ลักษณะทั่วไป เป็นหอยกาบคู่ เปลือกยาวรี เรียวแหลมไปทางขั้วเปลือกซึ่งอยู่ด้านบน สองข้างของเปลือกแผ่ออกเป็นปีก ปีกหน้าสั้น ปีกหลังยาวแหลม บานพับเป็นแนวยาวและตรง ด้านนอกของเปลือกสีน้ำตาล น้ำตาลอมดำ หรือเกือบดำ ด้านในสีขาวขุ่นและเป็นมันวาวเหมือนมุก ภายในตัวหอยมีกล้ามเนื้อยึดเปลือก (adductor muscle) เพียงมัดเดียวอยู่บริเวณกลางลำตัว ตีนเล็ก ข้างกล้ามเนื้อตีนมีต่อมสร้างรากหอยสำหรับยึดติดกับกิ่งกะละปังหาหรือกัลปังหา ปะการังที่มีลักษณะเป็นกิ่งก้าน หรือก้อนหินที่อยู่ใต้น้ำ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ หอยกัลปังหา
อาหารของหอยกัลปังหาได้แก่ พืชและสัตว์ขนาดเล็ก รวมทั้งสารอินทรีย์ที่ปะปนอยู่ในน้ำ กินอาหารโดยหอยเปิดเปลือกออกและน้ำผ่านเข้าสู่ช่องระหว่างแผ่นเนื้อ (mantle cavity) เหงือกที่อยู่ในช่องระหว่างแผ่นเนื้อจะกรองเอาอาหารไว้ ขนบนซี่เหงือกจะส่งอาหารเข้าสู่ช่องปาก หอย กัลปังหาแพร่พันธุ์โดยเพศเมียปล่อยไข่และเพศผู้ปล่อยน้ำอสุจิลงในน้ำ เป็นการปฏิสนธินอกตัว ไข่ที่ผสมแล้วจะเจริญโดยการแบ่งเซลล์จนเป็นตัวอ่อนลอยอยู่ในน้ำทะเล เมื่อเริ่มมีเปลือกก็จะเข้ายึดติดกับกิ่งกะละปังหาหรือปะการัง
หอยกัลปังหาอาศัยในทะเลเขตร้อนและเขตอบอุ่น สำหรับในประเทศไทยมีหลายชนิด ชนิด ที่มีขนาดใหญ่ ได้แก่ ชนิด Pteria penguin (Röding) ซึ่งมีเปลือกยาว ๑๕๐-๒๐๐ มิลลิเมตร สูง ๑๐๐-๑๕๐ มิลลิเมตร เปลือกด้านนอกสีน้ำตาลเข้ม ด้านในเป็นมันและมีชั้นมุก (nacreous layer) หนา ซึ่งทำให้สร้างไข่มุกได้ดี หอยชนิดนี้มีผู้นำมาเลี้ยงเพื่อผลิตไข่มุก เปลือกที่หนาและแข็งแรงนำไปทำประโยชน์ได้หลายอย่าง อันได้แก่ เครื่องประดับ ของที่ระลึก ส่วนหอยกัลปังหาขนาดเล็กที่มีเปลือกยาว ๔๐-๖๐ มิลลิเมตร สูง ๒๐-๔๐ มิลลิเมตร เปลือกค่อนข้างบาง ด้านนอกสีน้ำตาลหรือน้ำตาลอมเขียว ด้านในมีชั้นมุก อาศัยอยู่ในทะเลที่แสงสว่างส่องถึง ทำให้มีสาหร่ายทะเลเกาะอยู่ตามเปลือกด้วย ที่พบมากได้แก่ ชนิด P. avicula (Holten) และ P. brevialata Dunker.