ลักษณะทั่วไปเป็นกุ้งน้ำจืด วัดจากโคนก้านตาถึงปลายหางยาว ๖-๙ เซนติเมตร ลำตัวสีฟ้าอมเทาหรือเขียวอมเทา เปลือกหัว (carapace) เกลี้ยง เรียบ และพองโตกว่าลำตัว มีหนามที่บริเวณโคนหนวดและบริเวณตับ หนามทั้งสองอยู่ในแนวเฉียงขึ้นและเยื้อง ๆ กัน ไม่มีร่องทางด้านข้างของเปลือกหัว เมื่อมองด้านข้าง กรี (rostrum) ตรง ปลายงอนขึ้นเล็กน้อย ฟันกรีด้านบนมี ๑๐-๑๒ ซี่ โดย ๒-๓ ซี่แรกอยู่บนบริเวณเปลือกหัวก่อนแนวขอบตา ฟันกรีด้านล่างมี ๔-๗ ซี่ โดยมากพบเพียง ๕ ซี่ หนวดคู่ที่ ๑ แยกออกเป็น ๒ เส้น จากโคนเดียวกันของแต่ละข้าง ขากรรไกรหน้ามีรยางค์สัมผัส (palp) ขาเดินคู่ที่ ๑ เล็กและแบบบางกว่าขาเดินคู่อื่น ๆ ปลายเป็นก้าม (chela) เช่นเดียวกับขาเดินคู่ที่ ๒ ซึ่งมีขนาดใหญ่สุด ผิวของขาเดินเป็นตุ่มเล็ก ๆ อยู่ทั่วไป ปล้องที่ ๔ ของขาเดินคู่ที่ ๒ ไม่แบ่งเป็นปล้องเล็ก ๆ และเป็นปล้องที่ยาวมากกว่าปล้องที่ ๓ ปลายก้ามงุ้มเข้าและมีตุ่มฟัน ๑-๒ ตุ่มที่ขอบด้านใน บริเวณโคนตรงก้ามมีกลุ่มขนเล็ก ๆ สั้น ๆ คล้ายกำมะหยี่สีเทาโดยรอบ ขาเดินคู่ที่ ๒ ของตัวผู้มีปื้นสีน้ำเงินหลายปื้น ส่วนตัวเมียมีสีออกดำ ช่วงของขาเดินคู่ที่ ๒ ของตัวผู้วัดจากส่วนที่ยาวเลยกรียาวมากกว่าความยาวของลำตัวที่วัดจากปลายกรีถึงปลายหาง แต่ของตัวเมียสั้นกว่า ด้านหลังของปลีหางมีหนาม ๒ คู่ ปลายปลีหางมีหนามแหลม ๒ คู่ คู่ในมีขนาดยาวและโตกว่าคู่นอก ปลายปลีหาง (telson) มีขนแซม
กุ้งกะต่อมอาศัยอยู่ตามแม่น้ำลำคลองในน้ำจืด พบบ้างตามชายทะเลและในทะเล ไข่มีลักษณะ กลมรีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๐.๖ มิลลิเมตร
กุ้งกะต่อมแพร่กระจายอยู่ในทวีปแอฟริกาตอนใต้ ประเทศอินเดีย มาเลเซีย เกาะชวา สุมาตรา บอร์เนียว นิวกินี และไต้หวัน ในประเทศไทยพบที่กรุงเทพฯ สมุทรปราการ สมุทรสงคราม เพชรบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี สงขลา พัทลุง และนครศรีธรรมราช ใช้เป็นอาหารเช่นเดียวกับกุ้งก้ามกราม.