กระแห-ปลา

Puntius schwanenfeldii (Bleeker)

ชื่อวิทยาศาสตร์
Puntius schwanenfeldii (Bleeker) วงศ์ Cyprinidae
ชื่ออื่น ๆ
ปลากระแหทอง, ปลาตะเพียนหางทอง, ปลาตะเพียนหางแดง (ภาคกลาง); ปลากระโดงดำ (ราชบุรี); ปลาเลียนไฟ (แม่น้ำโขง); ปลาลำปำ, ปลาปำปำ (ภาคใต้)
ชื่อสามัญ
Schwanenfeld’s Barb, Tinfoil Barb

ลักษณะทั่วไป เป็นปลาน้ำจืดจำพวกปลาตะเพียน รูปร่างสั้นป้อม คล้ายปลาตะเพียนขาวและปลาตะเพียนทองมากที่สุด เป็นที่คุ้นเคยกันดีในชนบท เคยพบตัวอย่างที่มีความยาวถึง ๒๙ เซนติ-เมตร แต่ที่พบทั่วไปความยาวตลอดตัว ๑๕-๒๐ เซนติเมตร ในประเทศใกล้เคียงเคยพบยาวถึง ๓๕ เซนติเมตร
     ปลาชนิดนี้มีลำตัวกว้างเทียบได้ ๑ ใน ๒.๑-๒.๖ ของความยาวลำตัว แนวสันหลังจากหัวและโดยเฉพาะจากหางค่อนข้างตรงและมาบรรจบกันเป็นมุมยกขึ้นที่ต้นครีบหลัง มุมนี้จะยิ่งยกขึ้นสูงอีกเมื่อปลามีขนาดโตขึ้น ปลาขนาดเล็กจึงมีสัดส่วนลำตัวแคบกว่าปลาขนาดใหญ่ แนวสันท้องโค้งสม่ำเสมอ หัวเล็ก เทียบได้ ๑ ใน ๓.๕-๔ ของความยาวลำตัว มีหนวด ๒ คู่ คู่แรกอยู่ใกล้จะงอยปาก มีขนาดสั้นกว่าอีกคู่หนึ่งที่อยู่เหนือมุมปาก โดยคู่หลังมีความยาวมากกว่าเส้นผ่านศูนย์กลางตา ปากเล็ก จะงอยปากทู่และยื่นล้ำปากล่างเพียงเล็กน้อย ริมฝีปากบางและเรียบ ตาโต ในปลาขนาดเล็กจะมีเส้นผ่านศูนย์กลางของตายาวกว่าระยะจากตาไปถึงปลายสุดจะงอยปากอย่างเห็นได้ชัด แต่จะเท่า ๆ กันในปลาขนาดใหญ่


     ครีบหลังมีก้านครีบเดี่ยว ๓ ก้าน เฉพาะก้านสุดท้ายจักเป็นฟันเลื่อย และต่อด้วยก้านครีบแขนงอีก ๘ ก้าน ส่วนครีบก้นมีก้านครีบเดี่ยว ๓ ก้าน ก้านสุดท้ายไม่จักและไม่แข็งนัก ทั้ง ๒ ครีบนี้มีขอบปลายครีบเว้าลึก ครีบหางเป็นแฉกลึกและมีปลายยาวแหลม เส้นข้างตัวทอดย้อยต่ำและขนานกับแนวสันท้อง เกล็ดตามแนวเส้นข้างตัวมี ๓๕-๓๖ เกล็ด เกล็ดในแนวเฉียงข้างตัวนับจากหน้าครีบก้นมี ๑๓-๑๕ เกล็ด แต่เฉพาะที่นับจากเหนือเส้นข้างตัวมี ๘ เกล็ด เกล็ดในแนวสันหลังจากท้ายทอยจดครีบหลังมี ๑๓-๑๔ เกล็ด ส่วนเกล็ดรอบคอดหางมี ๑๖ เกล็ด
     พื้นลำตัวสีเงินและอาจแซมด้วยสีเหลืองทองเรื่อ ๆ รอบตาดำสีเหลืองอ่อน แผ่นปิดเหงือกสีเหลืองอ่อน ครีบหลังสีม่วงแดงสด ส่วนครึ่งนอกของกระโดงครีบหลังมีสีดำ ครีบท้อง ครีบก้น และครีบหางสีแดง เฉพาะบริเวณเกือบชิดขอบบนและล่างของครีบหางมีแถบสีดำหรือน้ำเงินดำ ครีบอกสีเหลืองหรือเหลืองอมเขียว
     อาหารของปลาชนิดนี้ปรกติจะเป็นพืชใต้น้ำและสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังหลายชนิด แมลงและตัวอ่อนของแมลง ลูกกุ้ง ลูกปู ไข่ปลา ลูกปลา
     นอกจากจะพบปลากระแหแพร่กระจายอยู่ทั่วประเทศไทยจนจดแม่น้ำโขงแล้ว ยังพบในคาบสมุทรมลายู เกาะสุมาตราและบอร์เนียว ในประเทศไทยมีชุกชุมในทะเลสาบสงขลาตอนในหรือทะเลสาบพัทลุง จนทำให้เขตนี้มีตำบลชื่อเดียวกับปลาชนิดนี้ว่า ตำบลลำปํา พบอาศัยอยู่ทั้งในเขตน้ำไหลและน้ำนิ่ง หรือในน้ำตื้น เช่น เขตท้องนา จนถึงบริเวณน้ำลึกในแม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง หรือแม้ในอ่างเก็บน้ำ รวมทั้งในแหล่งน้ำใสเขตแม่น้ำ ลำธาร ที่มีพื้นเป็นหิน กรวด ทราย หรือในน้ำขุ่นระยะน้ำหลาก ในฤดูน้ำแดง พบรวมฝูงอยู่กับฝูงปลาสร้อยชนิดต่าง ๆ สามารถกระโดดได้ดี
     ปลากระแหเป็นปลาอาหารที่รู้จักกันดีชนิดหนึ่ง แต่ยังไม่สามารถเพาะเลี้ยงให้แพร่พันธุ์ได้ในที่กักขัง ส่วนที่ซื้อขายกันเป็นปลาสวยงามจนถึงขั้นส่งออกต่างประเทศเป็นปลาที่รวบรวมได้มาจากแหล่งน้ำธรรมชาติ และเป็นผลให้มีการเลี้ยงเพื่อเป็นอาหารอีกส่วนหนึ่งด้วย ปลาชนิดนี้นิยมเลี้ยงกันเป็นปลาสวยงาม ทนต่อสภาพการเลี้ยงในที่กักขัง เป็นปลาที่ชาวไทยรู้จักคุ้นเคยมาแต่โบราณ จนเชื่อกันว่าเป็นหนึ่งในจำนวนปลาตะเพียนไม่กี่ชนิดดังที่กล่าวมาข้างต้นที่มีรูปร่างเป็นปลาตามความรู้สึกของคนไทย ช่วยชักนำให้เกิดการประดิษฐ์เครื่องจักสานจากใบลานเป็นรูปพวงปลาประกอบด้วยแม่และฝูงลูกปลาในลักษณะต่าง ๆ แขวนไว้สำหรับเด็กเล็ก และดูเล่นในบ้าน
     ชื่อ “กระแห” มีปรากฏมากว่า ๒๐๐ ปี คือ ในกาพย์เห่เรือ พระนิพนธ์ของเจ้าฟ้าธรรม-ธิเบศร์ กล่าวถึงปลาชนิดนี้ว่า “กระแหแหห่างชาย ดังสายสวาทคลาดจากสม”.

 

 

ชื่อหลัก
กระแห-ปลา
ชื่อวิทยาศาสตร์
Puntius schwanenfeldii (Bleeker)
ชื่อสกุล
Puntius
ชื่อชนิด
schwanenfeldii
ชื่อผู้ตั้งชื่อชนิดสัตว์
(Bleeker)
ชื่อวงศ์
Cyprinidae
ชื่ออื่น ๆ
ปลากระแหทอง, ปลาตะเพียนหางทอง, ปลาตะเพียนหางแดง (ภาคกลาง); ปลากระโดงดำ (ราชบุรี); ปลาเลียนไฟ (แม่น้ำโขง); ปลาลำปำ, ปลาปำปำ (ภาคใต้)
ชื่อสามัญ
Schwanenfeld’s Barb, Tinfoil Barb
ผู้เขียนคำอธิบาย
ศ. ดร.ทศพร วงศ์รัตน์
คำสำคัญ
-
แหล่งอ้างอิง
อนุกรมวิธานสัตว์ อักษร ก กองวิทยาศาสตร์ อนุกรมสัตว์ ก.1.pdf