ลักษณะทั่วไป เป็นปลาน้ำเค็มขนาดเล็ก ความยาวตลอดตัว ๑๐-๑๕ เซนติเมตร แต่อาจยาวได้ถึง ๒๕ เซนติเมตร ลำตัวป้อม แบนข้าง ท้องมน เนื้อหนังแข็ง ส่วนกว้างที่สุดซึ่งวัดที่แนวต้นครีบหลัง ยาว ๑ ใน ๒.๑-๒.๕ ของความยาวหัวและลำตัวรวมกัน เฉพาะหัวยาว ๑ ใน ๓.๑-๓.๔ ของความยาวหัวและลำตัวรวมกัน แนวสันหลังโค้งมากกว่าแนวสันท้องเล็กน้อย ตาค่อนข้างใหญ่และกลม อยู่ค่อนไปทางสันหัวและคล้อยไปทางด้านหน้า วัดได้ ๑ ใน ๒.๗-๓.๒ ของความยาวหัว คอดหางกว้างพอ ๆ กับเส้นผ่านศูนย์กลางตา
ปากอยู่ปลายสุดของหัวในแนวต่ำกว่าตา กว้างพอประมาณและเงยขึ้นเล็กน้อย ริมฝีปากหนา ขากรรไกรบนยาวไปสุดที่ประมาณแนวขอบหน้าของตาหรือยาวเลยไปอีกเพียงเล็กน้อย ฟันซี่เล็กแหลม โค้งเล็กน้อย เรียงกันเป็นแถบเล็ก เฉพาะที่แถวนอกของขากรรไกรบนมีขนาดใหญ่กว่าบริเวณอื่น ซี่กรองเหงือกบนโครงเหงือกอันแรกสั้น มีจำนวน ๕ ซี่ทางด้านบน และ ๖ ซี่ทางด้านล่าง
บริเวณใต้ตามีกระดูกหัวตาที่ตรงส่วนท้ายยื่นโผล่เป็นหนามแข็ง ซึ่งเป็นลักษณะเด่นที่สุดของปลาสกุลนี้ รวมทั้งสกุล Parascolopsis ซึ่งอยู่ในวงศ์เดียวกันและพบในน่านน้ำไทยเช่นเดียวกัน ขอบล่างของกระดูกชิ้นนี้ถัดจากโคนหนามดังกล่าวไปทางด้านหน้า จักเป็นฟันเลื่อยหรือหนาม ขนาดเล็กกว่ามากอีกประมาณ ๓ อัน
ครีบหลังมีขนาดใหญ่เห็นเป็นครีบเดียวยาวต่อเนื่องกันค่อนข้างสม่ำเสมอโดยตอนหน้าเป็นก้านครีบแข็ง ๑๐ ก้าน ก้านแรกสั้นที่สุด ก้านที่ ๔ และ ๕ ยาวที่สุด และก้านถัดไปจะลดขนาดลงอีก ตามด้วยก้านครีบแขนงอีก ๙ ก้าน ซึ่งมีขนาดยาวพอ ๆ กันหรืออาจยาวกว่าก้านครีบแข็งเพียงเล็กน้อย ครีบก้นมีขนาดเล็ก อยู่ตรงข้ามกับส่วนครีบอ่อนของครีบหลังและมีรูปร่างคล้ายกัน โดยปลายครีบจะมนกลม ก้านครีบแข็งก้านที่ ๒ ของครีบก้นแบน ล่ำสัน และยาวใหญ่กว่าก้านที่ ๓ ซึ่งยาวพอ ๆ กับก้านครีบแข็งก้านที่ยาวที่สุดของครีบหลัง ส่วนก้านแรกสั้นที่สุด โดยสั้นกว่าครึ่งหนึ่งของความยาวของก้านที่ ๒ ครีบก้นมีก้านครีบแขนง ๗ ก้าน ซึ่งอาจยาวพอ ๆ กันหรือสั้นกว่าก้านครีบแขนงของครีบหลังเล็กน้อย ครีบอกและครีบท้องยาวพอ ๆ กันโดยครีบท้องอยู่ในแนวหลังโคนครีบอกเล็กน้อย และก้านครีบแขนงก้านแรกมักยื่นยาวเป็นเส้นสั้น ๆ ครีบอกตั้งอยู่ในแนวต่ำกว่าตา ส่วนครีบหางเป็นแฉกตื้น ปลายทู่ หรือเห็นเป็นเพียงเว้าเท่านั้น
หัวและลำตัวคลุมและยึดแน่นด้วยเกล็ดหนาม (ctenoid scale) ขนาดปานกลางซึ่งมีลักษณะ สากมือโดยตลอด แต่ไม่ล้ำไปบนครีบ ยกเว้นที่ครีบหางและเฉพาะบริเวณโคนครีบอก เกล็ดบนสันหัวเล็กกว่าส่วนอื่นและล้ำถึงแนวหน้ารูจมูก กระดูกทุกชิ้นที่เป็นแผ่นปิดเหงือกมีเกล็ดคลุม ส่วนกระดูกหัวตาไม่มีเกล็ดคลุม กระดูกแผ่นปิดเหงือกชิ้นหน้า (preopercle) มีเกล็ดเรียงอยู่ ๕-๖ แถว ตรงส่วนท้ายของกระดูกชิ้นนี้เผยอเล็กน้อยและมีส่วนของขอบกระดูกบริเวณนี้จักเป็นฟันเลื่อย
เส้นข้างตัวพาดโค้งอย่างสม่ำเสมอคล้อยตามแนวสันหลัง อยู่สูงกว่าแนวแกนลำตัวเล็กน้อย ยกเว้นที่พาดผ่านบริเวณกลางคอดหาง เกล็ดตามแนวเส้นข้างตัวมี ๓๘-๔๒ เกล็ด เหนือเส้นข้างตัวไปถึงแนวกลางสันหลังมีเกล็ด ๔ แถว แต่ละแถวเรียงคู่ขนานไปกับแนวสันหลังหรือเส้นข้างตัว แถวเกล็ดที่อยู่ใต้เส้นข้างตัวทั้งหมดจะเรียงกันในแนวทแยงสูงขึ้นทางด้านท้ายจนจดเส้นข้างตัว
หัวและลำตัวโดยเฉพาะบริเวณใกล้แนวสันหลังมีสีน้ำตาลแดงหรือแดงคล้ำเหลือบสีเงิน โดยจะจางลงไปทางด้านท้องจนเป็นสีเงินวาว ที่เป็นลักษณะเด่นคือ ตรงบริเวณส่วนท้ายของแผ่นปิดเหงือกมีแถบสีขาวหรือสีเงินพาดในแนวตั้ง แถบนี้จะแคบลงเมื่อใกล้แนวสันหลัง ในบางครั้งจะพบปลากรังที่ยังมีแถบสีขาวหรือสีเงินทำนองเดียวกันแต่แคบกว่า พาดตามยาวอยู่ใต้เส้นข้างตัวพอดี โดยจะเริ่มจากใกล้มุมแผ่นปิดเหงือกไปสุดที่เส้นข้างตัวบริเวณใต้แนวกึ่งกลางของฐานครีบหลัง ปลาที่มีแถบนี้ด้วยจะมีจุดสีน้ำตาลไหม้บนเกล็ดข้างตัว โดยเฉพาะที่อยู่ใต้เส้นข้างตัวใกล้ครีบอกจะเด่นชัดมาก ทำให้เห็นเป็นลายสีเรียงทแยงอยู่ข้างตัวหลายเส้น และยังมีขอบของกระดูกแผ่นปิดเหงือกชิ้นหน้าจักเป็นฟันเลื่อยที่ไม่ชัดเจนนัก ส่วนครีบเดี่ยวจะมีสีแดงขมุกขมัว ขอบบนและล่างของครีบหางเป็นสีแดงเข้มกว่าส่วนอื่น ส่วนปลากรังที่มีเฉพาะแถบสีขาวพาดในแนวตั้งอยู่ที่แผ่นปิดเหงือกจะมีส่วนขอบของแผ่นปิดเหงือกตรงที่ค่อนไปทางมุมแผ่นปิดเหงือกเป็นสีน้ำตาลแดงเข้ม ส่วนที่ขอบด้านล่างลงมาบริเวณตรงข้ามกับครีบอกจะมีสีเหลืองหรือส้ม เกล็ดข้างตัวออกสีเหลือง กลางเกล็ดแต่ละเกล็ดมีจุดสีน้ำตาลเห็นเป็นเส้นทแยงเช่นกันแต่อ่อนกว่า ส่วนครีบเดี่ยวสีเหลืองสด ขอบสีเหลืองเข้มและยังมีขอบของกระดูกแผ่นปิดเหงือกชิ้นหน้าจักเป็นฟันเลื่อยที่ชัดเจนกว่า โดยทั่วไปที่รอบตาดำทางด้านบนมีสีเหลือง ส่วนที่เหลือเป็นสีเงินอมฟ้า หรืออาจเป็นสีน้ำตาลขุ่นคล้ำโดยตลอด ด้านในของปากเป็นสีส้มสด ส่วนด้านในของแผ่นปิดเหงือกเป็นสีเหลือง
บรรดาปลาในสกุล Scolopsis ซึ่งมีอีกประมาณ ๘ ชนิดในทะเลน่านน้ำไทยล้วนมีชื่อเรียกทั่วไปว่า ปลาทรายขาว สำหรับปลากรังนับเป็นเพียงชนิดเดียวในสกุลนี้ที่มีลำตัวป้อมที่สุด และมีก้านครีบแข็งก้านที่ ๒ ของครีบก้นที่ใหญ่แข็งแรงมากกว่าของชนิดอื่น ๆ ทั้งหมด ประกอบกับยังมีสีที่เด่นมากดังกล่าว จึงทำให้ได้ชื่อไทยแตกต่างไปจากชนิดอื่น ๆ
ปลาชนิดนี้พบไม่บ่อยนักและพบคราวละไม่มาก จึงเข้าใจว่าไม่ใช่ปลาฝูง อาศัยหากินสัตว์ขนาดเล็กอยู่ตามพื้นท้องทะเล โดยเฉพาะที่เป็นพื้นทรายทั้งในที่โล่งและบริเวณแนวปะการังหรือรอบเกาะแก่ง จนถึงระดับน้ำลึกไม่เกิน ๕๐ เมตร จับได้ด้วยอวนลาก โป๊ะ ลอบ และเบ็ด สามารถนำมาเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม ไม่พบว่าเป็นปลาอาหารที่สำคัญอย่างใด
ปลาชนิดนี้มีการแพร่กระจายอยู่ในเขตทะเลตอนใต้ของประเทศญี่ปุ่น ทะเลจีนใต้ ฝั่งประเทศในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตลอดฝั่งตอนเหนือของทวีปออสเตรเลีย ฝั่งและหมู่เกาะในอ่าวเบงกอล รวมทั้งทะเลอันดามัน ตลอดไปจนถึงอ่าวเปอร์เซีย และฝั่งด้านตะวันออกของทวีปแอฟริกา.