กาน้อย-นก

ลักษณะทั่วไป คล้ายกาแต่ตัวเล็กกว่า ขนสีดำ ตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะคล้ายกัน กินสัตว์ เช่น นกเล็ก ๆ แมลง สัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็ก แต่บางครั้งก็กินพืชด้วย มีนิสัยดุร้าย สร้างรังวางไข่ในลักษณะเดียวกับกา วางไข่คราวละ ๒-๓ ฟอง ใช้เวลาฟักประมาณ ๑๘ วัน ในประเทศไทยมี นกกาน้อย ๒ ชนิด คือ
     ๑. นกกาน้อยหงอนยาว [Platylophus galericulatus (Cuvier)] ชื่อสามัญ Crested Jay ขนาดประมาณ ๒๖ เซนติเมตร ตาสีน้ำตาล เมื่อยังเล็กขนด้านบนลำตัวและคอสีน้ำตาล ขนหัวปีกเป็นจุดด่าง ๆ สีน้ำตาลแดง ลำตัวด้านล่างสีเทาแก่ มีบั้งแคบ ๆ สีขาว กลางท้องขาว หงอนสั้น แต่เมื่อโตเต็มที่แล้วขนจะเปลี่ยนเป็นสีดำทั้งตัวยกเว้นขนข้างคอทั้ง ๒ ข้างจะเป็นสีขาว ขนหงอนยาวตั้งตรง อยู่รวมกันเป็นฝูงในป่าดงดิบที่ไม่สูงจากระดับน้ำทะเลมากนัก พบเฉพาะทางภาคใต้
     ๒. นกกาน้อยแถบปีกขาว [Platysmurus leucopterus (Temminck)] ชื่อสามัญ White-winged Black Jay, Black Magpie ขนาดประมาณ ๔๐ เซนติเมตร ซึ่งครึ่งหนึ่งเป็นความยาวของหาง ตาสีแดง ขนสีดำตลอดตัว ยกเว้นส่วนกลางของปีกมีแถบสีขาวตามยาว เมื่อยังเล็กไม่มีหงอน แต่เมื่อโตเต็มที่แล้วจะมีหงอนสั้น ๆ อาศัยอยู่ตามป่าทึบทางภาคใต้


     เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองของประเทศไทย.

 

 

ชื่อหลัก
กาน้อย-นก
ชื่อวงศ์
Corvidae
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายสุวัช สิงหพันธุ์
คำสำคัญ
-
แหล่งอ้างอิง
อนุกรมวิธานสัตว์ อักษร ก กองวิทยาศาสตร์ อนุกรมสัตว์ ก.1.pdf