ลักษณะทั่วไป กะละปังหาประกอบด้วยสัตว์ทะเล ๒ ชั้นย่อย (subclass) ซึ่งมีลักษณะแตกต่างกันมาก คือ
๑. ชั้นย่อย Alcyonaria หรือ Octocorallia ตัวโพลิป (polyp) เป็นรูปถ้วย ค่อนข้างสั้น ประกอบด้วยเนื้อเยื่อ มีหนวด ๘ เส้นอยู่รอบปาก แต่ละเส้นมีแขนงสั้น ๆ แผ่ออกไป ๒ ข้างคล้ายขนนก มีผนังในช่องลำตัว ๘ ผนัง มีร่องน้ำ (siphonoglyph) ให้น้ำไหลเข้าภายในช่องตัวทางด้านล่าง ๑ ช่อง เพื่อช่วยในการหายใจ ส่วนใหญ่อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม (colony) โดยเกิดอยู่ทางด้านข้างของโครงร่าง ภายในโครงร่างมีแกนลักษณะเป็นขวาก (spicule) เล็ก ๆ เชื่อมประสานกัน หรือเป็นสารกอร์โกนิน (gorgonin) หรือประกอบด้วยทั้ง ๒ อย่าง โครงร่างแข็ง มีหลายสี แผ่ขยายเป็นกิ่งก้านสาขาขึ้นมาจากส่วนที่คล้ายลำต้นสั้น ๆ ที่อยู่บนแผ่นแบนซึ่งทำหน้าที่ยึดกับพื้นที่เกาะ หรืออยู่บนกระจุกคล้ายรากไม้ที่แทรกลงไปในพื้นที่เกาะโดยตรง ขนาดของโครงร่างแตกต่างกันไป มีตั้งแต่ ๒-๓ เซนติเมตร จนถึง ๒-๓ เมตร เป็นที่อาศัยของสัตว์ทะเลอื่น ๆ หลายชนิด
ขวากประกอบด้วยสารประกอบของแคลเซียมหรือซิลิคอน ส่วนสารกอร์โกนินเป็นโปรตีนมีลักษณะคล้ายคลึงกับสารเคอราทิน (keratin) ซึ่งเป็นส่วนประกอบของเขาสัตว์ แต่มีธาตุกำมะถันต่ำกว่ามาก ปรกติมีธาตุโบรมีนและไอโอดีนอยู่กับไทโรซิน (tyrosin) ซึ่งเป็นกรดแอมิโนชนิดหนึ่ง
กะละปังหาชั้นย่อยนี้อาศัยอยู่ในน้ำตื้นจนถึงระดับน้ำลึกประมาณ ๑,๐๐๐ เมตร แต่ส่วนใหญ่พบในบริเวณน้ำตื้นชายฝั่งในเขตอินโด-แปซิฟิกโดยเฉพาะบริเวณหมู่เกาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ยังมีในเขตร้อนของมหาสมุทรแอตแลนติกและหมู่เกาะเวสต์-อินดีสอีกด้วย
กะละปังหาที่สำคัญในชั้นย่อยแรก คือ กะละปังหาแดง (Corallium rubrum Linn.) วงศ์ Corallidae ชื่ออื่น ๆ กะรังหินสีแดง, ปะการังแดง ชื่อสามัญ Red Coral สีชมพูเรื่อ ๆ หรือสีแดง พบเกาะอยู่กับก้อนหินใต้ทะเลในระดับความลึกตั้งแต่ ๓๐-๒๔๐ เมตร ในบริเวณทะเลเมดิเตอร์เรเนียน พบชุกชุมทางด้านชายฝั่งทวีปแอฟริกา รอบเกาะซาร์ดิเนีย เกาะคอร์ซิกา และชายฝั่งทะเลบางแห่งของประเทศอิตาลี นอกจากนี้ยังพบมีนอกชายฝั่งประเทศญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์ที่ระดับความลึก ๓๐-๒๐๐ เมตร แกนโครงร่างแข็งสีแดงมีค่ามาก ซื้อขายกันมาตั้งแต่ครั้งโบราณ โดยพ่อค้าชาวอาหรับนำไปขายทั่วทั้งทวีปเอเชียและยุโรป ชาวประมงเก็บกะละปังหาแดงโดยใช้ตะขอที่ออกแบบเป็นพิเศษเกี่ยวขึ้นมาจากก้นทะเล นำไปใช้ในวงการอุตสาหกรรมเครื่องประดับ
๒. ชั้นย่อย Zoantharia หรือ Hexacorallia ตัวโพลิปเป็นรูปทรงกระบอกสั้น มีหนวดที่ไม่มีแขนงสั้น ๖ เส้น เรียงกันเป็นวงกลม ผนังภายในช่องลำตัวมีจำนวน ๖, ๑๐ หรือ ๑๒ ผนัง มีร่องน้ำให้น้ำไหลเข้าภายในช่องลำตัว ๒ ช่อง มีทั้งชนิดที่อยู่โดดเดี่ยวและอยู่เป็นกลุ่ม ชนิดที่อยู่เป็นกลุ่มตัวโพลิปอาจอยู่ชิดกันหรือห่างกัน โดยตำแหน่งอาจกระจายไปทั่ว ๆ หรือเรียงอยู่ด้านใดด้านหนึ่งของกิ่งโครงร่าง โครงร่างแข็ง สีดำ เนื้อคล้ายเขาสัตว์ แตกกิ่งก้านสาขาคล้ายคลึงกับชั้นย่อยแรก ภายในไม่มีขวาก ขนาดของโครงร่างแตกต่างกันเช่นเดียวกับชั้นย่อย Alcyonaria และเป็นที่อาศัยของสัตว์ทะเลอื่น ๆ หลายชนิดเช่นกัน
กะละปังหาในชั้นย่อยนี้อาศัยอยู่ในระดับน้ำลึกประมาณ ๑๐๐ เมตรขึ้นมา พบชุกชุมในทะเลเขตร้อนและเขตกึ่งร้อน
กะละปังหาที่สำคัญในชั้นย่อยที่ ๒ ได้แก่ กะละปังหาดำ (Antipathes spp.) วงศ์ Antipathidae ชื่ออื่น ๆ กะรังหนังสีดำ, ปะการังดำ ชื่อสามัญ Black Coral, Leathery Coral, Horny Coral สีดำเป็นมัน ปรกติอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม โครงร่างแตกสาขาออกคล้ายกิ่งไม้ ตามธรรมชาติเกิดในน้ำใส ความลึกประมาณ ๑๕ เมตร ในอ่าวไทยพบมีประปรายทั่วไปทั้งในทะเลด้านทิศตะวันออก เช่น จังหวัดจันทบุรี ระยอง ชลบุรี และทะเลด้านทิศตะวันตก เช่น จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ การเก็บกะละปังหาดำใช้วิธีดำน้ำลงไปเก็บจากพื้นทะเล เมื่อนำขึ้นจากน้ำทะเลใหม่ ๆ สามารถดัดได้ โดยลนกับไอน้ำร้อน กิ่งขนาดใหญ่ใช้ทำไม้เท้า ส่วนแขนงเล็ก ๆ นำมาวงเป็นกำไลข้อมือและแหวน กะละปังหาดำชนิดที่รู้จักกันดีมาตั้งแต่ครั้งโบราณคือ ชนิด A. arborea Dana พบในทะเลแดง ส่วนชนิดที่พบในน่านน้ำไทย ได้แก่ ชนิด A. ternatensis L. Schultze และ A. abies Linn. ชนิดสุดท้ายนี้ชาวเกาะลังกาวีเรียกว่า กะลัมปังหา เชื่อกันว่า หากผู้ใดมีกะละปังหาดำไว้ในครอบครองหรือใช้เป็นเครื่องประดับแล้ว ย่อมนำโชคดีมาสู่เจ้าของเสมอ ทั้งยังมีอิทธิฤทธิ์ช่วยคุ้มกันและขับไล่ภูตผีปีศาจและสิ่งชั่วร้ายได้อีกด้วย
กะละปังหากินสัตว์ชนิดอื่น ๆ ซึ่งส่วนใหญ่ยังมีชีวิตอยู่ โดยการใช้เข็มพิษ (nematocysts) แทงจนเป็นอัมพาต แล้วใช้หนวดที่มีสารเหนียวจับเหยื่อส่งเข้าช่องปาก หากเหยื่อมีขนาดใหญ่ จะใช้หนวดหลายเส้นช่วยกันยึดจนกว่าเหยื่อจะหยุดดิ้น
กะละปังหาหายใจทางผิวหนังทั้งด้านนอกและด้านในช่องลำตัว ตลอดจนหายใจทางผิวของหนวดได้อีกด้วย
กะละปังหาสืบพันธุ์ได้ทั้งแบบไม่อาศัยเพศและอาศัยเพศ แบบไม่อาศัยเพศใช้การยืดบางส่วนของแผ่นยึดที่ตีนออกมา แล้วตรงรอยต่อกับตัวแม่คอดลงจนขาดออกจากกัน ส่วนที่หลุดออกมาจะเจริญเติบโตเป็นตัวโพลิปขนาดเล็กต่อไป ส่วนการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศนั้น ตัวโพลิปที่โตเต็มที่จะสร้างเซลล์สืบพันธุ์ขึ้นภายในตัวแต่ละตัว หรือสร้างเซลล์สืบพันธุ์ทั้งตัวผู้และตัวเมียในตัวเดียวกัน เซลล์สืบพันธุ์ได้แก่ไข่และน้ำอสุจิเกิดอยู่บนผนังในช่องลำตัว การผสมเกิดภายในช่องลำตัว หรืออาจปล่อยออกมาผสมกันภายนอกตัวก็ได้ ไข่ที่ได้รับการผสมจะเจริญเติบโตจนกระทั่งฟักออกมาเป็นตัวอ่อนพลานูลา (planula larva) ซึ่งมีลักษณะเป็นก้อนกลม มีขนโดยรอบ ลอยไปมาได้อย่างอิสระ อันเป็นระยะเมดูซา (medusa) ระหว่างที่ลอยไปมีการเจริญเติบโตสร้างผนังในช่องลำตัวและรูปร่างภายนอกจนมีรูปร่างเป็นตัวโพลิปคล้ายพ่อแม่จึงลงมาเกาะยึดสร้างหนวดขึ้นมารอบช่องปากและเจริญเติบโตต่อไป.