กระโห้-ปลา

Catlocarpio siamensis Boulenger

ชื่อวิทยาศาสตร์
Catlocarpio siamensis Boulenger วงศ์ Cyprinidae
ชื่ออื่น ๆ
ปลากะมัน, ปลากระมัน, ปลาหัวมัน (แม่น้ำโขง)
ชื่อสามัญ
Siamese Giant Carp

ลักษณะทั่วไป เป็นปลาน้ำจืดที่มีลักษณะใกล้เคียงกับปลาตะเพียน หรือปลาสร้อยชนิดต่าง ๆ พบเฉพาะในประเทศไทยตามแม่น้ำสายใหญ่ ๆ และแหล่งน้ำต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเขตภาคกลางจนถึงแม่น้ำโขง มักพบอาศัยในส่วนลึกของแหล่งน้ำ ในฤดูน้ำหลากอาจพบปลาขนาดเล็กในลำคลอง หนอง บึง ที่ติดต่อกับบริเวณเหล่านั้น เคยมีรายงานว่ามีขนาดยาวได้ถึง ๓ เมตร จึงจัดเป็นปลาน้ำจืดจำพวกปลาตะเพียนที่ใหญ่ที่สุดของโลก พบทั่วไปยาว ๒๐-๓๐ เซนติเมตร
     ปลากระโห้มีลำตัวยาวแต่ป้อม ด้านข้างแบนเล็กน้อย แนวสันหลังจากหัวและหางมาบรรจบยกเป็นมุมที่ต้นครีบหลัง ในปลาขนาดใหญ่ แนวสันหลังข้างหัวจะลาดชันกว่าแนวสันหลังข้างหาง สันท้องกลม แนวสันท้องโค้งเล็กน้อย ในปลาขนาดเล็ก เช่น ปลาที่ยาวประมาณ ๒๐ เซนติเมตร หัวมีสัดส่วนใหญ่มากเมื่อเทียบกับลำตัว คือ อาจยาวประมาณ ๑ ใน ๒ ถึง ๑ ใน ๓ ของความยาวตลอดตัว แต่เมื่อปลามีขนาดใหญ่ขึ้น หัวจะมีขนาดลดลงเมื่อเทียบสัดส่วนกับลำตัว เหลือเพียง ๑ ใน ๓.๗ ของความยาวลำตัว ปลายหัวตั้งแต่ด้านหน้าของตาเมื่อมองจากด้านบนจะดูกว้างใหญ่ ตาเล็กอยู่ในแนวแกนลำตัวค่อนไปทางข้างหน้า ไม่มีเยื่อใสคลุม ขอบตาเป็นวงเห็นได้ชัดเจน ปากกว้าง โค้งกลม และเชิด ปลายปากล่างยื่นล้ำปากบนเล็กน้อย ริมฝีปากบนแคบ ริมฝีปากล่างอวบหนา ไม่มีหนวด ไม่มีฟันในปาก ฟันที่บริเวณคอหอยมีขนาดเล็ก สั้นและทู่ เรียงอยู่ข้างละ ๑ แถว แถวละ ๔ ซี่ ในปลาขนาดเล็กประมาณ ๒๐ เซนติเมตรส่วนท้ายของขากรรไกรบนยาวถึงหรือเลยแนวขอบด้านหน้าของตา แต่ในปลาที่โตมากขึ้นจะขยายจนยื่นเลยแนวขอบหลังของตา รูจมูก ๒ รูที่แต่ละข้างของหัวอยู่ชิดกันในแนวเหนือระดับตาและประกอบด้วยติ่งเนื้อที่ขอบ บริเวณช่องว่างระหว่างตาโค้งกว้าง ขอบแผ่นปิดเหงือกมีแผ่นเนื้อขนาดใหญ่แผ่ยื่นออกไปทางด้านท้าย ซี่กรองเหงือกมีขนาดเล็กเรียวยาวเรียงชิดกัน ในปลาขนาดยาวกว่า ๒๐ เซนติเมตร ซี่กรองเหงือกเฉพาะที่อยู่บนแกนอันล่างของโครงเหงือกอันนอกสุดจะมีอยู่ประมาณ ๖๕ ซี่ ในปลาที่มีขนาดใหญ่ขึ้นจะมีมากกว่า ๑๐๐ ซี่
     เกล็ดปลากระโห้มีขนาดใหญ่ ขอบเรียบ และยึดแน่นอยู่กับผิวหนัง หัวมีผิวเรียบมัน ไม่มีเกล็ดคลุม เส้นข้างตัวเริ่มโดยลาดลงเล็กน้อยแล้วพาดเป็นแนวเกือบตรงไปตามแกนลำตัว ประกอบด้วยเกล็ด ๓๙-๔๐ เกล็ด ส่วนที่อยู่ในแนวเฉียงข้างตัวจากหน้าครีบก้นมี ๑๔ เกล็ด ที่อยู่ในแนวสันหลังจากท้ายทอยจนจดต้นครีบหลังมี ๒๐-๒๑ เกล็ด ที่เรียงอยู่รอบคอดหางมี ๑๘ เกล็ด
     ครีบต่าง ๆ กว้างและยื่นโค้งคล้ายเคียว ครีบหลังมีก้านครีบอ่อนเดี่ยวที่มีลักษณะโอนอ่อนได้ รวม ๓ ก้าน ก้านสุดท้ายไม่จักเป็นฟันเลื่อย และต่อด้วยก้านครีบแขนง ๙ ก้าน ครีบก้นมีก้านครีบเดี่ยว ๓ ก้าน ก้านครีบแขนง ๕ ก้าน
     ด้านบนของหัวและลำตัวโดยเฉพาะใกล้แนวสันหลังสีน้ำตาลคล้ำอมเขียว ต่ำลงมาจนถึงสันท้องจางลงจนเป็นสีขาวเงิน บริเวณขอบเกล็ดทางด้านบนของลำตัว โดยเฉพาะตามแนวเหลื่อมกันของเกล็ดแถวบนและแถวล่างมีสีน้ำตาลคล้ำหรือดำคล้ำตามลำดับ ทำให้เห็นเป็นแนวสีดังกล่าวขนานกันตามยาวตลอดข้างตัว รอบตาดำสีขาว ครีบต่าง ๆ ของปลาขนาดเล็กอาจมีสีอมเขียวอ่อนที่ใกล้โคนครีบ แต่จะเปลี่ยนเป็นสีแดงหรือส้มในปลาที่มีขนาดใหญ่ขึ้น และใกล้ปลายครีบจะเปลี่ยนเป็นสีเทาดำ จนกระทั่งสีดำที่ขอบและข้างปลายแหลมของครีบ
     ปรกติปลากระโห้วางไข่ผสมพันธุ์ในระหว่างฤดูฝนโดยเฉพาะในเดือนกรกฎาคมถึงกันยายนตามบริเวณน้ำลึกใกล้ปากสายน้ำที่เป็นสาขาของแม่น้ำสายใหญ่ เท่าที่ทราบกัน ตัวเมียจะเริ่มมีไข่เมื่อมีน้ำหนักไม่ต่ำกว่า ๒๘ กิโลกรัม ตัวผู้เล็กกว่าและมีสีคล้ำกว่าตัวเมีย ปลาที่ยาวประมาณ ๑๒๐ เซนติเมตร จะหนักประมาณ ๑๐๐ กิโลกรัม แม่ปลาขนาด ๕๕ กิโลกรัม จะมีฝักไข่ที่สุก หนักประมาณ ๕ กิโลกรัม จำนวนไข่ประมาณ ๕ ล้านฟอง ส่วนแม่ปลาที่หนักประมาณ ๖๑ กิโลกรัม มีไข่หนักประมาณ ๙.๕ กิโลกรัม จำนวนไข่ประมาณ ๑๑ ล้านฟอง ไข่ปลามีเส้นผ่านศูนย์กลางเฉลี่ย ๑.๔ มิลลิเมตร สีเหลืองอ่อน เป็นประเภทครึ่งลอยครึ่งจม ลูกปลาที่เพิ่งฟักเป็นตัวอาศัยหากินอยู่ในที่ตื้นบริเวณน้ำท่วม และห้วยหนองในระยะน้ำหลาก เมื่อโตขึ้นและพ้นฤดูฝนไปแล้ว จะลงไปอาศัยในแหล่งน้ำที่ใหญ่และลึกกว่าเดิม
     ปลากระโห้กินพืชและสัตว์น้ำขนาดเล็ก รวมทั้งสาหร่าย พืชน้ำที่มีใบ และเมล็ดพืชบางชนิด
     เนื้อปลากระโห้มีรสดี นิยมใช้เป็นอาหาร เป็นที่รู้จักกันมาแต่ครั้งโบราณ เนื้อเยื่ออะดีนอยด์ (adenoid) ที่เพดานปากมีขนาดใหญ่ เป็นส่วนที่พระเจ้าอยู่หัวท้ายสระพระมหากษัตริย์ในสมัยอยุธยาโปรดเสวย แต่พงศาวดารบันทึกไว้คลาดเคลื่อนว่าเป็นปลาตะเพียน ในโคลงนิราสสุพรรณของสุนทรภู่ กล่าวถึงปลาชนิดนี้ว่า “กโฮ่โผล่ผุดขล้ำ เคลื่อนคล้อยลอยแล”


     เนื่องจากเป็นปลาท้องถิ่นที่จะผสมพันธุ์ได้ต่อเมื่อมีขนาดใหญ่มาก และจับได้เสมอโดยเฉพาะในเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม ทำให้ปลากระโห้มีจำนวนลดน้อยลงทุกที นอกจากนี้ยังเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมที่มีผลต่อการทดแทนประชากรตามธรรมชาติด้วย จึงเป็นผลให้มีการค้นคว้าทดลองผสมเทียมปลาชนิดนี้ขึ้นโดยนักวิชาการประมงของไทย จนเป็นผลสำเร็จใน พ.ศ. ๒๕๑๘.

 

 

ชื่อหลัก
กระโห้-ปลา
ชื่อวิทยาศาสตร์
Catlocarpio siamensis Boulenger
ชื่อสกุล
Catlocarpio
ชื่อชนิด
siamensis
ชื่อผู้ตั้งชื่อชนิดสัตว์
Boulenger
ชื่อวงศ์
Cyprinidae
ชื่ออื่น ๆ
ปลากะมัน, ปลากระมัน, ปลาหัวมัน (แม่น้ำโขง)
ชื่อสามัญ
Siamese Giant Carp
ผู้เขียนคำอธิบาย
ศ. ดร.ทศพร วงศ์รัตน์
คำสำคัญ
-
แหล่งอ้างอิง
อนุกรมวิธานสัตว์ อักษร ก กองวิทยาศาสตร์ อนุกรมสัตว์ ก.1.pdf