ลักษณะทั่วไป คล้ายปลากุแลหรือปลาหลังเขียว (Sardinella spp., Herklotsichthys spp.) ซึ่งอยู่ในวงศ์เดียวกันแต่มีขนาดเล็กกว่า เป็นปลาผิวน้ำ พบเสมอตามชายฝั่งเป็นฝูงเล็ก ๆ อยู่ในเขตน้ำตื้นปะปนกับฝูงปลาขนาดใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะฝูงปลากะตัก (Stolephorus spp.) ซึ่งอยู่ในวงศ์ Engraulidae และปลากุแลหรือปลาหลังเขียว บริเวณน้ำขึ้นลงซึ่งเป็นเขตน้ำกร่อย แม้ตอนในของปากแม่น้ำและทะเลสาบจะพบลูกปลากะตักขาวเสมอ ปลากะตักขาวมีลำตัวยาว แบนข้างมาก สันหลังหนาและกลม สันท้องคม แนวสันท้องโค้งมากกว่าแนวสันหลัง และย้อยต่ำมากที่บริเวณระหว่างครีบอกและครีบท้อง ทำให้บริเวณนี้ของลำตัวกว้างมากที่สุด ส่วนคอดหางมีความกว้าง ๑ ใน ๗.๕-๙.๓ ของความยาวหัวและลำตัวไม่รวมครีบหาง
หัวเล็ก แบนข้างมาก สันหัวเป็นแนวเกือบตรง และเป็นกระดูกแข็ง แบนเล็กน้อย ส่วนบริเวณท้ายทอยมีกลุ่มสันกระดูกสั้น ๆ เรียงตามยาวข้างละ ๘-๑๐ แนว โดยขยายออกทางท้ายจนเป็นบริเวณคล้ายสามเหลี่ยม ปากเล็ก อยู่ปลายสุดของหัว โดยมีจะงอยปากล่างยื่นล้ำจะงอยปากบน ทำให้ช่องปากมีลักษณะเชิดขึ้น ส่วนท้ายของขากรรไกรบนและกระดูกเหนือขากรรไกรบนที่คลุมส่วนท้ายของขากรรไกรมีขนาดเป็นสัดส่วนที่ใหญ่มากเมื่อเทียบกับของปลาหลังเขียว และยังมีรูปร่างเกือบเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตาโต กลม มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาวกว่าจะงอยปากมาก และอยู่ในแนวแกนลำตัวโดยค่อนไปทางแนวสันหัว คลุมด้วยเยื่อใสบาง ๆ โดยเว้นเป็นช่องแคบรูปรีตรงบริเวณกลางตาตลอดแนวตั้ง กระดูกแผ่นปิดเหงือกแต่ละชิ้นมีขนาดใหญ่ แผ่นปิดเหงือกทั้ง ๒ ข้างแยกจากกันโดยตลอดทางขอบล่าง ทำให้เปิดได้กว้าง ขอบทางด้านท้ายของช่องเหงือก ซึ่งเป็นส่วนกล้ามเนื้อทางด้านหน้าของครีบอกเรียบตลอดแนว จึงเป็นลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งที่ต่างกับปลาหลังเขียวในสกุล Sardinella, Amblygaster และ Herklotsichthys ซึ่งมีตุ่มเนื้ออยู่ทางด้านบนและด้านล่างของขอบแห่งละ ๑ ตุ่ม ซี่กรองเหงือกแบนแต่ยาวเรียวมากพอ ๆ กับความยาวของเส้นเหงือก และมีขอบเรียบ
เกล็ดใหญ่ แข็ง และยึดติดกับลำตัวโดยไม่หลุดง่ายอย่างปลาหลังเขียว แต่ละเกล็ดมีความกว้างมากกว่าความยาว ส่วนหัวไม่มีเกล็ด เหนือครีบอกไม่มีเกล็ดเดี่ยวที่มีรูปร่างยาวเรียวอย่างที่พบอยู่เหนือโคนครีบท้อง เกล็ดที่เปลี่ยนรูปเป็นสันคมและแหลมที่เรียงอยู่ตลอดแนวสันท้องมี ๑๗-๑๘ เกล็ดทางตอนหน้าของครีบท้อง และ ๑๐-๑๒ เกล็ดถัดต่อไปจากครีบดังกล่าว รวมตลอดแนวมีเกล็ด ๒๘-๓๐ เกล็ด แถวเกล็ดในแนวแกนลำตัวมีรวม ๓๖-๓๘ เกล็ด เกล็ดในแนวเฉียงระหว่างครีบหลังและครีบท้องมี ๑๐ เกล็ด ไม่มีเส้นข้างตัว
ครีบต่าง ๆ ประกอบด้วยก้านครีบอ่อนทั้งสิ้น ครีบหลังเป็นรูปสามเหลี่ยม ตั้งอยู่กึ่งกลางสันหลังระหว่างหัวและครีบหาง และมีก้านครีบรวมทั้งสิ้น ๑๕-๑๗ ก้าน ครีบอกอยู่บนลำตัวถัดจากช่องเหงือกห่างจากแนวสันท้องเพียงเล็กน้อย มีก้านครีบ ๑๒-๑๔ ก้าน ครีบท้องเล็กที่สุด อยู่ในแนวประมาณใต้จุดเริ่มต้นของครีบหลัง ประกอบด้วยก้านครีบ ๗ ก้าน ครีบก้นตั้งอยู่ระหว่างครีบท้องและครีบหาง มีก้านครีบสั้น แต่ก้านครีบแขนงก้านแรก ๆ ยาวกว่าก้านถัดไปเพียงเล็กน้อยตามลำดับ โดยมีก้านครีบรวมทั้งสิ้น ๑๗-๒๐ ก้าน ฐานครีบก้นจึงยาวกว่าฐานครีบหลังเล็กน้อย ก้านครีบก้น ๒ ก้านสุดท้ายมีขนาดไม่ต่างกับก้านที่อยู่ถัดไปทางด้านหน้า จึงนับเป็นอีกลักษณะหนึ่งที่ต่างจากปลาหลังเขียว ครีบหางเป็นแฉกรูปส้อม ปลายครีบหางทั้งบนและล่างแหลม และมีขนาดไล่เลี่ยกัน
หัวและลำตัวทั่วไปเป็นสีเนื้อ แต่ใสและเหลือบสีเงินขณะสะท้อนแสง โดยเฉพาะความใสบริเวณด้านข้างลำตัวตรงกับช่องอวัยวะภายใน ทำให้เห็นผนังภายในของส่วนดังกล่าวเป็นสีเงินยวง ปลายจะงอยปากบนและล่างดำคล้ำ บริเวณด้านบนของหัวและหลังอมเขียวหรือฟ้า ครีบต่าง ๆ โปร่งแสง ครีบหลังและครีบหางสีเหลืองอ่อน เฉพาะครีบหางมีพื้นสีดำคล้ำ ปลายครีบที่เป็นขอบด้านในของครีบหางมีสีดำ แนวกลางสันหลังจากท้ายทอยถึงครีบหลังและต่อถึงโคนหางมีจุดสีดำเรียงเป็นเส้นคู่โดยตลอด บริเวณข้างตัวถัดจากหัวถึงโคนหางมีแถบสีเงินพาดตลอดในแนวแกนลำตัว เพราะลักษณะสีเหล่านี้และรูปร่างโดยทั่วไปปลากะตักขาวจึงคล้ายปลากะตัก โดยเฉพาะชนิด Stolephorus dubiosus Wongratana, S. baganensis Hardenberg และ S. tri (Bleeker) ซึ่งอยู่ในวงศ์ Engraulidae มาก ทำให้ได้ชื่อซ้ำซ้อนกับปลาดังกล่าวโดยเฉพาะเมื่อจับได้พร้อมกัน
ปลากะตักขาวกินสัตว์ขนาดเล็กที่เรียกรวม ๆ ว่า แพลงก์ตอน ที่สำคัญได้แก่ ลูกกุ้ง ลูกปู เคอย ไร ตัวอ่อนของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอื่น ๆ รวมทั้งลูกปลาและไข่ปลา หรือไข่ขนาดเล็กของสัตว์ต่าง ๆ
ปรกติปลากะตักขาวเป็นผลพลอยได้จากการจับปลากะตักและปลาอื่น ๆ เครื่องมือที่ใช้จับส่วนใหญ่เป็นประเภทอวนที่ใช้อยู่ใกล้ฝั่ง เช่น อวนหัวอ่อน อวนรุน รวมทั้งโป๊ะ รั้วไซมาน และโพงพาง ไม่ปรากฏว่าปลาชนิดนี้จับได้ในเขตห่างฝั่งและน้ำ
ปลากะตักขาวมี ๒ ชนิด ทั้งคู่อยู่ในสกุล Escualosa พบในน่านน้ำไทยด้วยกัน คือ
๑. Escualosa thoracata (Valenciennes) ชื่อสามัญ White Sardine ลักษณะสำคัญคือ มีความกว้างของลำตัว ๑ ใน ๒.๘-๓.๒ ของความยาวยกเว้นครีบหาง ครีบท้องมีจุดเริ่มต้นอยู่ในแนวหน้าครีบหลังเล็กน้อย ซี่กรองเหงือกมี ๑๖-๒๕ ซี่ที่ตอนบน และ ๒๕-๔๐ ซี่ที่ตอนล่างของโครงเหงือกอันนอกสุด แถบสีเงินข้างตัวมีความกว้างประมาณเส้นผ่านศูนย์กลางของตา ปลาชนิดนี้มีชุกชุมมากกว่าอีกชนิดหนึ่งมาก และแพร่กระจายกว้างขวางตั้งแต่บริเวณนอกฝั่งรัฐควีนส์แลนด์ประเทศออสเตรเลีย ฝั่งตอนใต้ของเกาะนิวกินี ตลอดเขตหมู่เกาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อ่าวไทย ทะเลอันดามัน อ่าวเบงกอล ประเทศอินเดีย จนถึงปากีสถาน มีการสืบพันธุ์ตลอดทั้งปี แต่ทางฝั่งตะวันตกของประเทศอินเดียพบว่าวางไข่สืบพันธุ์ชุกที่สุดระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงมกราคม ขนาดโตได้ยาวไม่เกิน ๑๐ เซนติเมตรยกเว้นครีบหาง ส่วนใหญ่ที่จับได้มีขนาด ๕-๘ เซนติเมตร
๒. Escualosa elongata Wongratana ชื่อสามัญ Slender White Sardine พบน้อยมาก และเป็นตัวอย่างที่ได้จากบริเวณอ่าวไทยเท่านั้น ลำตัวแคบ ความกว้างเป็นเพียงประมาณ ๑ ใน ๔ ของความยาวยกเว้นครีบหาง จุดเริ่มต้นของครีบท้องอยู่ประมาณใต้ก้านครีบก้านที่ ๓ ของครีบหลัง มีซี่กรองเหงือก ๒๖-๒๗ ซี่ที่ส่วนบน และ ๔๑ ซี่ที่ส่วนล่างของโครงเหงือกอันนอกสุด แถบสีเงินข้างตัวมีส่วนกว้างไม่เกินเส้นผ่านศูนย์กลางของตา โตเต็มที่ยาวไม่เกิน ๖.๗ เซนติเมตร โดยไม่รวมครีบหาง.