ลักษณะทั่วไป เป็นปลาน้ำเค็ม ความยาวตลอดตัว ๒๕-๔๐ เซนติเมตร บางครั้งพบยาวถึง ๖๐ เซนติเมตร รูปร่างป้อม แบนข้างมาก ปากและช่องเหงือกเล็ก ฟันแข็งแรงทั้งด้านบนและด้านล่าง ลักษณะเด่นอยู่ที่มีร่องยาวอยู่ข้างหน้าตา ๑ ร่อง เกล็ดปกคลุมลำตัวเป็นเกล็ดหนาแข็ง รูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ไม่เรียงซ้อนกันเหมือนปลาทั่วไป เมื่อสัมผัสจะรู้สึกสากมือ และมักมีเกล็ดดังกล่าวขนาดใหญ่อยู่บริเวณด้านหลังของช่องเหงือก สันหลังส่วนที่มีครีบหลังตั้งอยู่เป็นร่อง ครีบหลังมี ๒ ครีบ ครีบหลังครีบแรกมีก้านครีบแข็ง ๓ ก้าน ก้านครีบแข็งก้านแรกใหญ่มาก มักตั้งขึ้นตรง ครีบหลังครีบที่ ๒ มีก้านครีบแขนง ๒๖-๒๗ ก้าน ครีบอกเล็ก ครีบท้องเป็นก้านครีบแข็งที่มีลักษณะกลมแข็งเพียงก้านเดียว ครีบก้นมีก้านครีบแขนง ๒๔-๒๖ ก้าน ครีบหางเว้า ปลาที่โตเต็มวัยครีบหางจะยื่นยาวออกไปมาก คอดหางแบนราบ มีสันอยู่ด้านข้าง ข้างละสัน ลำตัวด้านหลังสีเขียวอมเทาหรือน้ำตาลอมเทา มีรอยแต้มใหญ่สีขาวตามแนวสันหลัง ๓ รอย อยู่ตรงตำแหน่งที่จุดเริ่มต้นครีบหลังครีบแรก อยู่ระหว่างครีบหลังทั้งสองและอยู่กึ่งกลางครีบหลังครีบที่ ๒ ลำตัวมีจุดสีฟ้าขนาดเล็กประทั่วไป ใต้ท้องสีขาว มีลายขีดสีเหลือง ๓-๔ ขีดจากปากไปยังโคนครีบอก ครีบอกสีเหลืองยกเว้นโคนสีดำคล้ำ ครีบอื่น ๆ มีลายแถบสีดำสลับเหลืองและเขียว
ปลากวางอาศัยอยู่ตามหน้าดิน หากินตามกองหินและพุ่มสาหร่ายก้นทะเล ตลอดจนตามแนวปะการัง บางครั้งพบอยู่ในทะเลลึก ในประเทศไทยพบทั้งในอ่าวไทยและทะเลอันดามัน แต่ชุกชุมมากในบริเวณตอนกลางของอ่าวไทย ต่างประเทศพบแพร่กระจายตั้งแต่ชายฝั่งด้านตะวันออกของทวีปแอฟริกา ทะเลแดง ประเทศอินเดีย ศรีลังกา จนถึงหมู่เกาะอีสต์อินดิส ขึ้นไปตามชายฝั่งประเทศจีน และลงไปถึงชายฝั่งรัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย เกาะในภูมิภาคเมลานีเซีย และเกาะในภูมิภาคโปลินีเซีย
ปลากวางในบางเขตมีเนื้อเป็นพิษ ชาวหมู่เกาะเซเชลส์นิยมกินปลากวาง ส่วนในทวีปแอฟริกาด้านตะวันออกผู้คนใช้เนื้อปลากวางเป็นเหยื่อตกปลาอื่น ๆ.