กะพง-ปลา

ลักษณะทั่วไป เป็นปลาน้ำเค็มและน้ำกร่อยที่มีรูปร่างโดยทั่วไปคล้ายคลึงกัน ลำตัวหนา แบนข้างเล็กน้อย หัวโต ลาดลงมาจากด้านหลัง ตาค่อนข้างโต ปากกว้าง มีฟันคล้ายเขี้ยวและฟันแหลมเล็กหลายซี่ บางชนิดมีฟันที่เพดานปากด้วย เกล็ดบนลำตัวค่อนข้างโตเป็นเกล็ดหนาม ครีบหลังยาว มี ๒ ตอน ตอนหน้าเป็นก้านครีบแข็ง ตอนหลังเป็นก้านครีบแขนงที่มีรูปร่างคล้ายครีบก้น ครีบอกยาว ปลายครีบเรียวแหลม ครีบก้นมีก้านครีบแข็งอยู่ตอนหน้า
     ปลากะพงกินสัตว์อื่น ๆ ส่วนใหญ่ได้แก่ปลาชนิดต่าง ๆ ปู กุ้ง หอย และหมึก มีปลากะพงหลายชนิดที่กินพวกแพลงก์ตอนด้วย
     ปลากะพงหลายชนิดออกหากินเป็นฝูงเล็ก ๆ ตามพื้นท้องทะเลหรือกองหินใต้น้ำ ส่วนใหญ่ อยู่ตามแนวปะการังและซากเรือที่จมอยู่ใต้น้ำ มีเพียง ๒-๓ ชนิดที่อาศัยอยู่บริเวณน้ำกร่อยในป่าชายเลนและปากแม่น้ำ หรือในบริเวณทะเลลึกไกลจากฝั่ง
     ปลากะพงจัดเป็นปลาที่มีความสำคัญมากทางเศรษฐกิจในเขตร้อนของโลก เนื้อมีรสชาติดี นิยมใช้ปลาสดปรุงอาหาร บางท้องที่นำไปทำปลาเค็มและปลาแห้ง แต่เนื้อปลากะพงในบางท้องที่อาจมีพิษต่อคนได้ นอกจากนี้ยังนิยมตกปลากะพงเป็นกีฬาอีกด้วย
     ในประเทศไทยพบปลากะพงหลายชนิด เช่น
     ๑. ปลากะพงขาว [Lates calcarifer (Bloch)] วงศ์ Centropomidae หรือ Latidae (ดู กะพงขาว-ปลา)
     ๒. ปลากะพงขี้เซา [Lobotes surinamensis (Bloch)] วงศ์ Lobotidae ชื่ออื่น ๆ ปลากะพงดำ, ปลาตะกรับทะเล, ปลาอีโป ชื่อสามัญ Brown Tripletail, Black Tripletail, Jumping Cod, Flasher ความยาวตลอดตัว ๓๐-๔๐ เซนติเมตร รูปร่างคล้ายปลากะพงขาว แต่ลำตัวค่อนข้างกว้างและสั้นกว่า หัวเล็ก ตาเล็กมาก ขอบกระดูกแผ่นปิดเหงือกเป็นหยักหยาบคล้ายฟันเลื่อย เกล็ดใหญ่และหนา ปากกว้าง ฟันเล็กคม ฟันแถวนอกใหญ่ ครีบหลังมี ๒ ตอน ตอนหน้าเป็นก้านครีบแข็งมี ๑๒ ก้าน ตอนหลังเป็นก้านครีบแขนงมี ๑๕-๑๖ ก้าน ครีบก้นมีก้านครีบแข็ง ครีบหลังและครีบก้นกลมมนและแผ่ออกกว้างมาก ครีบหางกลม รูปคล้ายพัด ลำตัวสีน้ำตาลคล้ำ ท้องสีจางกว่า บางตัวมีจุดสีเข้มอยู่ตามลำตัว ครีบต่าง ๆ สีเทา ยกเว้นครีบอกสีขาวเหลือง ครีบหางมีขอบสีขาว

 


     ปลากะพงขี้เซาอาศัยอยู่ตามหน้าดินและกองหินใต้น้ำ พบชุกชุมมากตามชายฝั่งอ่าวไทยด้านตะวันออก เช่น จังหวัดชลบุรี ระยอง และจันทบุรี บางครั้งเข้ามาหากินตามปากแม่น้ำ มีเขตแพร่กระจายในมหาสมุทรแอตแลนติกด้านตะวันตก มหาสมุทรอินเดีย และมหาสมุทรแปซิฟิกตั้งแต่ประเทศญี่ปุ่นลงมาจนถึงอินโดนีเซีย
     ๓. ปลากะพงเหลืองข้างปาน [Lutjanus fulviflamma (Forsskal)] วงศ์ Lutjanidae ชื่ออื่น ๆ ปลากะพงแดง, ปลาปาน ชื่อสามัญ Blackspot Snapper, Onespot Golden Snapper, Blackspot Sea Perch ความยาวตลอดตัว ๑๕-๒๕ เซนติเมตร ลำตัวอ้วนและสั้นกว่าปลากะพงขาว หัวค่อนข้างกว้าง ปากกว้าง ฟันแถวนอกบนขากรรไกรเป็นฟันคล้ายเขี้ยว ซึ่งซี่ที่ขากรรไกรล่างใหญ่กว่าซี่ที่ขากรรไกรบน ส่วนฟันแถวในเป็นฟันเล็กแหลม ฟันที่เพดานปากเรียงกันเป็นรูปกรวยหรือเป็นรูปร่ม เกล็ดค่อนข้างใหญ่ เกล็ดเหนือเส้นข้างตัวมี ๗ แถว เกล็ดตามเส้นข้างตัวมี ๔๖-๕๐ เกล็ด ครีบหลังมี ๒ ตอน ตอนหน้าเป็นก้านครีบแข็งมี ๑๐ ก้าน ตอนท้ายเป็นก้านครีบแขนงมี ๑๒-๑๔ ก้าน ครีบอกยาว ปลายแหลม ครีบก้นมีก้านครีบแข็ง ๓ ก้านและก้านครีบแขนง ๘ ก้าน ครีบหางตัดตรงหรือเว้าเข้าเล็กน้อย ลำตัวตอนบนสีน้ำตาล ด้านข้างสีน้ำตาลอ่อน ท้องสีออกขาวจนถึงเหลือง บางตัวตอนบนสีเหลืองเข้มและค่อย ๆ จางลงไปทางท้อง ด้านข้างลำตัวมีลายเส้นขนาดเล็กสีเหลือง ๖-๗ เส้น พาดตามความยาวลำตัวจากหัวไปสุดที่คอดหาง ตัวที่มีอายุน้อยไม่พบลายเส้นนี้ มีจุดสีดำขนาดใหญ่ ๑ จุดบนเส้นข้างตัว อยู่ใต้ฐานของครีบหลังตอนหลัง ครีบทุกครีบสีเหลืองหรือเขียวคล้ำ ครีบหลังและครีบหางมีขอบสีชมพู
     ปลากะพงเหลืองข้างปานอาศัยอยู่ทั่วไปตามกองหินใต้น้ำหรือแนวปะการัง ที่ระดับความลึก ๓-๓๕ เมตร พบลูกปลาบริเวณน้ำกร่อยในป่าชายเลนหรือปากแม่น้ำ กินพวกปลา กุ้ง ปู และสัตว์น้ำอื่น ๆ มีการแพร่กระจายตั้งแต่ชายฝั่งด้านตะวันออกของทวีปแอฟริกา ตลอดประเทศอินเดียไปจนถึงอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไต้หวัน ลงไปทางทิศใต้ถึงประเทศออสเตรเลีย

 

 



     ๔. ปลากะพงแดง ชนิด Lutjanus johnii (Bloch) วงศ์ Lutjanidae ชื่ออื่น ๆ ปลาปาน, ปลาอั้งเกย ชื่อสามัญ John’s Snapper, John’s Sea Perch ความยาวตลอดตัว ๓๐-๖๐ เซนติเมตร ลักษณะคล้ายปลากะพงเหลืองข้างปาน เกล็ดที่อยู่เหนือเส้นข้างตัวโค้งขนานกับเส้นข้างตัว ส่วนเกล็ดที่อยู่ใต้เส้นข้างตัวเรียงตัวตรงไปตามแนวนอน เกล็ดเหนือเส้นข้างตัวมี ๖ แถว เกล็ดตามเส้นข้างตัวมี ๔๘-๕๐ เกล็ด ครีบหลังตอนหน้าเป็นก้านครีบแข็งมี ๑๐ ก้าน ครีบหลังตอนท้ายเป็นก้านครีบแขนงมี ๑๓-๑๔ ก้าน ครีบก้นมีก้านครีบแข็ง ๓ ก้านและก้านครีบแขนง ๘ ก้าน ลำตัวสีน้ำตาลอมส้ม มีจุดสีน้ำตาลเข้มอยู่กึ่งกลางเกล็ดทุกเกล็ดทำให้ดูเป็นลายพาดยาวไปตามความยาวลำตัว มีจุดสีดำเป็นปื้นใหญ่ตรงบริเวณเส้นข้างตัวอยู่ใต้ฐานของครีบหลังตอนหลัง ปลาที่โตเต็มที่แล้วจุดสีดำนี้จะจางหายไป ครีบอกและครีบท้องสีชมพู ส่วนครีบอื่น ๆ สีเหลืองอ่อน
     ปลากะพงแดงชนิดนี้อาศัยอยู่ตามพื้นท้องทะเลและกองหินใต้น้ำในอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ลูกปลาอยู่ในบริเวณป่าชายเลน เคยมีรายงานว่าวางไข่ในเดือนกันยายนในทะเลอันดามันและมีการแพร่กระจายทั่วเขตอินโด-แปซิฟิก ตั้งแต่ทวีปแอฟริกาด้านตะวันออกจนถึงหมู่เกาะฟิจิ และจากเกาะริวกิวลงไปถึงทะเลเขตร้อนของประเทศออสเตรเลีย
     ๕. ปลากะพงแดง ชนิด Lutjanus malabaricus Schneider วงศ์ Lutjanidae ชื่ออื่น ๆปลาแดง, ปลาอั้งจ๊อ ชื่อสามัญ Malabar Blood Snapper, Malabar Red Snapper, Scarlet Sea Perch ความยาวตลอดตัว ๓๐-๖๕ เซนติเมตร ขนาดที่พบทั่วไปประมาณ ๕๐ เซนติเมตร ลำตัวแบนข้าง สันหัวลาดลงไปสู่ปาก ส่วนปากด้านบนตรงหรือเว้าเล็กน้อย กระดูกแผ่นปิดเหงือกกว้างกว่าความกว้างของตา ขอบกระดูกแผ่นปิดเหงือกชิ้นหน้าเป็นหนามทู่ ฟันที่เพดานปากรูปจันทร์เสี้ยว ครีบหลังตอนหน้าเป็นก้านครีบแข็งมี ๑๑ ก้าน ครีบหลังตอนท้ายเป็นก้านครีบแขนงมี ๑๒-๑๔ ก้าน ครีบก้นมีก้านครีบแข็ง ๓ ก้านและก้านครีบแขนง ๘-๙ ก้าน ขอบด้านท้ายของครีบหลังและครีบก้นมนหรือเป็นมุม ครีบอกมีก้านครีบ ๑๖-๑๗ ก้าน ครีบหางตัดตรง เกล็ดเหนือเส้นข้างตัวเรียงตัวในแนวเฉียง เกล็ดใต้เส้นข้างตัวเรียงตัวในแนวนอน ลำตัวด้านสันหลังและด้านข้างสีแดงหรือสีส้มแดง ใต้ท้องสีแดงจางกว่า ครีบทุกครีบสีออกแดง ลูกปลามีแถบสีน้ำตาลหรือดำพาดจากปากบนไปยังจุดเริ่มต้นของครีบหลัง และมีแถบสีดำเด่นชัดอีกแถบหนึ่งพาดขวางคอดหาง นอกจากนี้ยังพบมีลายจุดสีแดงหลายลายที่สีข้างอีกด้วย
     ปลากะพงแดงชนิดนี้พบอาศัยอยู่เป็นฝูงเล็ก ๆ ตามน่านน้ำชายฝั่งและแนวปะการังนอกฝั่ง ในอ่าวไทยพบชุกชุมนอกฝั่งจังหวัดนครศรีธรรมราช อยู่ในระดับน้ำลึก ๑๒-๑๐๐ เมตร กินปลาและกุ้งตลอดจนสัตว์ทะเลขนาดเล็ก ต่างประเทศพบแพร่กระจายในเขตอินโด-แปซิฟิก ตั้งแต่ทะเลอาหรับและอ่าวเปอร์เซียไปจนถึงประเทศญี่ปุ่นตอนใต้ และชายฝั่งประเทศออสเตรเลีย 

 

 


     ๖. ปลากะพงลาย [Datnioides quadrifasciatus (Sevastianov)] วงศ์ Lobotidae ชื่ออื่น ๆ ปลากะพงแสม, ปลากะพงหิน, ปลาลำพึง, ปลาลำพัง ชื่อสามัญ Striped Bass, Rock Bass ความยาวตลอดตัว ๒๐-๒๕ เซนติเมตร โตเต็มที่ประมาณ ๓๐ เซนติเมตร อาศัยอยู่ได้ทั้งในน้ำกร่อยและน้ำจืด ลำตัวแบนข้างและค่อนข้างสั้น เกล็ดตามเส้นข้างตัวมีประมาณ ๗๐ เกล็ด ครีบหลังตอนหน้าเป็นก้านครีบแข็งมี ๑๓-๑๔ ก้าน ตอนท้ายเป็นก้านครีบแขนงมี ๑๖ ก้าน ครีบก้นมีก้านครีบแข็ง ๓ ก้านและก้านครีบแขนง ๑๐ ก้าน สีลำตัวแตกต่างกันไปตั้งแต่สีขาวอมเหลือง เหลืองอมเขียว จนถึงเหลืองอมน้ำตาล มีแถบสีน้ำตาลเข้มพาดเป็นแนวเฉียง ๘-๑๐ แถบ จำนวนแถบจะเปลี่ยนไปตามขนาดและอายุการเจริญเติบโต ลักษณะสำคัญ คือ บริเวณแผ่นปิดเหงือกมีจุดกลมสีน้ำตาลเข้ม ๑ จุด
     ปลากะพงลายกินลูกกุ้งและลูกปลา พบอาศัยอยู่ในน้ำกร่อยบริเวณปากแม่น้ำและในทะเลสาบ เช่น ปากแม่น้ำเจ้าพระยา ปากแม่น้ำบางปะกง ภาคใต้มีชุกชุมกว่าภาคกลาง พบในบริเวณปากแม่น้ำตาปีและบริเวณทะเลสาบสงขลาตอนใน ซึ่งเป็นบริเวณที่มีน้ำเค็มเข้ามาเจือปนจนมีความกร่อยที่เหมาะสม ต่างประเทศพบในน่านน้ำชายฝั่งประเทศอินเดีย พม่า เวียดนาม ลงไปถึงเกาะสุมาตรา บอร์เนียว นิวกินี และชายฝั่งเขตร้อนของประเทศออสเตรเลีย
     ๗. ปลากะพงแสม ชนิด Psammoperca waigiensis (Cuvier) วงศ์ Centropomidae หรือ Latidae ชื่ออื่น ๆ ปลากะพงตาแมว ชื่อสามัญ Waigeu Sea Perch, Sand Bass, Glass-eye Perch ความยาวตลอดตัวประมาณ ๒๐ เซนติเมตร รูปร่างคล้ายปลากะพงขาวมาก หัวและลำตัวแบนข้าง ตาโตใสสีน้ำตาลคล้ายตาแมว ปากงอนขึ้นด้านบนเล็กน้อย ส่วนปลายเรียวและมนตอนปลายสุด ปากกว้าง มุมปากยื่นไปอยู่ประมาณใต้กึ่งกลางตา กระดูกแผ่นปิดเหงือกชิ้นหน้ามน มีหนามขนาดใหญ่ ๑ อัน ฟันเล็กเป็นซี่ละเอียด ไม่พบมีฟันคล้ายเขี้ยว เกล็ดตามเส้นข้างตัวมี ๔๕-๕๐ เกล็ด เกล็ดหน้าครีบหลัง (predorsal scale) มี ๒๓-๒๔ เกล็ด ครีบหลังตอนหน้าเป็นก้านครีบแข็งมี ๗-๘ ก้าน ตอนท้ายเป็นก้านครีบแขนงมี ๑๒-๑๓ ก้าน ครีบก้นมีก้านครีบแข็ง ๓ ก้านและก้านครีบแขนง ๘-๙ ก้าน ลำตัวด้านหลังสีน้ำตาลอมเทาหรือน้ำตาลอมแดงอ่อน ๆ ด้านข้างสีจางกว่าด้านหลัง ใต้ท้องสีออกเทาเงิน บริเวณฐานของครีบทุกครีบสีเหลือง ครีบหลังสีน้ำตาลอมแดง ครีบท้องสีขาวอมเหลือง
     ปลากะพงแสมชนิดนี้อาศัยอยู่ตามหน้าดินบริเวณน้ำตื้นชายฝั่ง มักเข้ามาหาลูกกุ้งและลูกปลากินในน้ำกร่อยและปากแม่น้ำ ปลาชนิดนี้วางไข่ในทะเล เมื่อฟักเป็นตัวแล้วลูกปลาจะเข้ามาเจริญเติบโตในน้ำกร่อย ในอ่าวไทยพบน้อย ทางด้านมหาสมุทรอินเดียมีชุกชุมมากกว่า มักซุกตัวอยู่ตามซอกหินริมฝั่งและรอบ ๆ เกาะ ต่างประเทศพบตั้งแต่นอกฝั่งประเทศศรีลังกาไปจนถึงประเทศอินโดนีเซีย เกาะในภูมิภาคเมลานีเซีย และชายฝั่งรัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย
     เนื่องจากเนื้อมีรสชาติดี จึงมีราคาค่อนข้างแพง
     ๘. ปลากะพงแสม ชนิด Pomadasys hasta (Bloch) วงศ์ Pomadasyidae ชื่ออื่น ๆ ปลาครืดคราด, ปลาเสือขูด, ปลาออดแอด ชื่อสามัญ Silver Spotted Grunt, Lined Silver Grunter, Spotted Javelin Fish, Common Javelin Fish, Silver Grunter, Head-grunt ความยาวตลอดตัวประมาณ ๒๖ เซนติเมตร รูปร่างคล้ายปลากะพงในสกุล Lutjanus มาก ปากกว้าง ปากบนยาวกว่าปากล่าง เกล็ดตามลำตัวเรียงตัวไม่ค่อยแน่นอน เกล็ดตามเส้นข้างตัวมี ๔๕-๕๒ เกล็ด ครีบหลังมีรอยเว้าตรงกลาง ตอนหน้าเป็นก้านครีบแข็งมี ๑๒-๑๓ ก้าน ตอนท้ายเป็นก้านครีบแขนงมี ๑๓-๑๕ ก้าน ก้านครีบแข็งก้านที่ ๒ หนาและใหญ่ที่สุด ครีบก้นมีก้านครีบแข็ง ๓ ก้านและก้านครีบแขนง ๖-๘ ก้าน ครีบท้องมีก้านครีบแรกยาวออกมาเป็นเส้น ครีบอกมีปลายแหลมและยาวกว่าครีบท้องมาก ปลายครีบหางเกือบตัดตรง ลำตัวสีเงิน ด้านสันหลังสีเข้มกว่า เกล็ดทุกเกล็ดทางด้านบนลำตัวมีจุดสีน้ำตาลเข้มเรียงตัวเป็นแนวตามความยาวลำตัว จุดเหล่านี้บางครั้งจะเชื่อมตัวกันเป็นแถบตามแนวตั้งฉากกับลำตัว ครีบหลังตอนหน้ามีจุดสีน้ำตาลเรียงกัน ๒-๓ แถว ตอนท้ายมีจุดขนาดเล็กกว่า ๓ แถว ครีบหางสีคล้ำ ครีบท้องและครีบก้นสีเทาคล้ำ ครีบอกสีออกขาว

 


     ปลากะพงแสมชนิดนี้เมื่อถูกจับพ้นน้ำจะส่งเสียงร้องดังครึด ๆ พบชุกชุมในอ่าวไทย ต่างประเทศพบอาศัยอยู่ในเขตน้ำตื้นชายฝั่งตั้งแต่ทวีปแอฟริกาตอนใต้และแอฟริกาด้านตะวันออกจนถึงประเทศอินโดนีเซีย เกาะในภูมิภาคเมลานีเซีย และชายฝั่งเขตร้อนในรัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย.

 

 

ชื่อหลัก
กะพง-ปลา
ชื่อวงศ์
Centropomidae หรือ Latidae วงศ์ Lobotidae วงศ์ Lutjanidae และวงศ์ Pomadasyidae
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายจารุจินต์ นภีตะภัฏ
คำสำคัญ
-
แหล่งอ้างอิง
อนุกรมวิธานสัตว์ อักษร ก กองวิทยาศาสตร์ อนุกรมสัตว์ ก.1.pdf