กระเบน-ปลา

ชื่อสามัญ
Rays

ลักษณะทั่วไป เป็นปลาที่มีลำตัวแบนลงมาก ตัวลื่น ไม่มีเกล็ด แต่อาจมีปุ่มกระดูกเล็ก ๆ หรือมีผิวหนังหยาบบางบริเวณ โดยเฉพาะในแนวกลางตัวตรงสันของกระดูกสันหลัง ยกเว้น ปลากระเบนขนุน ผิวหนังมีหนามคลุมทั่วตัว ปลากระเบนโดยทั่วไปครีบอกแผ่ออกด้านข้าง บางชนิดแผ่ออกไปจดด้านหน้าและด้านท้ายเกือบเป็นวงกลมดูคล้ายจานหรือว่าว บางชนิดแผ่ยื่นด้านข้างออกไปเป็นปีกคล้ายนกหรือผีเสื้อ และบางพวกครีบอกแผ่ไปไม่ถึงส่วนหน้า ทำให้หัวแยกจากลำตัวและส่วนยื่นของหัวเป็นลอน เช่น ปลากระเบนนก อาจมีหรือไม่มีครีบหลัง ไม่มีครีบหาง ยกเว้น พวกปลากระเบนไฟฟ้า เท่านั้น ครีบท้องอยู่ด้านล่างตอนท้ายลำตัว จะงอยปากของปลากระเบนบางพวกยื่นแหลม เช่น ปลากระเบนขาว บางพวกมนกลม เช่น ปลากระเบนไฟฟ้า ปลากระเบนส่วนมากมีตาอยู่ด้านบน แต่ก็มีบางพวกที่อยู่ด้านข้างหัว ด้านหลังตาเป็น ช่องหายใจ (spiracle) (ภาพที่ ๑) ปากและรูจมูกอยู่ด้านท้อง ปากของปลากระเบนบางชนิดอาจยืดหดได้บ้างเล็กน้อย เช่น พวกปลากระเบนไฟฟ้า ระหว่างปากกับจมูกมักมีร่องเชื่อมถึงกัน ช่องเหงือกมี ๕ คู่ อยู่ถัดจากปากลงไป ฟันมีลักษณะเป็นฟันบด หน้าตัดเรียบหรือเป็นปุ่มเล็ก ๆ เรียงเป็นแถว ๆ หลายชั้นอยู่ทั้งด้านบนและด้านล่างของขากรรไกร ทวารร่วม (cloaca) เป็นช่องยาวรีอยู่ค่อนไปทางด้านหลัง และถัดจากทวารร่วมลงไปมีรูหน้าท้องเล็ก ๆ ๒ รู ปลาตัวผู้มีอวัยวะเป็นแท่งยาวแข็ง มักเรียกกันว่า เดือยเพศ (clasper) อยู่ด้านในของครีบท้องทั้งซ้ายและขวา ส่วนมากหางยาวเรียว สั้นบ้าง ยาวบ้าง และบางชนิดมีแผ่นหนังบาง ๆ อยู่ด้านบนและด้านล่างของหาง ซึ่งอาจมีอยู่เฉพาะด้านบนหรือด้านล่างเท่านั้นก็ได้ และบางทีก็เป็นสัน (fold) เป็นแนวยาวตามความยาวของหาง บนหางตอนใกล้ลำตัวอาจมีเงี่ยงหาง (caudal spine) ยาว แหลมคม ๑-๔ อัน เมื่อสัตว์ถูกทิ่มแทงจะรู้สึกปวดเพราะมีน้ำพิษอยู่บริเวณโคนเงี่ยงหางนั้น ปลากระเบนพวกที่มีเงี่ยงหางนี้มีอยู่เฉพาะในวงศ์ Trygonidae (Dasyatididae) เท่านั้น ปลาวงศ์อื่น ๆ ไม่มี หางมักมีผิวหยาบหรือขรุขระ (ภาพที่ ๒)

 


     ปลากระเบนมีอยู่ทั้งในน้ำเค็มและน้ำจืด ที่พบในน่านน้ำไทยมีอยู่ประมาณ ๔๐ ชนิด จำนวนชนิดที่พบในน้ำเค็มมีมากกว่า ในน้ำจืดมีเพียง ๕ ชนิดเท่านั้น บริเวณชายฝั่งทะเลมักพบปลากระเบน ขนาดเล็ก ส่วนปลาขนาดใหญ่อยู่ลึกออกไปห่างฝั่ง แต่ชนิดที่อยู่ในน้ำจืดก็อาจมีขนาดใหญ่ได้เช่นกัน ซึ่งได้แก่ ปลากระเบนเจ้าพระยา [Dasyatis (Himantura) chaophraya (Monkolprasit et Roberts)] (ภาพที่ ๓) ขนาดตัวกว้างกว่า ๒ เมตร หนักมากกว่า ๕๐๐ กิโลกรัม มีถิ่นอาศัยในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา พบตั้งแต่อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไปจนถึงแม่น้ำน่าน จังหวัดพิจิตร และยังพบอีกในแม่น้ำบางปะกง และแม่น้ำโขง ปลากระเบนที่อยู่ในน้ำเค็มมีขนาดใหญ่ ได้แก่ ปลากระเบนลายแมลงวันหรือปลากระเบนลายเสือ [Dasyatis uarnak (Forsskaํl)] ชื่อวิทยาศาสตร์อื่น Himantura uarnak (Forsskaํl) ปลากระเบนราหู [Mobula japonica (Müller et Henle)] ซึ่งมีความกว้างลำตัวมากกว่า ๑ เมตร และปลากระเบนค้างคาว [Aetobatus narinari (Euphrasen)] ซึ่งมีความกว้างลำตัวถึง ๓ เมตรก็มี

 


     ปลากระเบนเจ้าพระยา หรือที่ชาวบ้านแถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาเรียกกันว่า ปลากระเบนราหู นั้น จัดเป็นปลากระเบนน้ำจืดขนาดใหญ่มากชนิดหนึ่ง ลำตัวแบนลงมาก แผ่ออกเป็นวงกว้างเกือบเป็นรูปไข่ ปลายจะงอยปากค่อนข้างแหลม ตาเล็กมาก มีช่องหายใจอยู่บริเวณหลังตา ขนาดใหญ่กว่าเส้นผ่านศูนย์กลางของตามากประมาณถึง ๕ เท่า หางค่อนข้างยาวประมาณ ๒ เท่าของความยาวลำตัว มีเงี่ยงหางแหลมคม ๑ อัน (จากตัวอย่าง ๔ ตัวที่พบ) จากปลายโคนหางถึงบริเวณเงี่ยงหางมีปุ่มหนามหยาบ ๆ จำนวนมากปกคลุมอยู่ ผิวหนังด้านหลังสีน้ำตาลหรือเทา มีปุ่มหนามละเอียด ทู่ ๆ อยู่ทั่วไป และจะอยู่หนาแน่นบริเวณแนวกลางตัว ถ้าเป็นปลาขนาดใหญ่ ปุ่มหนามก็จะใหญ่และแหลมคมมากขึ้น ผิวหนังด้านท้องและส่วนของครีบท้องสีขาว แต่จะมีขอบโดยรอบลำตัวและปลายครีบท้องเป็นแถบสีดำและมีจุดกลมสีดำประอยู่บ้าง แถบดำรอบขอบตัวนี้มีความกว้างของ แถบบริเวณด้านหลังกว้างและเล็กเรียวไปทางด้านหน้า แต่ไม่ถึงบริเวณปลายจะงอยปาก คือเว้นเป็นช่องว่างสีขาว ที่ปลายส่วนแหลมของจะงอยปากด้านท้องนี้มีจุดแต้มสีดำเล็ก ๆ อยู่ด้วย
     ปลากระเบนปฏิสนธิในตัว ไข่ที่ได้รับการผสมจะเจริญอยู่ในมดลูกของแม่ปลาจนครบกำหนด บางพวกใช้เวลานานประมาณ ๓ เดือน และออกมาเป็นตัวอ่อน ลูกปลาที่คลอดออกมามีจำนวน ต่างกันขึ้นอยู่กับขนาดของแม่ปลา ระยะแรก ๆ อาจมีเพียง ๑-๒ ตัว เมื่อแม่ปลาโตขึ้นจำนวนจะเพิ่มขึ้น บางทีอาจมีได้ถึง ๑๒ ตัว
     ส่วนใหญ่แล้วปลากระเบนอยู่กับพื้นใต้ท้องน้ำที่เป็นดินโคลน ทราย หรือดินปนทราย มักฝังตัวลงไปจากผิวพื้น เมื่อปลาเคลื่อนที่ในระยะทางใกล้ ๆ มักกระพือครีบอกที่แผ่ออกไปนั้น เช่น ปลากระเบนทอง ปลากระเบนเสือ บางพวกโผว่ายไปในระดับกลางน้ำ มักไปเป็นฝูง เช่น พวกปลากระเบนราหู ปลาชนิดนี้ที่มีขนาดใหญ่มากเมื่อกระโจนไปปะทะเรืออาจทำให้เรือล่มได้ จึงเป็นเรื่องน่ากลัวของชาวประมง และชื่อปลากระเบนราหูนี้ยังนำมาใช้เรียกชื่อปลากระเบนเจ้าพระยา ซึ่งมีขนาดใหญ่มากอีกด้วย
     อาหารของปลากระเบนเป็นพวกสัตว์ที่อยู่ตามพื้นท้องน้ำ เช่น พวกกุ้ง ปู หอย ปลา ตลอดจนเพรียง และหนอนต่าง ๆ ปลากระเบนทุกชนิดสามารถนำมาประกอบอาหารได้ทั้งสิ้น ส่วนมากเนื้อปลามีกลิ่นคาวจัด จึงนิยมย่างไฟให้สุกดีเสียก่อนแล้วจึงนำมาประกอบอาหาร เช่น แกง ต้มยำ ผัดเผ็ด หรือย่างจิ้มน้ำปลา ก็รับประทานได้อร่อย นอกจากนี้ยังนำมาเคล้าเกลือตากแห้งเก็บไว้รับประทานได้นาน ๆ เช่น ปลากระเบนจมูกวัว
     ปลากระเบนที่รู้จักกันดี ได้แก่ ปลากระเบนขาวหรือปลากระเบนน้ำจืด ปลากระเบนเสือ ปลากระเบนธง ปลากระเบนทอง ปลากระเบนขนุน ปลากระเบนผีเสื้อ ปลากระเบนค้างคาว ปลากระเบนจมูกวัว ปลากระเบนราหู และปลากระเบนไฟฟ้า เป็นต้น (ภาพที่ ๔-๑๓)
     ปลากระเบนในวงศ์ Trygonidae (Dasyatididae) เช่น
     ปลากระเบนขาว [Dasyatis signifer (Campagno et Roberts)] ชื่อวิทยาศาสตร์อื่น Himantura signifer (Campagno et Roberts) ชื่ออื่น ๆ ปลากระเบนน้ำจืด (ภาพที่ ๔) ขนาดกว้างประมาณ ๔๐

 


เซนติเมตร ลำตัวแผ่ออกเกือบเป็นวงกลม ขอบโดยรอบตัวเป็นสีจางขาว กลางหลังมีหนามปม (pearl spine) ๑ อัน ไม่มีครีบหลัง หางยาว ๓-๔ เท่าของความยาวลำตัว เป็นชนิดหนึ่งที่อยู่ในน้ำจืด ในแม่น้ำสายสำคัญ คือ แม่น้ำเจ้าพระยา ตอนที่ผ่านจังหวัดภาคกลาง เช่น นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี นนทบุรี
     ปลากระเบนเสือ [Dasyatis (Himantura) gerrardi (Gray)] ชื่ออื่น ๆ ปลากระเบนบัว (ภาพที่ ๕) ขนาดกว้างประมาณ ๖๐ เซนติเมตร ปลายจะงอยปากค่อนข้างแหลม ลวดลายบนลำตัว แตกต่างไปตามขนาดของปลา ลายอาจเป็นเพียงจุด ขนาดเล็กบ้างใหญ่บ้าง ไม่มีครีบหลัง หางค่อนข้างยาว ๒-๓ เท่าของความยาวลำตัว หางสีดำสลับขาวเป็นปล้อง ๆ ตลอด อยู่ในทะเล

 



     ปลากระเบนธง [Dasyatis (Pastinachus) sephen (Forsskaํl)] ชื่อวิทยาศาสตร์อื่น Hypolophus sephen (Forsskal) (ภาพที่ ๖) เป็นพวกที่โตมากชนิดหนึ่ง มีรายงานว่า ได้พบตัวขนาดกว้างไม่ต่ำกว่า ๒ เมตร ปลาพวกนี้ไม่มีครีบหลัง หางมีแผ่นหนังบาง ๆ แผ่กว้าง เริ่มตั้งแต่เงี่ยงหางลงไปเกือบตลอดหาง อยู่ในทะเล

 



     ปลากระเบนทอง [Taeniura lymma (Forsskaํl)] ชื่ออื่น ๆ ปลากระเบนหิน (ภาพที่ ๗) เป็นปลาทะเลขนาดไม่โตนัก ขนาดกว้างประมาณ ๒๕ เซนติเมตร รูปร่างลำตัวกลมรีแบบรูปไข่ ไม่มีครีบหลัง หางค่อนข้างใหญ่แต่ไม่ยาวมาก หางด้านล่างตั้งแต่เงี่ยงหางลงไปจนถึงปลายหางมีแผ่นหนังแบนและกว้าง หลังสีเหลืองทองและมีแต้มประสีฟ้าขนาดเล็กบ้างใหญ่บ้างอยู่ทั่วด้านบน นอกจากนี้ยังมีแถบสีฟ้าเป็นแนว ๒ ข้างของหางอีกด้วย มักพบบริเวณย่านปะการัง นิยมนำมาเลี้ยงเป็นปลาตู้สวยงาม

 


     ปลากระเบนขนุน [Urogymnus africanus (Bloch et Schneider)] (ภาพที่ ๘) เป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง ขนาดกว้างประมาณ ๕๐ เซนติเมตร มีลักษณะที่แปลกแตกต่างจากปลากระเบนอื่น ๆ คือ บริเวณทั่วตัวด้านบนมีหนามแหลมสั้น ๆ ปกคลุมอยู่เต็มไปหมด ไม่มีครีบหลัง หางค่อนข้างยาว เป็นปลาที่ไม่ค่อยพบบ่อยนัก มักพบทางด้านทะเลอันดามัน

 


     ปลากระเบนผีเสื้อ ชื่ออื่น ๆ ปลากระเบนเปี๊ยก, ปลากระเบนเผือก ที่พบในน่านน้ำไทยมี ๒ ชนิด คือ ชนิด Pteroplatea micrura (Bloch et Schneider) หางสั้นกว่าครึ่งหนึ่งของความยาวลำตัว และชนิด P. poecilura (Shaw) หางยาวเกือบเท่าความยาวลำตัว (ภาพที่ ๙) ปลาชนิดนี้ลำตัวแผ่ กว้างออกทางด้านข้างมาก ครีบอกแผ่กางเป็นปีกดูคล้ายผีเสื้อ ไม่มีครีบหลัง หางเรียวสั้น มีลายสีดำสลับขาวเป็นปล้อง ๆ ตัวสีเทา เทาเข้ม หรือน้ำตาล บางชนิดมีขนาดกว้างประมาณ ๑ เมตรก็มี แต่ทั่วไปแล้วมักพบตัวเล็ก ๆ ขนาด ๓๐-๕๐ เซนติเมตร อยู่ในทะเล

 


     ปลากระเบนในวงศ์ Myliobatidae เช่น ปลากระเบนค้างคาว ชื่ออื่น ๆ ปลากระเบนนก มีอยู่หลายชนิดในสกุล Aetomylaeus เช่น A. maculata (Gray et Hardwicke), A. milvus (Müller et Henle) และ A. nichofii (Bloch et Schneider) และสกุล Aetobatus มีอยู่ชนิดเดียว ได้แก่ A. narinari (Euphrasen) (ภาพที่ ๑๐) ทั้ง ๒ สกุลเป็นปลาขนาดใหญ่ ขนาดกว้างประมาณ ๙๐ เซนติเมตร รูปร่างคล้ายรูปสี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ครีบอกแผ่ไปไม่ถึงด้านหน้าสุดเพียงแต่ใกล้ด้านข้างของหัวซึ่งยกขึ้นสูงทำให้เห็นส่วนหัวแยกจากตัว ความกว้างของครีบอกที่แผ่ออก ๒ ข้างกว้างถึง ๒ เมตรก็มี ตาอยู่ทางด้านข้าง จะงอยปากอยู่ต่ำกว่าตา ยื่นออกไปเป็นลอน ครีบหางเรียวยาว มีครีบหลังอยู่ที่โคนหาง ลำตัวสีเทาเข้มหรือน้ำตาล อยู่เป็นฝูงจำนวนมากบ้างน้อยบ้าง มักว่ายไปมา ไม่ชอบกบดานอยู่เป็นที่เหมือนพวกอื่น ๆ อยู่ในทะเล

 


     ปลากระเบนจมูกวัว (Rhinoptera javanica Müller et Henle) ชื่ออื่น ๆ ปลากระเบนยี่สน, ปลายี่สน (ภาพที่ ๑๑) เป็นปลาขนาดใหญ่ ความกว้างของตัวอาจถึง ๒ เมตร รูปร่างคล้ายปลากระเบนค้างคาว แต่ต่างกันที่จะงอยปากแบ่งเป็น ๒ ลอน หางเรียวยาวประมาณเกือบ ๒ เท่าของความยาวลำตัว หลังสีเทาเข้ม มักอยู่เป็นฝูงเช่นเดียวกับปลากระเบนค้างคาว และมีนิสัยอื่น ๆ คล้ายกัน อยู่ในทะเล

 


     ปลากระเบนในวงศ์ Mobulidae เช่น ปลากระเบนราหู เป็นปลาที่อยู่ในเขตน้ำลึก มีขนาดใหญ่มากชนิดหนึ่ง แรกเกิดลำตัวกว้าง ๖๐-๘๐ เซนติเมตร โตเต็มที่อาจกว้างถึง ๓ เมตร ลักษณะคล้ายกระเบนค้างคาว แตกต่างกันที่ปลายจะงอยปากไม่เป็นลอน แต่แผ่เป็นแผ่นกว้าง ๒ ข้างของปาก เรียก แผ่นครีบจะงอยปาก (rostral fin) ใช้กระพือพัดต้อนอาหารเข้าปาก อาหารเป็นพวกแพลงก์ตอน สีบนด้านหลังเข้มจน

 

ดูเป็นสีดำคล้ำ มักโผกระโจนขึ้นบนผิวน้ำ ที่พบในน่านน้ำไทยมีรายงานอยู่ ๒ ชนิด คือ ชนิด Mobula japonica (Müller et Henle) และ ชนิด M. kuhlii (Müller et Henle) (ภาพที่ ๑๒)
     ปลากระเบนในวงศ์ Torpedinidae เช่น ปลากระเบนไฟฟ้า ชื่ออื่น ๆ ปลาเสียว มีอยู่หลายสกุลและหลายชนิด ได้แก่ สกุล Temera, Narke และ Narcine เป็นปลาทะเล ขนาดกว้างประมาณ ๒๕ เซนติเมตร มีอยู่ในน่านน้ำไทยไม่กี่ชนิด บางชนิดอยู่ในน้ำตื้นใกล้ฝั่ง หรือในทะเลสาบ บางชนิดอยู่ห่างฝั่งในน้ำค่อนข้างลึก ขนาดไม่โตนัก ที่เคยพบบางชนิดมีความกว้างของลำตัว ๑๐-๑๕ เซนติเมตร ส่วนมากความกว้างของตัวไม่เกิน ๒๕ เซนติเมตร ว่ายน้ำช้า ๆ หาอาหารตามพื้นท้องน้ำ อาหารเป็นพวกกุ้ง ปู ตลอดจนปลาชนิดต่าง ๆ มีความสามารถสร้างประจุไฟฟ้าขึ้นในตัว และสะสมให้มีกำลังไฟสูงถึง ๘๐-๙๐ โวลต์ ผู้ที่ไปถูกตัวปลาเข้าจะสะดุ้งเหมือนดังถูกไฟฟ้าดูดอ่อน ๆ ได้ ลำตัวเกือบกลม บางชนิดยาวรี ตัวหนามากกว่าปลากระเบนพวกอื่น ๆ บางชนิด ด้านหน้าจะงอยปากกลมมน ตาเล็ก มีช่องหายใจขนาดใหญ่กว่าตามากอยู่ด้านหลังตา บางชนิดไม่มีครีบหลัง บางชนิดมี ๑-๒ ครีบ ครีบหางสั้นหนา ขอบปลายใหญ่กลมมน ลำตัวมักเป็นสีน้ำตาลอ่อนจนถึงเข้ม บางชนิดมีแต้มประสีขาวหรือสีเข้มเล็กบ้างใหญ่บ้างอยู่เต็ม บางชนิดแต้มสีเข้มอยู่ห่าง ๆ ไม่กี่จุด ปัจจุบันไม่ค่อยได้พบบ่อยนัก สกุลของปลาในวงศ์นี้ใช้การจำแนกจากจำนวนของครีบหลัง ซึ่งมีตั้งแต่ ๐-๒ ครีบ เช่น สกุล Temera เป็นพวกที่ไม่มีครีบหลัง ซึ่งพบอยู่เพียงชนิดเดียว ได้แก่ T. hardwickii Gray สกุล Narke มีครีบหลังครีบเดียวและพบเพียงชนิดเดียว คือ N. dipterygia (Bloch et Schneider) (ภาพที่ ๑๓) ส่วนสกุล Narcine ครีบหลังมี ๒ ครีบ มีหลายชนิด เช่น N. indica Henle, N. timlei (Bloch et Schneider).

 

 

 

 

ชื่อหลัก
กระเบน-ปลา
ชื่อวงศ์
Elasmo-branchii
ชื่อสามัญ
Rays
ผู้เขียนคำอธิบาย
ศ.สุภาพ มงคลประสิทธิ์
คำสำคัญ
-
แหล่งอ้างอิง
อนุกรมวิธานสัตว์ อักษร ก กองวิทยาศาสตร์ อนุกรมสัตว์ ก.1.pdf