กวางชะมด

Moschus spp.

ชื่อวิทยาศาสตร์
Moschus spp. วงศ์ Moschidae
ชื่อสามัญ
Musk Deer

ลักษณะทั่วไป เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม กีบคู่ รูปร่างคล้ายสัตว์จำพวกกวาง มีขนาดเล็ก วัดจากปลายจมูกถึงก้น ๘๐-๑๐๐ เซนติเมตร หางยาว ๔-๖ เซนติเมตร ความสูงวัดที่ไหล่ ๕๐-๗๐ เซนติเมตร น้ำหนักตัว ๗-๑๗ กิโลกรัม หัวเล็ก ไม่มีเขา ตัวผู้มีเขี้ยวยาวคล้ายใบมีดยื่นพ้นริมฝีปากบนเห็นได้ชัดเจน ตัวเมียมีเขี้ยวสั้นมาก ไม่ยื่นออกมาอย่างตัวผู้ สูตรฟัน ๑/๓ ๑/๑ ๓/๓ ๓/๓ * ๒ = ๓๔ ใต้ลำคอมีแถบขนสีขาว ๑-๒ แถบ ขนบนลำตัวค่อนข้างหยาบ สีลำตัวแปรผันไปแล้วแต่ชนิด มีตั้งแต่สีน้ำตาลอมเหลือง น้ำตาลเข้ม จนถึงสีคล้ำเกือบดำ ใต้ท้องสีจางกว่า บางชนิดมีจุดสีจาง ๆ บนด้านข้างของลำตัว มีถุงน้ำดี นมมี ๑ คู่ ขาคู่หลังยาวกว่าขาคู่หน้าประมาณ ๕ เซนติเมตร กีบเท้ายาวเรียว ตัวผู้โตเต็มวัยมีต่อมคล้ายถุงอยู่ระหว่างอวัยวะเพศกับสะดือผลิตสารที่มีลักษณะเป็นน้ำมันคล้ายวุ้นสีน้ำตาลแกมแดง มีกลิ่น เมื่อแห้งเป็นก้อนจะเปลี่ยนเป็นสีดำ เรียก ชะมดเชียง (musk) ซึ่งประกอบด้วย มัสโคน (muscone) เรซิน (resin) คอเลสเทอริน (cholesterin) โปรตีน ไขมัน และอื่น ๆ ใช้เป็นส่วนประกอบในการทำน้ำหอม ทั้งยังใช้เป็นส่วนผสมที่สำคัญของยาหลายขนาน แก้ลม แก้เจ็บคอ โรคหนาวสั่น โรคเกี่ยวกับข้อ และแก้อาการเกร็งของกล้ามเนื้อในโรคไอกรน


     กวางชะมดเป็นสัตว์ขี้อายและซุกซ่อนตัว ประสาทรับเสียงดีมาก เมื่อตกใจจะกระโดดหนีไป อย่างรวดเร็ว ในเวลาเช้าและเย็นจะออกจากแหล่งพักนอนซึ่งเป็นซอกหินหรือใต้ขอนไม้เพื่อหากิน ปรกติจะอยู่โดดเดี่ยวเกือบตลอดปี ยกเว้นกลุ่มของกวางชะมดตัวเมียกับลูกเท่านั้น ในอาณาเขตที่อาศัยมีทางเดินติดต่อกันระหว่างแหล่งอาหาร แหล่งหลบภัย และที่ถ่ายมูล หลังถ่ายมูลจะใช้ขาคู่หน้าเขี่ยดินกลบ กวางชะมดตัวผู้แสดงแนวเขตโดยเอากลิ่นจากต่อมทาไว้ตามลำต้นไม้ กิ่งไม้ และก้อนหิน สังเกตเห็นเป็นคราบน้ำมันติดอยู่ และเข้าใจว่ากลิ่นดังกล่าวยังใช้เป็นสื่อให้ตัวเมียเข้ามาหาด้วย
     อาหารได้แก่ ใบไม้ ดอกไม้ ยอดอ่อนของพืช และหญ้า ในฤดูหนาวกินแขนงไม้ มอสส์ และไลเคน
     ฤดูผสมพันธุ์อยู่ในราวเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม กวางชะมดตัวผู้วิ่งไล่ต้อนตัวเมียและต่อสู้กับตัวผู้ตัวอื่น ๆ เพื่อแย่งชิงตัวเมีย เขี้ยวที่ยาวสามารถทำให้เกิดบาดแผลฉกรรจ์บนลำคอและแผ่นหลังของคู่ต่อสู้ ในระยะนี้ตัวผู้แทบไม่กินอาหารเลย ทั้งยังตื่นตัวอยู่ตลอดเวลาและวิ่งไปมาเป็นบริเวณกว้าง เมื่อสิ้นสุดฤดูผสมพันธุ์จึงจะกลับไปอาศัยอยู่ในบริเวณที่อยู่เดิมอีกครั้งหนึ่ง ตั้งท้องนาน ๑๕๐-๑๘๐ วัน ปรกติออกลูกครั้งละตัว ลูกแรกเกิดมีน้ำหนัก ๖๐๐-๗๐๐ กรัม ลำตัวมีจุดและขีดสีขาวพราวทั้งตัว ในช่วงสัปดาห์แรก ลูกกวางชะมดจะซุกตัวนิ่งอยู่ตามซอกหินหรือในพุ่มไม้รกทึบ แม่จะเข้าไปให้นมลูกเป็นครั้งคราว ระหว่างกินนมลูกจะใช้ขาหน้าเกาะเขี่ยขาคู่หลังของแม่ตลอดเวลาเพื่อกระตุ้นให้น้ำนมไหล พฤติกรรมเช่นนี้ไม่พบในกวางชนิดอื่น ๆ เมื่ออายุได้ประมาณ ๑ เดือน จึงออกไปหากินพร้อมกับแม่ มีอายุ ๘-๑๒ ปี
     ถิ่นที่อยู่ของกวางชะมดส่วนใหญ่เป็นป่าที่อยู่ห่างไกลชุมชน มักเป็นป่าสนและป่าผลัดใบรกทึบบนภูเขาหิน ในเขตหนาวและเขตอบอุ่นของซีกโลกภาคเหนือ ตั้งแต่ประเทศสหภาพโซเวียต (ในปัจจุบันได้แยกเป็น ๑๕ ประเทศ) มองโกเลีย เกาหลี จีน ลงมาถึงประเทศที่อยู่ตามแนวเทือกเขาในภูมิภาคเอเชียใต้ เช่น อัฟกานิสถาน ปากีสถาน ตอนเหนือของอินเดีย รัฐสิกขิม ภูฏาน เนปาล และประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่ประเทศพม่าจนถึงเวียดนาม
     มนุษย์ล่ากวางชะมดมาเป็นเวลานานแล้วเพื่อเอาสารในต่อมกลิ่นมาขายเป็นชะมดเชียง นอกจากมนุษย์แล้วศัตรูธรรมชาติของกวางชะมดยังมีแมวป่าลิงซ์ (lynx) หมาป่า (wolf) หมาจิ้งจอก (fox) หมาไม้ (marten) และนกล่าเหยื่อขนาดใหญ่อีกด้วย
     เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๑ ประเทศจีนได้ริเริ่มโครงการเพาะพันธุ์กวางชะมดขึ้นเป็นครั้งแรกที่มณฑลซื่อชวนหรือเสฉวน ต่อมาอีกหลายปีจึงประสบผลสำเร็จในการเลี้ยงกวางชะมดในกรงขนาดใหญ่ แต่อัตราการตายของลูกกวางชะมดยังสูงและมีอายุค่อนข้างสั้น
     ต้นปี ๒๕๒๒ รัฐบาลจีนได้มอบกวางชะมดอายุประมาณ ๓ ปี ให้แก่รัฐบาลไทย ๑ คู่ รัฐบาลได้มอบให้กรมป่าไม้นำไปเลี้ยงเพื่อหาทางขยายพันธุ์ กองอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้ ได้นำกวางชะมดคู่นี้ไปเลี้ยงไว้ที่หน่วยพิทักษ์ป่าภูเรือ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง จังหวัดเลย เมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๒ กวางชะมดคู่นี้เป็นกวางชะมดป่า (Moschus berezovskii Flerov) ที่ได้มาจากมณฑลซื่อชวน การเลี้ยงได้ให้กินดอกและใบของพืชหลายชนิด รวมทั้งฝอยลม ชนิด Usnea spp. อีกด้วย
     กวางชะมดมีเพียงสกุลเดียว คือ Moschus เดิมเคยจัดกวางชะมดไว้ในวงศ์เดียวกับพวกกวาง(วงศ์ Cervidae) แต่กวางชะมดมีลักษณะหลายอย่างผิดแผกไปจากกวาง ได้แก่ ลำตัวมีขนาดเล็กถึง ขนาดปานกลาง ตัวผู้มีเขี้ยวใหญ่และยาวมาก ด้านบนของกะโหลกไม่มีปุ่มกระดูกที่ทำหน้าที่เป็นฐานรองรับโคนเขา
     ปัจจุบันพบกวางชะมด ๔ ชนิด คือ
     ๑. กวางชะมดไซบีเรีย (Moschus moschiferus Linn.) ชนิดนี้มีขนาดใหญ่ที่สุด ขนาดลำตัว ๕๕-๖๐ เซนติเมตร ลำตัวสีน้ำตาลเข้ม มักมีลายจุดและขีดสีจางกว่าบนลำตัว ขนค่อนข้างยาวและอ่อนนุ่ม ลำคอมีแถบสีขาวพาดตามยาว ๒ แถบ กระดูกขายาวกว่าชนิดอื่น ๆ ลูกกวางมีลายจุดและขีดสีขาวเด่นทั้งตัว พบอาศัยอยู่ในแคว้นไซบีเรีย จนถึงเกาะซาคาลินในประเทศสหพันธรัฐรัสเซีย มองโกเลีย เกาหลี และจีนตอนเหนือ
     ๒. กวางชะมดเขาสูง [Moschus chrysogaster (Hodgson)] ขนาดลำตัว ๕๐-๕๖ เซนติเมตร กะโหลกหัวมีส่วนปากยาวกว่าชนิดอื่น ๆ ลำตัวสีน้ำตาลเหลือง มีประสีจางไม่เด่นชัดนัก ปลายใบหูสีเหลือง ลำคอมีแถบกว้างสีขาวเพียงแถบเดียว ชนิดย่อยที่พบในรัฐสิกขิมและประเทศเนปาลมีลำตัวสีน้ำตาลคล้ำเกือบดำ ไม่มีแถบสีขาวที่ลำคอ อาศัยอยู่ตามพื้นที่สูงแถบเทือกเขาหิมาลัยและเทือกเขาใกล้เคียงในประเทศอัฟกานิสถาน ปากีสถาน แคว้นแคชเมียร์ รัฐสิกขิม ภูฏาน เนปาล และจีนภาคตะวันตก
     ๓. กวางชะมดดำ (Moschus fuscus Li) ขนาดลำตัว ๕๐-๕๓ เซนติเมตร ลำตัวสีดำเข้ม ไม่มีลายสีจางบนลำตัว มักอยู่ตามหุบเขาลึก ริมแม่น้ำในแคว้นยูนนานและทิเบต พม่าตอนเหนือ เนปาล รัฐสิกขิม และภูฏาน
     ๔. กวางชะมดป่า (Moschus berezovskii Flerov) ชนิดนี้มีขนาดเล็กที่สุด ขนาดลำตัวน้อยกว่า ๕๐ เซนติเมตร ลำตัวสีน้ำตาลเข้ม มีจุดละเอียดสีน้ำตาลเหลืองประตลอดทั้งตัว ลำคอมีลายแถบสีขาว ๒ แถบ ปลายใบหูมีสีดำ พบอาศัยอยู่ในป่าทึบของประเทศจีน ตั้งแต่ภาคตะวันตก ภาคใต้ ไปจนจดชายฝั่งทะเลด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศเวียดนามตอนเหนือ.

 

 

 

ชื่อหลัก
กวางชะมด
ชื่อวิทยาศาสตร์
Moschus spp.
ชื่อสกุล
Moschus
ชื่อชนิด
spp.
ชื่อวงศ์
Moschidae
ชื่อสามัญ
Musk Deer
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายจารุจินต์ นภีตะภัฏ
คำสำคัญ
-
แหล่งอ้างอิง
อนุกรมวิธานสัตว์ อักษร ก กองวิทยาศาสตร์ อนุกรมสัตว์ ก.1.pdf