ลักษณะทั่วไป เป็นนกขนาดกลาง ลำตัวเพรียว วัดจากปลายปากถึงปลายหางยาว ๓๕-๕๐ เซนติเมตร ปากแหลมสั้นสีดำ หนาและแข็งแรง ตาสีแดง หัว คอ และลำตัวสีดำ ปีกสั้นสีน้ำตาลแดง ขายาวสีดำแข็งแรง นิ้วตีนและเล็บยาวโค้งแข็งแรง โดยเฉพาะเล็บนิ้วตีนนิ้วที่ ๑ ยาวถึง ๓.๘ เซนติเมตร ช่วยให้จับเหยื่อได้แน่น นิ้วตีนยื่นไปข้างหน้า ๒ นิ้ว ข้างหลัง ๒ นิ้ว สามารถคืบคลานเกาะเหนี่ยว ไต่แทรกไปตามพงหญ้า ต้นไม้ หรือพุ่มไม้หนาทึบ ได้อย่างคล่องแคล่ว หางยาว ๑๕-๒๓ เซนติเมตร มีกล่องเสียงอยู่ที่บริเวณขั้วปอด ไม่ได้อยู่ที่หลอดลมเหมือนนกชนิดอื่น หนังหนาเหนียวสีดำ
นกกะปูดมักเดินหรือวิ่งหากินอยู่ตามพื้นดิน บินได้ในระยะทางสั้น ๆ จากพุ่มไม้หนึ่งไปยังอีกพุ่มไม้หนึ่งซึ่งไม่สูงจากพื้นดินมากนัก ออกหากินตามลำพังในเวลาเช้าตรู่และใกล้พลบค่ำ กินสัตว์เล็ก ๆ เช่น งู กบ เขียด หอยทาก จิ้งจก จิ้งเหลน กิ้งก่า ตะขาบ นกเล็ก ๆ แมลง ผลไม้สุก
นกกะปูดทำรังด้วยเศษไม้ ใบไม้ และหญ้า เป็นรูปทรงกลมเล็ก ๆ มีทางเข้าอยู่ด้านข้าง รังอยู่ในพงหญ้าหรือพุ่มไม้ใกล้พื้นดิน มักปูรองด้วยใบไม้สด ในฤดูผสมพันธุ์อัณฑะข้างขวาของตัวผู้จะขยายใหญ่ขึ้นเพียงข้างเดียว ตัวเมียวางไข่คราวละ ๒-๕ ฟอง ไข่สีขาว มีเมือกหนาเหนียวสีขาวหุ้มอยู่ กกไข่นานประมาณ ๑๕ วัน จึงฟักออกเป็นตัว
นกกะปูดในประเทศไทยมี ๒ ชนิด คือ
๑. นกกะปูดใหญ่ [Centropus sinensis (Stephens)] ชื่อสามัญ Greater Coucal, Common Coucal, Crow Pheasant ขนาดประมาณ ๕๐ เซนติเมตร ใต้ปีกสีดำ หางยาวประมาณ ๒๓ เซนติเมตร ร้องเสียงดัง “ปูด ปูด” ๒-๓ ครั้งต่อวินาที พบทั่วทุกภาค
๒. นกกะปูดเล็ก [Centropus bengalensis (Müller)] ชื่อสามัญ Lesser Coucal, Black Coucal ขนาดประมาณ ๓๖ เซนติเมตร มีลายกระสีขาวเป็นทางยาวตลอดลำตัว ใต้ปีกสีน้ำตาลแดง หางยาวประมาณ ๑๕ เซนติเมตร ร้องเสียงดัง “วู้บ วู้บ” พบทั่วทุกภาค ยกเว้นภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง.