กระแต

ลักษณะทั่วไป รูปร่างลักษณะคล้ายกระรอก
     แต่ปากแหลม พวงหางแบน ไม่มีฟันแทะ ขนตามลำตัวอาจเป็นสีเหลือง แดง น้ำตาล หรือเทา แล้วแต่ชนิดและสภาพแวดล้อม กระแตที่พบทางภาคใต้ของประเทศจะมีสีแดงมากกว่าที่พบทางภาคเหนือ สันนิษฐานว่าความเข้มของสีขนมีความสัมพันธ์กับปริมาณน้ำฝน ความชื้น และอุณหภูมิ เชื่อกันทางวิชาการว่า กระแตเป็นสัตว์กลุ่มต้นกำเนิดสายวิวัฒนาการของลิงและมนุษย์
     กระแตมีอายุเฉลี่ย ๒-๓ ปี ขยายพันธุ์ได้ตลอดปี ระยะตั้งท้อง ๔๓-๔๖ วัน ออกลูกครอกละ ๑-๓ ตัว ส่วนใหญ่ ๒ ตัว ลูกเกิดใหม่ตัวสีชมพู ไม่มีขน ตาปิดสนิท จนกระทั่ง ๕ วันให้หลังขนจึงเริ่มขึ้น ฟันขึ้นเมื่ออายุประมาณ ๘ วัน ลืมตาเมื่ออายุประมาณ ๒๓ วัน
     ในประเทศไทยพบกระแตทั้งสิ้น ๔ ชนิด คือ
     ๑. กระแต (Tupaia glis Diard) ชื่อสามัญ Common Tree Shrew ขนาดลำตัว ๑๕-๒๐ เซนติเมตร หางยาว ๑๖-๒๓ เซนติเมตร น้ำหนัก ๘๕-๑๘๕ กรัม ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่บนพื้นดินอาจขึ้นต้นไม้เตี้ย ๆ บ้าง หากินในเวลากลางวัน อาหารหลักได้แก่ แมลง และสัตว์ขนาดเล็ก เช่น ลูกนก สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก สัตว์เลื้อยคลาน ไข่ของสัตว์ต่าง ๆ ผลไม้ และยอดไม้ก็กินบ้าง
          กระแตชนิดนี้มี ๑๓ ชนิดย่อย คือ
               ๑. T. g. belangeri Wagner
               ๒. T. g. chinensis Anderson
               ๓. T. g. clarissa Thomas
               ๔. T. g. concolor Bonhote
               ๕. T. g. ferruginea Raffles
               ๖. T. g. laotum Thomas
               ๗. T. g. olivacea Kloss
               ๘. T. g. wilkensoni Robinson et Kloss
               ๙. T. g. cognata Chasen
               ๑๐. T. g. lacernata Thomas
               ๑๑. T. g. operosa Robinson et Kloss
               ๑๒. T. g. sinus Kloss
               ๑๓. T. g. ultima Robinson et Kloss

          ลำดับที่ ๑-๘ พบบนแผ่นดินใหญ่ ลำดับที่ ๙-๑๓ พบตามเกาะต่าง ๆ ในทะเล
     ๒. กระแตเล็ก (Tupaia minor malaccana Anderson) ชื่อสามัญ Pigmy Tree Shrew ขนาดลำตัว ๑๑-๑๔ เซนติเมตร หางยาว ๑๓-๑๖ เซนติเมตร น้ำหนัก ๓๕-๙๐ กรัม ขนด้านบนลำตัวสีเขียวอมเหลืองแซมด้วยดำและแดงเรื่อ ๆ ขนส่วนโคนเข้มกว่าส่วนปลาย ที่ไหล่มีแถบสีเขียว หรือสีเหลืองหม่น ใต้ท้องสีขาวหรือเหลืองหม่น สันหางสีเข้มกว่าลำตัว
          กระแตเล็กหากินตามสุมทุมพุ่มไม้ในเวลากลางวัน มักไม่ลงดิน เป็นสัตว์หวงถิ่นที่อยู่ (territorial) กินแมลงและผลไม้ ส่วนใหญ่จะขยายพันธุ์ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม ออกลูกครอกละ ๑-๒ ตัว พบเฉพาะทางภาคใต้
     ๓. กระแตหางหนู [Dendrogale murina (Schlegel et Müller)] ชื่อสามัญ Northern Smooth-tailed Tree Shrew ขนาดลำตัว ๑๑-๑๕ เซนติเมตร หางยาว ๙-๑๔ เซนติเมตร น้ำหนัก ๓๕-๕๕ กรัม อกคลุมด้วยขนสั้น ๆ ขนที่ปกคลุมลำตัวสั้นและอ่อนนุ่มสีน้ำตาลอมเหลือง ส่วนใต้ท้องและด้านในของตีนทั้งสี่จะมีสีขาวคล้ำ หน้าแหลม มีแถบสีคล้ำพาดจากหูจนถึงปลายจมูก ตัวผู้ขนาดใหญ่กว่าตัวเมียเล็กน้อย สีสดกว่าและหางสีเข้มกว่า
          กระแตหางหนูหากินในเวลากลางวัน มักพบเห็นตามกิ่งไม้เตี้ย ๆ หรือตามพุ่มไม้ กินแมลงโดยเฉพาะพวกแมลงปีกแข็ง แต่บางครั้งพบว่ากินผลไม้ด้วย รายละเอียดด้านการขยายพันธุ์ยังไม่ปรากฏ เคยพบเฉพาะที่ป่าจังหวัดจันทบุรีและตราด
     ๔. กระแตหางขนนก (Ptilocercus lowi continentis Thomas) ชื่อสามัญ Feather-tailed Tree Shrew, Pen-tailed Tree Shrew ขนาดลำตัว ๑๒-๑๔ เซนติเมตร หางยาว ๑๖-๑๙ เซนติเมตร น้ำหนัก ๒๕-๖๐ กรัม ขนตามลำตัวสั้นและอ่อนนุ่ม ตอนบนของลำตัวสีเทาแก่แกมน้ำตาล ตอนล่างสีเหลืองแกมเทา ตีนสีน้ำตาลแต่นิ้วสีขาว หูและตาใหญ่ซึ่งแสดงว่าเป็นสัตว์หากินกลางคืน หางยาวและไม่มีขน ยกเว้นเฉพาะส่วนปลายมีขนสีขาวแผ่แบบขนนก มักไม่ลงดิน แต่เมื่อลงดินแล้วมักกระโดด เวลานอนจะขดลำตัวเป็นก้อนกลมโดยมีส่วนขนปลายหางปิดหน้า
          กระแตหางขนนกกินแมลง ผลไม้ และสัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็ก ทำรังตามโพรงไม้สูง ๆ พบตามป่าทึบในจังหวัดยะลา สตูล และนราธิวาส เป็นสัตว์ที่ค่อนข้างหายาก.

ชื่อหลัก
กระแต
ชื่อวงศ์
Tupaiidae
ผู้เขียนคำอธิบาย
นายสุวัช สิงหพันธุ์
คำสำคัญ
-
แหล่งอ้างอิง
อนุกรมวิธานสัตว์ อักษร ก กองวิทยาศาสตร์ อนุกรมสัตว์ ก.1.pdf