กว่าง-แมลง

Xylotrupes gideon Linn.

ชื่อวิทยาศาสตร์
Xylotrupes gideon Linn. วงศ์ Dynastidae
ชื่ออื่น ๆ
แมงกวาง, แมงเขากวาง (อยุธยา); แมงโค, แมงวัว (ภาคใต้); กุดกี่คาม (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)

ลักษณะทั่วไป เป็นแมลงปีกแข็งชนิดหนึ่งซึ่งตัวผู้มีรูปร่างลักษณะแตกต่างไปจากตัวเมีย กล่าวคือ ตัวผู้มีเขาแต่ตัวเมียไม่มีเขา เขาของตัวผู้นั้นแท้ที่จริงแล้วเป็นผนังแข็งของอกปล้องแรกที่งอกออกไปทางด้านสันหลัง มีลักษณะยาวเป็นจะงอยเรียวไปทางด้านหน้าและโค้งลง ตรงปลายมีลักษณะแบนและแยกออกเป็นง่ามเล็ก ๆ ๒ ง่าม ในขณะเดียวกันผนังแข็งที่หัวก็ยื่นออกไปเป็นนอเดี่ยว ๆ คล้ายนอแรดโดยเรียวโค้งขึ้น และที่ปลายก็แยกออกเป็น ๒ แฉกเช่นกัน ในระหว่างตัวผู้ด้วยกันนั้นก็ยังมีลักษณะแตกต่างกัน กล่าวคือมีทั้งขนาดใหญ่และขนาดย่อมลงมา สำหรับขนาดใหญ่นั้นมีชื่อเรียกว่า กว่างโซ้งหรือกว่างชน มีลำตัวยาว วัดจากปากถึงปลายสุดของท้อง ๕.๐-๕.๕ เซนติเมตร วัดจากปลายเขาซึ่งยื่นไปข้างหน้าจนถึงปลายสุดของท้องยาว ๗.๐-๘.๐ เซนติเมตร ลำตัวกว้าง ๒.๕-๒.๘ เซนติเมตร ส่วนตัวผู้ที่มีขนาดย่อมนั้นเรียกกันว่า กว่างกิหรือกว่างแซม ขนาดโตกว่าตัวเมียเพียงเล็กน้อยเท่านั้น กล่าวคือ มีขนาดยาววัดจากปากถึงปลายสุดของท้อง ๓.๕-๔.๐ เซนติเมตร หรือวัดจากปลายเขาถึงปลายสุดของท้อง ๔.๐-๔.๕ เซนติเมตร ลำตัวกว้าง ๑.๘-๒.๓ เซนติเมตร ตัวผู้ขนาดย่อมนี้จะมีเขาซึ่งมีรูปลักษณะเหมือนเขาของตัวผู้ขนาดใหญ่ทุกประการ เพียงแต่มีขนาดเล็กกว่าและช่วงยาวของเขาสั้นกว่ามากเท่านั้น สำหรับตัวเมียเรียกว่า กว่างแม่ แม่อู๊ด หรือ กว่างแม่อีลุ่ม จะไม่มีเขาให้เห็นเลยไม่ว่าจะเป็นส่วนที่อยู่ตรงอกหรือตรงหัวก็ตาม ฉะนั้น เมื่อมองทางด้านหลังก็จะเห็นส่วนของหัวยื่นออกมาจากอก และเห็นปลายปากซึ่งเป็นริมฝีปากบนได้ชัดเจน ทั้งกว่างตัวผู้และกว่างตัวเมียมีอกกว้างไล่เลี่ยกับท้องแต่โค้งมนไปทางด้านหัว หัวเล็กกว่าอกมาก แมลงเหล่านี้มีหนวดสั้นรูปคล้ายพัดโบก แต่มองแทบไม่เห็น มีขนและหนามแข็งปกคลุมทุกขา เล็บยาวโค้งงอเป็นคู่เห็นได้ชัดเจนในทุกขา ส่วนใหญ่หัว อก ท้อง และขา สีน้ำตาลอมแดง และบางตัวก็มีสีคล้ำจนเกือบดำ สีของหัว อก และท้องอาจเพี้ยนแตกต่างกันได้ โดยเฉพาะหัวและอกมีสีคล้ำกว่าสีของปีกแข็งที่คลุมส่วนท้องก็มีอยู่มาก พบเห็นกันได้บ่อยจนเป็นธรรมดา


     โดยทั่วไปอาจถือได้ว่าแมลงกว่างเป็นศัตรูของเกษตรกรโดยกัดกินต้นพืชที่ปลูก เช่น อ้อย รากพืช เช่น รากข้าวโพด พืชตระกูลปาล์ม เช่น มะพร้าว ตาลโตนด ต้นสาคู หรืออาจกัดกินเปลือกต้นยางพารา เป็นต้น แต่สำหรับในประเทศไทยแล้วอาจถือได้ว่าแมลงชนิดนี้มีความสำคัญน้อยกว่าด้วงแรดมะพร้าวมาก เพราะส่วนใหญ่ไม่ค่อยระบาดแพร่หลายทีละมาก ๆ เหมือนด้วงแรดมะพร้าว วัฏจักรชีวิตโดยทั่วไปแมลงชนิดนี้จะวางไข่ตามกองพืชหรือกองปุ๋ยหมัก กองอินทรียวัตถุที่เน่าเปื่อย ตัวหนอนที่ฟักออกจากไข่จะกินอินทรียวัตถุที่เน่าเปื่อยเหล่านั้น ระยะตัวหนอนจึงมิได้เป็นระยะที่ทำลายพืช จะเปลี่ยนเป็นดักแด้ในกองอินทรียวัตถุนั้นจนกระทั่งออกเป็นตัวเต็มวัยหรือตัวแก่ ซึ่งใช้ระยะเวลา ๖-๘ เดือนตั้งแต่เป็นไข่จนกระทั่งเป็นตัวเต็มวัย
     กว่างเป็นแมลงที่มีอยู่แพร่หลายในประเทศไทย และเป็นที่รู้จักกันดีของประชาชนในทุกภาคของประเทศโดยเฉพาะกีฬาชนกว่างซึ่งเป็นที่นิยมกัน การชนกว่างเป็นการล่อให้ตัวผู้ใช้เขาดันหรือขวิดกันเพื่อแย่งตัวเมีย โดยปรกติมักใช้ท่อนไม้เนื้ออ่อนหรือท่อนอ้อย เจาะช่องตรงกลางแล้วนำตัวเมียใส่ไว้ในช่องนั้น นำกว่างตัวผู้ที่ใช้ต่อสู้กันมาวางบนปลายท่อนไม้หรือท่อนอ้อยข้างละตัวโดยให้หันหัวเข้าหากัน การต่อสู้จะเกิดขึ้นเมื่อตัวผู้ต่างก็แย่งกันเข้ามาเพื่อผสมตัวเมีย ตัวที่แข็งแรงน้อยกว่าจะถูกดันให้ถอยหนีหรือตกจากไม้ไป การชนกว่างนี้มิได้เล่นกันเฉพาะในหมู่เด็ก ๆ เท่านั้น ผู้ใหญ่ก็เล่นด้วยโดยมีการพนันขันต่อ และก็มิได้แพร่หลายเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น ในประเทศต่าง ๆ แถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่ พม่า มาเลเซีย ลาว กัมพูชา เวียดนาม ไปถึงอินโดนีเซีย คนพื้นเมืองก็นิยมเล่นกันซึ่งเข้าใจว่าเป็นประเพณีที่แพร่หลายสืบต่อเนื่องกันไปเช่นเดียวกับการกัดจิ้งหรีดหรือปลากัดนั่นเอง นอกจากจะใช้ชนกันแล้วชาวบ้านอาจใช้บริโภคด้วย ทั้งตัวอ่อนซึ่งเป็นตัวหนอนและตัวแก่ โดยการย่างให้สุก คั่วกับเกลือ หรือทอด.

 

 

ชื่อหลัก
กว่าง-แมลง
ชื่อวิทยาศาสตร์
Xylotrupes gideon Linn.
ชื่อสกุล
Xylotrupes
ชื่อชนิด
gideon
ชื่อผู้ตั้งชื่อชนิดสัตว์
Linn.
ชื่อวงศ์
Dynastidae
ชื่ออื่น ๆ
แมงกวาง, แมงเขากวาง (อยุธยา); แมงโค, แมงวัว (ภาคใต้); กุดกี่คาม (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ศ. ดร.สุธรรม อารีกุล
คำสำคัญ
-
แหล่งอ้างอิง
อนุกรมวิธานสัตว์ อักษร ก กองวิทยาศาสตร์ อนุกรมสัตว์ ก.1.pdf