีขนสีชมพูเหมือนสีกลีบบัวขึ้นแซมอยู่ ปีกสีดำกระขาวสลับขาว ขอบปีกสีดำ ขาสีชมพู ขณะบินจะเห็นขนปีกตรงมุมปีกที่ติดกับลำตัวเป็นสีขาว ถัดมาเป็นสีดำกระขาว และส่วนที่เหลือเป็นสีดำ ลูกนกปากสีเทา ลำตัวสีเทาอมดำ
นกกาบบัวมักหากินเป็นฝูงเล็ก ๆ อยู่ตามชายฝั่งแม่น้ำหรือหนองน้ำ กินสัตว์ขนาดเล็ก เช่น ปลา ปู กบ เขียด หาเหยื่อโดยยืนกางปีก ก้มตัวนิ่ง อ้าปากแช่อยู่ในน้ำ อาจแช่ในระดับลึกถึงตา เมื่อเหยื่อว่ายผ่านมาก็จะงับทันที แล้วใช้โคนปากขบซ้ำจนตาย จากนั้นจึงกระดกเหยื่อไปยังปลายปาก ขบไล่ขึ้นมาถึงโคนปาก แล้วเงยหัวขึ้นเล็กน้อยกระดกให้เหยื่อลงไปในลำคอ
ในฤดูผสมพันธุ์ซึ่งอยู่ระหว่างเดือนกันยายนถึงพฤศจิกายน นกกาบบัวจะจับคู่และช่วยกันสร้างรังด้วยกิ่งไม้แห้ง รังมีลักษณะเป็นแอ่งตื้น ๆ อาจมีเส้นผ่านศูนย์กลางถึง ๑.๕ เมตร มักอยู่บนยอดไม้ ต้นไม้ต้นหนึ่ง ๆ อาจมีรังมากถึง ๑๐-๑๕ รัง วางไข่คราวละ ๒-๓ ฟอง ไข่สีขาวมีกระสีน้ำตาล ขนาดกว้าง ๕.๕ เซนติเมตร ยาว ๗.๗ เซนติเมตร ตัวผู้และตัวเมียผลัดกันกกไข่นานประมาณ ๒๙ วัน จึงฟักออกเป็นตัว ลูกนกเกิดใหม่ตัวสีแดง ต่อมาอีกประมาณ ๑ สัปดาห์ จึงมี ขนอุยสีขาว ในระยะนี้สามารถแยกมาเลี้ยงได้ เมื่ออายุ ๓ สัปดาห์ ขนสีดำอมเทาจึงจะขึ้น และจะขึ้นเต็มตัวเมื่ออายุประมาณ ๕ เดือน เริ่มหัดบินเมื่ออายุ ๖-๗ เดือน และขนจะเปลี่ยนเป็นสีเดียวกับพ่อแม่เมื่ออายุ ๑๒-๑๔ เดือน พ่อและแม่นกจะขยอกอาหารออกมาให้ลูก ขณะที่อาหารกำลังจะหล่นลงบนพื้นรัง ลูกนกก็จะใช้ปากงับทันที แต่ถ้าอาหารหล่นกองอยู่ที่พื้นรังแล้ว มันจะใช้ปากจิกขึ้นมา แล้วจึงกระดกเข้าปากอีกทอดหนึ่ง
ในประเทศไทยพบนกกาบบัวมากทางภาคกลางและภาคใต้ตอนล่าง ต่างประเทศพบในจีนตอนใต้ อินเดีย มาเลเซีย ลาว เขมร
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่หาพบได้ยากในธรรมชาติ ในระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๘-๒๕๓๐ สวนสัตว์ดุสิตสามารถขยายพันธุ์ได้ถึงปีละ ๓๐-๖๐ ตัว โดยมีอัตราการตายเพียงร้อยละ ๑ เท่านั้น.