กะพงขาว-ปลา

Lates calcarifer (Bloch)

ชื่อวิทยาศาสตร์
Lates calcarifer (Bloch) วงศ์ Centropomidae หรือ Latidae
ชื่ออื่น ๆ
ปลากะพง, ปลากะพงน้ำจืด, ปลาโจ้โล้ว
ชื่อสามัญ
White Sea Bass, Silver Sea Bass, Giant Perch, Giant Sea Perch

ลักษณะทั่วไป เป็นปลาน้ำกร่อย โดยทั่วไปมีความยาวตลอดตัว ๕๐-๘๕ เซนติเมตรน้ำหนัก ๒-๑๐ กิโลกรัม แต่ขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยพบลำตัวยาวถึง ๑.๕ เมตร และน้ำหนักตัวมากกว่า ๓๕ กิโลกรัม ลำตัวหนาและแบนข้าง ท้ายทอยโค้งมน หัวด้านบนลาดลงไปจดปลายปาก ด้านสันหลังโค้งมากกว่าสันท้อง และค่อย ๆ โค้งไปจดจุดเริ่มต้นของครีบหลัง ปากแหลม กว้าง ยืดและหดได้เล็กน้อย ร่องปากเฉียงลงและยื่นไปด้านหลังเลยขอบหลังของลูกตา ขากรรไกรล่างยื่นยาวกว่าขากรรไกรบนเล็กน้อย ฟันที่ขากรรไกรเป็นชนิดเขี้ยวแหลม ลักษณะเป็นซี่ขนาดเล็ก และมีฟันซี่เล็ก ๆ เป็นกลุ่มบนเพดานปากและตอนต้นของคอหอย ขอบด้านหลังของกระดูกแผ่นปิดเหงือกชิ้นหน้าเป็นหยัก ๔ หยัก และที่ปลายสุดของกระดูกแผ่นปิดเหงือกเป็นหนามแหลม ๑ อัน ลูกตาขนาดปานกลาง ไม่มีเยื่อไขมันหุ้ม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๖.๕-๗.๕ เท่าของความยาวของ ส่วนหัว และอยู่ร่นไปชิดแนวด้านบนของส่วนหัว เกล็ดบนลำตัวมีขนาดใหญ่ เกล็ดที่ด้านบนของส่วนหัวและเกล็ดบนกระดูกแผ่นปิดเหงือกมีขนาดเล็กต่างกันออกไป เส้นข้างตัวสมบูรณ์และเห็นได้ชัดเจน เกล็ดตามเส้นข้างตัวมี ๕๑-๖๐ เกล็ด เกล็ดตามแนวขวางลำตัวตรงตำแหน่งจุดเริ่มต้นของครีบหลังมี ๖ เกล็ดเหนือเส้นข้างตัว และอีก ๑๓ เกล็ดใต้เส้นข้างตัว เกล็ดหน้าครีบหลังมี ๒๗-๒๘ เกล็ด เกล็ดบนกระดูกแผ่นปิดเหงือกเรียงตัวเป็น ๑๕ แถวตามแนวตั้ง ครีบหลังยาวเกือบจดโคนครีบหางมี ๒ ตอน ตอนหน้าอยู่ตรงกับตำแหน่งของครีบท้อง เป็นก้านครีบแข็ง แหลมคม มี ๗-๘ ก้าน ก้านครีบก้านแรกมีความยาวเพียง ๑ ใน ๓ ของความยาวก้านครีบก้านที่ ๒ ก้านครีบก้านที่ ๓ ยาวประมาณ ๓ เท่าของก้านครีบก้านที่ ๒ รูปหน้าตัดของก้านครีบหลังตอนหน้าเป็นรูปสามเหลี่ยม ตอนท้ายเป็นก้านครีบแขนง ๑๐-๑๑ ก้าน มีเยื่อบางเชื่อมต่อกับครีบหลังตอนหน้า ครีบก้นอยู่เยื้องกับครีบหลังตอนท้ายเล็กน้อย มีก้านครีบแข็ง ๓ ก้านและก้านครีบแขนง ๗-๘ ก้าน ครีบหางกลมคล้ายพัด ลำตัวด้านบนสีเทาเงินหรือเขียวอมเทา บางครั้งสีอาจออกสีเขียวทอง ด้านข้างและด้านล่างลำตัวสีจางกว่าออกเป็นสีเงิน ครีบหลัง ครีบก้น และครีบหางสีเทาคล้ำ ลูกปลาขนาดยาว ๗-๓๐ เซนติเมตร มีลักษณะเหมือนตัวเต็มวัย ลำตัวมีแถบขวางสีเขียวอมเทา ๓-๔ แถบ และด้านบนของส่วนหัวไปจนจดโคนของก้านครีบหลังมีแถบสีเหลืองเทายาวโดยตลอด ๑ แถบ นอกจากนี้ด้านบนลำตัวมักมีสีเขียวอมดำเข้มกว่าสีลำตัวด้านบนของปลาขนาดใหญ่


     อาหารของปลากะพงขาวส่วนใหญ่ ได้แก่ กุ้งทะเลหลายชนิดในวงศ์ Penaeidae และ Crangonidae รองลงมาเป็นปลาขนาดเล็กในวงศ์ปลาแป้น (Leiognathidae) และวงศ์ปลากระบอก (Mugilidae) ในทะเลสาบสงขลา ช่วงระยะระหว่างเดือนมีนาคมถึงกรกฎาคม พบปลากะพงขาวโตเต็มวัยมารวมกันอยู่เป็นจำนวนมากในหลายบริเวณ ปลากะพงขาวที่พร้อมผสมพันธุ์ ตัวผู้มีขนาดลำตัวยาว ๕๐-๘๐ เซนติเมตร น้ำหนัก ๒.๒-๗.๔ กิโลกรัม และตัวเมียมีขนาดลำตัวยาว ๖๔-๘๕ เซนติเมตร น้ำหนัก ๓.๖-๑๐.๒ กิโลกรัม ฤดูวางไข่อยู่ระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคม การผสมพันธุ์มักเป็นระยะเวลาที่น้ำทะเลขึ้นสูงสุด ซึ่งตรงกับระยะเวลากลางเดือนและปลายเดือนทางจันทรคติ บริเวณที่วางไข่มักเป็นบริเวณปากแม่น้ำและทะเลสาบซึ่งมีระดับความเค็ม ๒๘-๓๑ ส่วนในพันส่วนไข่ปลากะพงขาวเป็นไข่ประเภทลอยน้ำ กลม สีเหลืองอ่อนและใส มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ๐.๔๘-๐.๕๕ มิลลิเมตร ปลาตัวเมียที่มีขนาดลำตัวยาว ๗๑-๗๕ เซนติเมตร พบว่ามีไข่จำนวน ๒.๗-๓.๓ ล้านฟอง ไข่ฟักออกเป็นตัวอ่อนใช้เวลา ๑๖-๑๘ ชั่วโมง ลูกปลาที่ออกเป็นตัวใหม่ ๆ มีขนาดยาวเฉลี่ย ๑.๕ มิลลิเมตร ถุงอาหารสะสมมีความยาวเฉลี่ย ๐.๘๘ มิลลิเมตร มีหยดไขมันปรากฏอยู่ตอนหน้าสุดของถุงอาหารสะสม ทำให้ลูกปลายกส่วนหัวขึ้นและว่ายน้ำทำมุม ๔๕-๙๐ องศากับผิวน้ำ ไข่ฟักออกได้ดีที่สุดที่ระดับความเค็ม ๒๐-๓๐ ส่วนในพันส่วน และอุณหภูมิ ๒๗-๒๘ องศาเซลเซียส ระยะแรกลูกปลาจะอยู่รวมกันในบริเวณที่มืด ต่อมาเมื่อมีอายุได้ ๓ วัน ส่วนปากจะเริ่มเปิด และอายุได้ ๕ วัน ถุงอาหารสะสมจะยุบตัวหมดไป ลูกปลาจะเริ่มกินอาหารจำพวกแพลงก์ตอนและสัตว์น้ำขนาดเล็ก เมื่อน้ำขึ้นจะขึ้นมาหากินบริเวณผิวน้ำ และเมื่อน้ำลงจะไปหากินตามผิวหน้าดิน พอลูกปลามีอายุได้ ๖๐ วันจะมีลำตัวยาวเฉลี่ย ๓๐.๘ มิลลิเมตร ในทะเลสาบสงขลาพบลูกปลากะพงขาวได้ตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคมไปจนถึงปลายเดือนกรกฎาคม
     ตามธรรมชาติปลากะพงขาวขนาดใหญ่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำชายฝั่ง พบชุกชุมบริเวณปากแม่น้ำลำคลองที่ติดต่อกับทะเล และตามบริเวณชายทะเลที่มีป่าชายเลน สามารถเข้าไปอาศัยและหากินในบริเวณน้ำกร่อยและน้ำจืด เจริญเติบโตได้ดีในแหล่งน้ำจืด จัดเป็นปลาประเภทสองน้ำ ในวัฏจักรชีวิตมีการอพยพเคลื่อนย้ายไปมาระหว่างแหล่งน้ำจืดและน้ำเค็มอยู่เสมอ
     เขตแพร่กระจายของปลากะพงขาวค่อนข้างกว้าง ในประเทศไทยพบปลากะพงขาวทั้งในอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ต่างประเทศพบอาศัยตามชายฝั่งทะเลประเทศศรีลังกา อินเดีย พม่า เวียดนาม มาเลเซีย ชายฝั่งทะเลตอนใต้ของประเทศจีน รวมทั้งหมู่เกาะต่าง ๆ ของประเทศฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย จนถึงชายฝั่งทะเลตอนเหนือของออสเตรเลีย หรือระหว่างเส้นละติจูดที่ ๒๔ ํ ๓๐่ เหนือ ถึง ๒๕ ํ ๓๒่ ใต้ และระหว่างเส้นลองจิจูดที่ ๕๐-๑๖๕ องศาตะวันออก ปัจจัยที่ควบคุมการแพร่กระจาย ได้แก่ ระดับความเค็มของน้ำทะเล และอุณหภูมิของน้ำทะเลซึ่งมีผลต่อการฟักตัวของไข่และการมีชีวิตรอดของลูกปลาวัยอ่อน
     การประมงปลากะพงขาวทำกันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากเป็นปลาที่มีราคาดี เป็นที่นิยมบริโภค กันมากโดยนำมานึ่ง ทอด หรือแกง ส่วนกระเพาะลมตากแห้งก็มีราคาสูงอีกด้วย เนื่องจากจำนวนปลากะพงขาวในธรรมชาติลดน้อยลง จึงมีการเลี้ยงปลากะพงขาวในจังหวัดชายทะเลมาเป็นเวลานานมากกว่า ๔๐ ปีมาแล้ว จังหวัดที่มีการเลี้ยงปลากะพงขาวมาก ได้แก่ ระยอง จันทบุรี สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ฉะเชิงเทรา สงขลา พัทลุง ฯลฯ.

 

 

 

ชื่อหลัก
กะพงขาว-ปลา
ชื่อวิทยาศาสตร์
Lates calcarifer (Bloch)
ชื่อสกุล
Lates
ชื่อชนิด
calcarifer
ชื่อผู้ตั้งชื่อชนิดสัตว์
(Bloch)
ชื่อวงศ์
Centropomidae หรือ Latidae
ชื่ออื่น ๆ
ปลากะพง, ปลากะพงน้ำจืด, ปลาโจ้โล้ว
ชื่อสามัญ
White Sea Bass, Silver Sea Bass, Giant Perch, Giant Sea Perch
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายจารุจินต์ นภีตะภัฏ
คำสำคัญ
-
แหล่งอ้างอิง
อนุกรมวิธานสัตว์ อักษร ก กองวิทยาศาสตร์ อนุกรมสัตว์ ก.1.pdf