ลักษณะทั่วไป เป็นลิงหางสั้น วัดจากหัวถึงโคนหางยาว ๔๗.๐-๕๘.๕ เซนติเมตร หางยาว ๑๔-๒๓ เซนติเมตร น้ำหนัก ๓.๕-๙.๐ กิโลกรัม ตัวผู้มักมีขนาดใหญ่กว่าตัวเมีย ๒-๓ เท่า หน้าของลิงกังค่อนข้างยาว ขนบนหัวสั้น สีเทาหรือน้ำตาล ขึ้นแผ่บานออกมาทางด้านข้าง กลางกระหม่อมมีจุดลักษณะคล้ายแผลเป็น เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๕ มิลลิเมตร ไม่มีขน ขนที่แก้มและขมับชี้ไปทางด้านข้างเฉียงขึ้นเล็กน้อย ลำตัวใหญ่ ขนสั้นสีน้ำตาลค่อนข้างยาว ขนใต้ท้องสีจางกว่าขนบนหลัง อาจจางจนเกือบเป็นสีขาว หางเล็กสั้นคล้ายหางหมู ขณะกลัวหรือตกใจหางจะงอลง เมื่อโกรธหรือต่อสู้กันหางจะงออยู่บนหลัง ขนที่บริเวณหน้าจะลู่ไปทางด้านหลังและเลิกคิ้วขึ้น เมื่อกลัวหรือจำได้จะเม้มริมฝีปากบนแน่นจนเป็นสัน เงยหน้า เลิกคิ้ว และยื่นปากมาข้างหน้า บางครั้งจะเอามือจับขาหรือกอดลำตัวแน่น งอตัว พร้อมกับส่งเสียงร้องดัง “แจ๊บ ๆ” ตัวผู้มีเส้นสีแดงพาดตั้งแต่ใต้ก้นมาจนถึงอวัยวะเพศ ส่วนตัวเมียที่บริเวณโคนหางและโคนขาหลังด้านในมีสีแดง ซึ่งในระยะเป็นสัดจะบวมและแดงจัด ปรกติลิงกังจะเดินหรือยืน ๔ ตีน สามารถยืนตัวตรงด้วยขาหลังทั้งสองได้ สูตรฟัน ๒/๒ ๑/๑ ๒/๒ ๓/๓ * ๒ = ๓๒
ลิงกังมักอยู่เงียบ ๆ ไม่ค่อยซุกซน ค่อนข้างฉลาด สามารถนำมาฝึกหัดให้ขึ้นเก็บมะพร้าวได้ทั้งตัวผู้และตัวเมียแต่ต้องนำมาฝึกตั้งแต่อายุยังน้อย ส่วนมากมักใช้ตัวผู้เพราะมีเขี้ยวยาวใช้ช่วยกัดขั้วมะพร้าวให้หลุดออกได้คล่องแคล่วกว่าใช้มือและตีนปลิดและมีกำลังมากกว่าตัวเมีย ปรกติในธรรมชาติลิงกังจะอยู่รวมกันเป็นฝูงเล็ก ๆ ๖-๗ ตัว แต่อาจมีมากถึง ๔๐ ตัว บางตัวอาจออกหากินตามลำพังไม่รวมฝูง ลิงกังมักอาศัยอยู่ตามป่าเชิงเขา อยู่ไม่ค่อยเป็นที่ มักออกท่องเที่ยวไปเรื่อย ๆ ลิงกังนอนบนต้นไม้แต่จะอยู่บนพื้นดินมากกว่า เมื่อส่งเสียงร้องจะร้องรับกันทั้งฝูง
ลิงกังกินผลไม้ ใบไม้อ่อน เมล็ดพืช แมลงต่าง ๆ และสัตว์เล็ก ๆ เวลากินอาหารมักรีบใช้มือจับอาหารใส่ปากแล้วเก็บไว้ที่กระพุ้งแก้มทั้ง ๒ ข้าง หลังจากพอแล้วจึงไปนั่ง ค่อย ๆ ใช้มือดันเอาอาหารออกมาเคี้ยวกลืนทีละน้อย ๆ
ลิงกังตัวผู้โตเต็มที่พร้อมที่จะผสมพันธุ์ได้เมื่ออายุ ๔*๑/๒ ปี ตัวเมียเมื่ออายุ ปี ตั้งท้องนานประมาณ ๖ เดือน ออกลูกครั้งละ ๑ ตัว ลูกจะเกาะติดอยู่กับอกแม่เพื่อดูดนมนานประมาณ ๘ เดือน เริ่มกินอาหารได้เมื่ออายุประมาณ ๒ เดือน มีอายุประมาณ ๓๐ ปีลิงกังมีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศพม่า ไทย ลาว เวียดนาม อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ในประเทศไทยพบทั่วไปทุกภาคยกเว้นภาคกลาง มี ๒ ชนิดย่อย คือ
๑. ชนิดย่อย Macaca nemestrina nemestrina (Linn.) กะโหลกยาว ตาจมลึกไปข้างหลังทำให้มองดูเหมือนปากยื่นยาวมาข้างหน้า เขี้ยวใหญ่ ขนที่หลังสีน้ำตาลเข้ม พบทางภาคใต้บริเวณใต้จังหวัดตรังลงไป
๒. ชนิดย่อย Macaca nemestrina leonina (Blyth) ปากเล็ก เขี้ยวเล็ก ขนที่หลังสีไม่เข้ม พบเหนือจังหวัดตรังขึ้นมา
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองของประเทศไทย.