กัน-หอย

Polymesoda spp.

ชื่อวิทยาศาสตร์
Polymesoda spp. วงศ์ Corbiculidae
ชื่ออื่น ๆ
หอยพอก (ภาคตะวันออก)
ชื่อสามัญ
Marsh Clams

ลักษณะทั่วไป เป็นหอยกาบคู่ เปลือกยาว ๕๐-๑๐๐ มิลลิเมตร สูง ๕๐-๙๐ มิลลิเมตร ขั้วเปลือกอยู่ด้านบน เมื่อยังเล็กอยู่ขั้วเปลือกค่อนข้างแหลม เปลือกด้านหน้าและด้านท้ายกลมมน สีน้ำตาลอมเขียว เมื่อมีอายุมากขึ้นสีเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มหรือดำ ขั้วเปลือกค่อนข้างกลมมนทำให้ตัวหอยมีลักษณะเกือบกลม บริเวณขั้วเปลือกสึกกร่อนจนเห็นเปลือกชั้นกลางเป็นสีขาว เปลือกไม่เรียบ มีเส้นบาง ๆ โค้งเป็นวงในแนวขนานไปกับขอบเปลือกตั้งแต่ขั้วลงมาจนถึงขอบล่าง ด้านท้ายของเปลือกมีร่องตื้น ๆ ๑ ร่องพาดจากขั้วเปลือกเป็นแนวลงมาถึงขอบเปลือก เปลือกชั้นในสุดสีขาว หอยกันจัดเป็นหอยที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่
     หอยกันอาศัยอยู่ในน้ำเค็มและน้ำกร่อยโดยฝังตัวอยู่ใต้พื้นโคลนและดินเลนที่น้ำท่วมถึง มักพบตามบริเวณป่าชายเลนและปากแม่น้ำ หอยจะฝังตัวลึกลงไปในดิน ๓-๕ เซนติเมตร และยื่น ท่อน้ำขึ้นมาเสมอระดับพื้น อาหารของหอยกันเป็นพวกแพลงก์ตอนพืชและแพลงก์ตอนสัตว์ กินอาหารโดยการกรองด้วยเหงือก ตัวเมียปล่อยไข่และตัวผู้ปล่อยน้ำอสุจิลงในน้ำ ปฏิสนธินอกตัว ไข่ที่ผสมแล้วจะเจริญเป็นตัวอ่อนลอยอยู่ในน้ำ แล้วจึงจมตัวลงสู่พื้นเจริญเป็นตัวเต็มวัยต่อไป


     หอยกันใช้เป็นอาหารได้ดีและมีขายในตลาดท้องถิ่น การหาหรือขุดหอยกันกระทำกันในเวลา น้ำลงซึ่งทำให้เดินได้สะดวก ผู้หาหอยต้องมีความชำนาญอยู่บ้างจึงจะสังเกตเห็นได้ หอยกันมีความทนทานมากกว่าหอยกาบคู่ชนิดอื่น ๆ มาก เมื่อเก็บหอยได้มากจนเหลือกินเหลือขาย ก็สามารถเก็บไว้ได้เป็นเวลาหลายวันโดยหอยไม่ตาย บางรายนำหอยมากองไว้ในที่ร่มแล้วสาดน้ำเค็มหรือน้ำกร่อย เพียงวันละ ๑ ครั้ง หอยก็มีชีวิตอยู่ต่อไปได้อีก ๓-๔ สัปดาห์ ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้กินอาหาร เนื้อหอยกันนำมาปรุงอาหารได้หลายอย่าง เช่น ผัดใบกะเพรา ยำ ต้มยำ แกงเผ็ด แกงส้ม หรือจะนำมาดองในน้ำปลาหรือน้ำส้มเพื่อเก็บไว้รับประทาน นอกจากเป็นอาหารของคนแล้ว ลิงแสมที่อาศัยอยู่ตาม ต้นไม้บริเวณป่าชายเลนก็รู้จักวิธีเก็บหอยมากิน เมื่อเก็บหอยมาได้ลิงแสมจะเอาหอย ๒ ตัวมากระแทกกันแรง ๆ จนเปลือกแตกแล้วล้วงเอาเนื้อไปกิน
     หอยกันพบทั่วไปในทวีปเอเชีย อเมริกา ออสเตรเลีย และหมู่เกาะในทะเลเขตร้อน สำหรับในประเทศไทยมีอยู่ ๔ ชนิดด้วยกัน คือ ชนิด Polymesoda (Gelonia) bengalensis (Lamarck), P. (Gelonia) galatheae (Mürch), P. (Gelonia) coaxans (Gmelin) และ P. (Gelonia) proxima (Prime) พบตามชายฝั่งอ่าวไทย เช่น ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี นราธิวาส บริเวณฝั่งตะวันออกของ อ่าวไทยพบที่จังหวัดระยอง จันทบุรี ตราด แต่ที่พบมากคือตามชายฝั่งทะเลอันดามัน เช่น จังหวัดพังงา กระบี่.

 

 

ชื่อหลัก
กัน-หอย
ชื่อวิทยาศาสตร์
Polymesoda spp.
ชื่อสกุล
Polymesoda
ชื่อชนิด
spp
ชื่อวงศ์
Corbiculidae
ชื่ออื่น ๆ
หอยพอก (ภาคตะวันออก)
ชื่อสามัญ
Marsh Clams
ผู้เขียนคำอธิบาย
รศ.วันทนา อยู่สุข
คำสำคัญ
-
แหล่งอ้างอิง
อนุกรมวิธานสัตว์ อักษร ก กองวิทยาศาสตร์ อนุกรมสัตว์ ก.1.pdf