ลักษณะทั่วไป เป็นสัตว์ทะเลจำพวกกุ้งปู วัดจากปลายหน้าสุดของหนวดคู่ที่ ๒ ถึงปลายหางยาว ๑๕-๒๕ เซนติเมตร ตัวผู้ขนาดเล็กกว่าตัวเมียเล็กน้อย เปลือกหุ้มลำตัวค่อนข้างแข็งสีน้ำตาลโดยตลอด ลำตัวแบนจากบนลงล่างมากโดยเฉพาะทางส่วนหน้าของลำตัว เปลือกหัวมีความยาวน้อยกว่าความกว้าง ตาอยู่ที่มุมนอกด้านหน้า แนวกรียกเป็นสันกว้างกลางเปลือกหัวและมีตุ่มหนามตามแนวสัน ๓ ตุ่ม ปลายตุ่มสีน้ำตาลแดง ขอบหน้าของเปลือกหัวต่อจากแนวสันกรีเฉียงลงเล็กน้อยก่อนเฉียงหน้าไปหามุมกระบอกตาซึ่งเป็นหนามแหลม ปลายสันคิ้วซึ่งอยู่ก่อนถึงกระบอกตาด้านบนเป็นหนามแหลมคมและมีหนามตามแนวสันอีกข้างละ ๑ อัน ด้านข้างขอบเป็นตุ่มสันโดยมุมหน้าสุดเป็นหนามแหลม และมีหยักหนามตามแนวด้านข้างอีก ๑ อัน มีแนวสันยกสูงอีกข้างละ ๑ สัน อยู่ใกล้กับขอบด้านข้าง มีเหงือก ๒๑ คู่ ข้อที่ ๔ ของรยางค์ขากรรไกรหลังคู่ที่ ๓ (third maxilliped) เรียบ ไม่มีรอยพับเป็นสันคลื่น ปล้องปลายสุดของขาเดินทั้ง ๕ คู่เป็นแบบปลายแหลม ขาเดินคู่ที่ ๒ เป็นคู่ที่ยาวที่สุด ตัวเมียมีรูเปิดสำหรับปล่อยไข่ที่บริเวณโคนปล้องแรกของขาเดินคู่ที่ ๓ ตัวผู้มีรูเปิดสำหรับถ่ายน้ำอสุจิให้แก่ตัวเมียที่บริเวณโคนปล้องแรกของขาเดินคู่ที่ ๕
ปล้องท้องมีขนาดความยาวใกล้เคียงกันทั้ง ๖ ปล้อง มีแนวสันกลางปล้องเห็นได้ชัดตั้งแต่ปล้องที่ ๒-๕ โดยปลายปล้องที่ ๔ เป็นตุ่มและปลายปล้องที่ ๕ เป็นตุ่มแหลม ด้านท้องของปล้องที่ ๒-๕ มีรยางค์ติดอยู่ที่มุมด้านข้าง ข้างละ ๑ อัน แต่ละอันแยกออกเป็น ๒ แพน แพนนอกกว้างกว่าแพนใน ขนตามขอบรยางค์ท้องของตัวเมียยาวและแพนในมีความกว้างประมาณครึ่งหนึ่งของความกว้างแพนนอก ใช้เป็นที่ฟักไข่ ตัวผู้มีขนตามขอบรยางค์ท้องสั้นและแพนในกว้างประมาณ ๑ ใน ๓ ของแพนนอก ด้านหลังของปล้องท้องเป็นตุ่ม ๆ เรียงเป็นแนวลาย กั้งกระดานสามารถงอตัวดีดถอยหลังได้
กั้งกระดานมีปลีหางใหญ่ลักษณะสี่เหลี่ยมจัตุรัสแบนบาง และมีแพนหาง (uropod) แยกเป็น แพนนอกและแพนในอีกข้างละ ๑ คู่ ขอบหน้าของแพนหางประมาณ ๑ ใน ๔ มีเปลือกแข็ง อีกประมาณ ๓ ใน ๔ เป็นเยื่ออ่อนเช่นเดียวกับกุ้งหัวโขน
กั้งกระดานมีไข่ตลอดปี ไข่ที่ติดอยู่ที่หน้าท้องเป็นไข่ที่ได้รับการผสมน้ำอสุจิแล้ว กั้งกระดานตัวเมียขนาดความยาว ๑๔.๓-๒๕ เซนติเมตร มีไข่ ๖,๓๐๐-๓๗,๐๐๐ ฟอง ไข่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๘๖-๑.๐๔ มิลลิเมตร ตัวอ่อนมีลักษณะแบนบางคล้ายใบไม้ที่มีรยางค์เก้งก้าง เรียกกันทั่ว ๆ ไปว่า ฟิลโลโซมา (phyllosoma)
กั้งกระดานกินสัตว์น้ำขนาดเล็ก เช่น ลูกหมึกทะเล ลูกหอย ปูตัวเล็ก ๆ กั้งกระดานแพร่หลายอยู่ในมหาสมุทรเขตร้อนและเขตอบอุ่นทั่วไป
เนื้อกั้งกระดานมีมากที่ปล้องท้อง ประมาณร้อยละ ๓๒-๔๐ ของน้ำหนักตัว เนื้อแน่นเหนียวกว่าเนื้อกุ้ง ใช้ปรุงเป็นอาหารประจำวันได้เช่นเดียวกับเนื้อกุ้ง