ลักษณะทั่วไป เป็นสัตว์ทะเลจำพวกกุ้งปู วัดจากปลายหน้าสุดของหนวดคู่ที่ ๒ ถึงปลายหางยาวประมาณ ๒๑ เซนติเมตร ลำตัวแบนจากบนลงล่างมาก เปลือกหัวแผ่กว้าง กว้างมากกว่ายาว ปลายหนวดคู่ที่ ๑ แยกเป็น ๒ แฉก ที่โคนหนวดมีแผ่นฐานหนวด (antennular plate) รูป ๕ เหลี่ยมโดยปลายสอบเข้าหากัน โคนแผ่นฐานหนวดแทรกอยู่ในขอบหน้าของเปลือกหัว กรีมีขนาดเล็กและงุ้มลงจึงแทรกอยู่ระหว่างโคนแผ่นฐานหนวด ขอบหน้าปล้องปลายของหนวดคู่ที่ ๒ หยักเป็นหนามขนาดใหญ่ ๒-๕ อัน และเป็นหนามขนาดเล็กตามขอบข้างด้านในอีก ๓-๔ อัน ตาอยู่ใกล้กึ่งกลางลำตัวมากกว่าด้านข้างของลำตัว ขอบด้านหน้าของเปลือกหัวหยักเป็นหนามเล็ก ๆ ๖-๗ อัน และมีหนามเล็กมากแซม มุมขอบหน้าด้านข้างของเปลือกหัวเป็นรอยเว้าลึกและที่ด้านข้างไม่มีหนามเล็ก ๆ แซม ขอบด้านข้างของเปลือกหัวหยักเป็นหนาม ๗-๙ อันซึ่งจำนวนหนามข้างซ้ายและขวามักไม่เท่ากัน สันกลางเปลือกหัวมีตุ่มหนามทู่ ๆ ๔ ตุ่ม ปล้องที่ ๔ ของรยางค์ขากรรไกรหลังคู่ที่ ๓ มีลักษณะโค้งแบนและมีร่องตื้น ๆ มองคล้ายรอยย่นตามขวางทางขอบใน ๖-๗ ร่อง มีขนาดใกล้เคียงกัน ขอบนอกแบนแผ่เป็นหนามแหลมเล็ก ๆ คล้ายฟันเลื่อยเต็มขอบ หนามที่อยู่บนขอบด้านบนของแผ่นเหนือปาก (epistome) เฉพาะอันเดี่ยวที่อยู่ใกล้ปากจะชี้ลงล่าง อีก ๒ อันที่อยู่หน้าอันเดี่ยวปลายชี้ไปข้างหน้า เปลือกหัวคลุมขา ๕ คู่ เมื่อมองจากด้านบนจึงไม่เห็น ขาทุกคู่เรียวเล็กและปลายแหลม ขาคู่แรกใหญ่และสั้นกว่าคู่อื่น ๆ เพียงเล็กน้อย ขาคู่ที่ ๓-๕ มีปล้องปลายสุดเป็นร่องเว้าทางด้านบนและมีขนขึ้นตามขอบร่อง ปลายปล้องที่ ๖ ของขาคู่ที่ ๕ ของตัวเมียเป็นหนามยื่นยาวขนาดไม่เกินครึ่งหนึ่งของความยาวปล้องที่ ๗ (ปล้องสุดท้าย) มีเหงือก ๒๑-๒๘ คู่ แผ่นเปลือกด้านข้าง (pleuron) สอบปลายแหลม ปล้องท้องปล้องที่ ๕ และ ๖ มีขอบท้ายด้านหลังหยักเป็นซี่หนามเล็ก ๆ โดยที่หนามตามปล้องที่ ๕ แหลมและเด่นกว่าของปล้องที่ ๖ สันกลางปล้องท้องที่ ๒-๕ เห็นชัด ปล้องท้องปล้องที่ ๒-๕ มีรยางค์ว่ายน้ำ กั้งกระดานแดงสามารถงอตัวดีดถอยหลังได้
กั้งกระดานแดงอาศัยอยู่ในบริเวณน้ำลึกระดับ ๒๐๐-๔๐๐ เมตร ลำตัวจึงมีสีออกแดงโดยทั่วไปเนื่องจากแสงแดดส่องลงไปไม่ถึง พบแพร่กระจายอยู่ในแถบฝั่งทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย ประเทศญี่ปุ่น จนถึงออสเตรเลีย.