กะปะ-งู

Calloselasma rhodostoma (Boie)

ชื่อวิทยาศาสตร์
Calloselasma rhodostoma (Boie) วงศ์ Viperidae
ชื่ออื่น ๆ
งูปะ, งูปะไฟ, งูปะบุก (ภาคใต้); งูตึง (ภาคเหนือ); งูกะบาหัวแหลม (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ); งูขว้างค้อน (ภาคกลาง)
ชื่อสามัญ
Malayan Pit Viper, Moonlight Pit Viper, Marble Pit Viper

ลักษณะทั่วไป เป็นงูบกขนาดเล็ก เส้นผ่านศูนย์กลางลำตัวประมาณ ๓ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๗๐ เซนติเมตร หัวโตเป็นรูปสามเหลี่ยม ปลายจมูกแหลมและงอนเชิดขึ้นข้างบนเล็กน้อย ขณะทอดตัวอยู่กับพื้นหัวจะเชิดทางด้านปลายจมูกขึ้น ส่วนคอคอดเล็ก ลำตัวอ้วนสั้น หางเล็กและสั้น
     งูกะปะส่วนใหญ่ทั้งตัวมีสีค่อนไปทางน้ำตาลเทา แต่ถ้าสังเกตให้ดีจะปรากฏสีแตกต่างกันบ้าง เช่น บางตัวมีสีน้ำตาลเทา บางตัวมีสีน้ำตาลแดง ชาวภาคใต้เรียกตัวที่มีสีค่อนข้างแดงว่า “ปะไฟ” ส่วนบางตัวที่มีสีน้ำตาลดำมักเรียกว่า “ปะบุก” ลูกงูกะปะตัวเล็ก ๆ ในระยะแรก ๆ ที่ออกจากไข่จะมีสีน้ำตาลเทาปลายหางสีขาว เมื่อพิจารณาลวดลายของงูกะปะอย่างละเอียด จะเห็นว่าพื้นตัวเป็นสีเทาหรือน้ำตาลแดง หัวสีน้ำตาลเข้มมีลายเส้นสีขาวเริ่มจากบริเวณหลังตาพาดยาวไปท้ายหัว ริมฝีปากขาว ใต้คางขาวหรือเหลืองอ่อน ตามตัวมีลายสีน้ำตาลเข้มเป็นรูปสามเหลี่ยม ยอดของลายสามเหลี่ยมจดที่สันหลังเป็นระยะ ๆ ไปจนถึงโคนหาง
     งูกะปะมีลักษณะกะโหลกแบบกลุ่มงูเขี้ยวพับ (Solenoglypha) เขี้ยวพิษมีขนาดยาวและสามารถพับเก็บได้ เมื่อต้องการใช้ก็จะกางออก งูกะปะเป็นงูในจำพวก Pit Viper ซึ่งมีช่อง (pit) อยู่ระหว่างรูจมูกกับตาสำหรับรับรู้กลิ่นและระดับความแตกต่างของอุณหภูมิ
     งูกะปะออกเลื้อยหากินตามพื้นดินในเวลากลางคืน ไม่ขึ้นต้นไม้ มักอยู่บริเวณที่มีความชื้น จึงพบงูกะปะออกหากินชุกชุมหลังฝนตกในเวลาพลบค่ำ พบทั้งตามป่าหญ้า สวน ไร่ และป่าทึบ กินหนูขนาดเล็ก คางคก เขียด
     งูกะปะเป็นงูที่ไม่ปราดเปรียว เลื้อยไปช้า ๆ และหยุดนิ่งงอตัวอยู่กับที่เมื่อถูกรบกวน นอกจากการเลื้อยไปตามปรกติแล้ว เมื่อตกใจงูกะปะมักทำตัวแบน โดยสามารถกางกระดูกซี่โครงและส่วนท้องออกจนเห็นตัวแบนกว้าง ทั้งยังสามารถแผ่ลำตัวให้แบนแล้วงอตัวดีดไปได้เป็นระยะสั้น ๆ ครั้งละ ๓๐-๔๕ เซนติเมตร ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้เรียกงูกะปะว่า “งูขว้างค้อน”
     ทางภาคเหนือมักพบงูกะปะตามภูเขา ในเวลากลางวันจะขดตัวนอนอยู่ตามใต้กองใบตองตึง (ใบพลวง) ที่ร่วงหล่นทับถมอยู่ตามพื้นดิน ชาวเหนือและชาวไทยภูเขาจึงเรียกว่า “งูตึง”
     งูกะปะตัวเมียมักมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ วางไข่คราวละ ๑๕-๒๕ ฟอง ไข่กลม สีขาวติดกันเป็นกอง แม่งูกะปะจะกกไข่จนไข่ฟักเป็นตัว โดยใช้เวลากกไข่ประมาณ ๖๐ วัน ลูกออกจากไข่ขนาดยาวประมาณ ๑๕ เซนติเมตร
     งูกะปะเป็นงูพิษ น้ำพิษของงูกะปะมีลักษณะเหนียวข้นสีเหลืองอ่อน ประกอบด้วยโปรตีนมากกว่าร้อยละ ๙๐ พิษส่วนใหญ่มีฤทธิ์ต่อระบบเลือด แผลที่ถูกงูกะปะกัดหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกวิธีจึงมักเป็นแผลเนื้อตาย (gangrene) ผู้ป่วยที่ถูกงูกะปะกัดมีอัตราการตายต่ำเมื่อเทียบกับงูพิษหลายชนิด เช่น งูเห่า งูแมวเซา สาเหตุประการหนึ่งที่ทำให้มีอัตราการตายของผู้ป่วยต่ำอาจเป็นได้ว่า งูกะปะมีนิสัยพิเศษที่จะฉกกัดเหยื่อด้วยการกัดแล้วปล่อยทันที และการปล่อยน้ำพิษออกมาแต่ละครั้งมีปริมาณเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
     ตามที่เคยมีผู้เข้าใจว่างูกะปะเป็นงูชายทะเล มีทำเลอาศัยเฉพาะตามบริเวณดินทรายชายทะเลเท่านั้น เป็นการเข้าใจผิด เพราะได้พบงูกะปะทุกภาคของประเทศไทย เช่น พบชุกชุมที่จังหวัดกาญจนบุรี นอกจากนั้นยังพบที่จังหวัดเชียงใหม่ อุดรธานี และหนองคายอีกด้วย ชาวอีสานเรียกงูกะปะว่า “งูกะบาหัวแหลม”.

ชื่อหลัก
กะปะ-งู
ชื่อวิทยาศาสตร์
Calloselasma rhodostoma (Boie)
ชื่อสกุล
Calloselasma
ชื่อชนิด
rhodostoma
ชื่อผู้ตั้งชื่อชนิดสัตว์
(Boie)
ชื่อวงศ์
Viperidae
ชื่ออื่น ๆ
งูปะ, งูปะไฟ, งูปะบุก (ภาคใต้); งูตึง (ภาคเหนือ); งูกะบาหัวแหลม (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ); งูขว้างค้อน (ภาคกลาง)
ชื่อสามัญ
Malayan Pit Viper, Moonlight Pit Viper, Marble Pit Viper
ผู้เขียนคำอธิบาย
น.อ. วิโรจน์ นุตพันธุ์
คำสำคัญ
-
แหล่งอ้างอิง
อนุกรมวิธานสัตว์ อักษร ก กองวิทยาศาสตร์ อนุกรมสัตว์ ก.1.pdf