ลักษณะทั่วไป เป็นนกที่มีขนาดแตกต่างกัน วัดจากปลายปากถึงปลายหางยาว ๑๐-๔๖ เซนติเมตร พบแพร่กระจายพันธุ์ไปทั่วโลก ยกเว้นบริเวณขั้วโลกและเกาะบางเกาะที่อยู่กลางมหาสมุทร ห่างไกลจากแผ่นดินใหญ่เท่านั้น
นกกระเต็นมีลักษณะรูปร่างอ้วนป้อม หัวโต คอสั้น ปากใหญ่ตรง ปลายแหลม ขาเล็ก สั้น แทบทุกชนิดมีสีสันสดใส ประกอบด้วยสีเขียว น้ำเงิน แดง น้ำตาล และขาว บางชนิดมีแถบหรือจุด หลายชนิดมีปากสีเหลืองหรือแดงสะดุดตา โดยทั่วไปแล้วตัวผู้และตัวเมียคล้ายกัน บางชนิดตัวเมียสีไม่สวยเท่าตัวผู้
นกกระเต็นบินเร็ว ตรง กระพือปีกถี่มาก สลับด้วยร่อนระยะสั้น ๆ ขณะร่อนปีกจะกึ่งหุบกึ่งกาง จะไม่กระพือปีกติดต่อกันระยะนาน ๆ ยกเว้นนกกระเต็นที่พบทางตอนเหนือของโลก ซึ่งจะอพยพย้ายถิ่นตามฤดูกาล มักส่งเสียงร้องดังขณะบิน เสียงไม่ไพเราะ
จากชื่ออื่น ๆ ที่เรียก “นกกินปลา” ทำให้เข้าใจกันว่านกประเภทนี้กินปลาเป็นอาหารเพียงอย่างเดียว แต่นอกจากกินปลาและสัตว์ขนาดเล็กอื่น ๆ เช่น ปู กุ้ง กบ เขียด แล้ว นกกระเต็นหลายชนิดไม่กินปลาเลย แต่กินแมลง หนอน สัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็ก หรือแม้แต่นกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก ดังนั้น จึงอาจพบนกพวกนี้อยู่ห่างจากแหล่งน้ำก็ได้ นกกระเต็นที่กินปลามักดักจับเหยื่อโดยการเกาะนิ่ง ๆ อยู่ตามกิ่งไม้ที่อยู่เหนือน้ำ เมื่อเห็นเหยื่อก็จะทิ้งตัวดิ่งลงอย่างรวดเร็ว ใช้ปากที่มีขอบคมคาบเหยื่อ แล้วบินกลับไปยังที่เกาะ ขยับเหยื่อให้เหมาะแล้วกลืนเหยื่อโดยให้ส่วนหัวเข้าก่อน บางชนิดโฉบกินแมลงกลางอากาศก็มี นกกระเต็นบางชนิดสามารถบินอยู่กับที่เหนือน้ำ ขณะบินอยู่กับที่ปีกจะต้องกระพือเร็วมาก ลำตัวตั้งเกือบตรงแต่ก้มหัวลงมอง เมื่อเห็นเหยื่อก็ทิ้งตัวลงจับ การที่บินอยู่กับที่นี้เองจึงนิยมเรียกกันว่านกกระเต็นปักหลัก
นักปักษีวิทยามักแยกนกกระเต็นออกเป็น ๒ วงศ์ย่อย คือ วงศ์ย่อย Alcedininae และวงศ์ย่อย Daceloninae ลักษณะแตกต่างที่สำคัญในนก ๒ วงศ์ย่อยนี้ คือ วงศ์ย่อยแรกจะกินปลาเป็นอาหารหลัก จึงมักพบอาศัยอยู่ใกล้แหล่งน้ำ ขนาดของตัวจะเล็กกว่า ปากแหลม แข็ง ส่วนนกกระเต็น ในวงศ์ย่อยหลังมักมีขนาดใหญ่ ปากค่อนข้างกว้างแบน บางชนิดปลายงุ้ม และถิ่นที่อยู่อาศัยไม่จำเป็นต้องใกล้แหล่งน้ำเสมอไป บางชนิดพบอยู่ตามป่าหรือทุ่งหญ้า ยังมีอีกวงศ์ย่อยหนึ่ง คือ Cerylinae ซึ่งนักปักษีวิทยาบางคนแยกไว้เฉพาะนกกระเต็นที่อยู่ในสกุล Ceryle และสกุล Chloroceryle เท่านั้น
นกกระเต็นส่วนใหญ่ทำรังในดินตามตลิ่งริมฝั่งน้ำโดยใช้ปากเจาะรูแล้วใช้ตีนเขี่ยดินออกมา รูลึกตั้งแต่ ๑ ถึง ๓ เมตร อาจเป็นแนวตรงหรือเฉียงขึ้นเล็กน้อยเพื่อป้องกันน้ำเข้า ก้นรูจะเป็นรังลักษณะทรงกลมไม่มีการรองด้วยวัสดุใด ๆ วางไข่สีขาวคราวละ ๕-๘ ฟอง ไข่ใช้เวลาฟัก ๑๘-๒๔ วัน ตัวผู้และตัวเมียผลัดกันฟัก ลูกนกกระเต็นที่ออกจากไข่ใหม่ ๆ ไม่ลืมตา ตัวไม่มีขน แต่ขนจะเริ่มขึ้นภายใน ๑ สัปดาห์ ทั้งพ่อและแม่นกช่วยกันเลี้ยง จนกระทั่ง ๓-๔ สัปดาห์ลูกจึงออกจากรัง ระยะนี้พ่อและแม่ยังคงดูแลอยู่ใกล้ ๆ และยังหาอาหารมาเลี้ยง จนกระทั่งลูกเริ่มหาอาหารด้วย ตนเองได้จึงผละไป ถึงแม้ว่าบ่อยครั้งลูกนกจะถ่ายโดยหันก้นออกปากรูก็ตาม แต่รังของนกกระเต็นสกปรกจากเศษอาหารที่ทับถมกัน นอกจากตามริมฝั่งน้ำแล้ว อาจพบนกกระเต็นทำรังตามจอมปลวก หรือบางชนิดทำรังตามโพรงไม้ก็มี
จากนกกระเต็นที่พบแพร่กระจายพันธุ์ไปทั่วโลกทั้งหมด ๙๑ ชนิด มีเพียง ๑๘ ชนิดเท่านั้นที่ไม่พบว่ามีการแบ่งออกเป็นชนิดย่อย ที่เหลือยังแยกออกเป็นชนิดย่อยได้มากมาย เช่น White-col-lared Kingfisher [Halcyon chloris (Bonaparte)] แบ่งออกได้ถึง ๔๘ ชนิดย่อย
ในประเทศไทยมีนกที่เรียกชื่อว่า นกกระเต็น อยู่ ๑๔ ชนิด คือ
๑. นกกระเต็นขาวดำใหญ่ [Megaceryle lugubris (Temminck)] ชื่อสามัญ Crested Kingfisher, Greater Pied Kingfisher ขนาดประมาณ ๔๓ เซนติเมตร พบทางภาคเหนือและภาคตะวันตก พบเห็นยาก
๒. นกกระเต็นปักหลัก[Ceryle rudis (Linn.)] ชื่อสามัญ Pied Kingfisher ขนาดประมาณ ๓๐ เซนติเมตร พบตามแหล่งน้ำใหญ่ ๆ ในภาคต่าง ๆ ยกเว้นภาคใต้ (ดู กระเต็นปักหลัก-นก)
๓. นกกระเต็นเฮอร์คิวลิส (Alcedo hercules Laubmann) ชื่อสามัญ Blyth’s Kingfisher, Great Blue Kingfisher ขนาดประมาณ ๒๓ เซนติเมตร พบตามลำธารในป่าภาคเหนือ พบเห็นยาก เป็นนกอพยพ
๔. นกกระเต็นน้อย[Alcedo atthis (Linn.)] ชื่อสามัญ Common Kingfisher, Little Blue Kingfisher ขนาดประมาณ ๑๗ เซนติเมตร พบทั่วทุกภาคของประเทศ ส่วนใหญ่เป็นนกอพยพ (ดู กระเต็นน้อย-นก)
๕. นกกระเต็นน้อยหลังสีน้ำเงิน (Alcedo meninting Horsfield) ชื่อสามัญ Blue-eared Kingfisher, Deep Blue Kingfisher ขนาดประมาณ ๑๖ เซนติเมตร พบตามแหล่งน้ำในป่าในภาคต่าง ๆ ยกเว้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
๖. นกกระเต็นน้อยแถบอกดำ (Alcedo euryzonia Temminck) ชื่อสามัญ Blue-banded Kingfisher ขนาดประมาณ ๒๐ เซนติเมตร พบตามลำธารในป่าของภาคใต้ พบไม่มากนัก
๗. นกกระเต็นน้อยสามนิ้ว [Ceyx erithacus (Linn.)] ชื่อสามัญ Oriental Dwarf Kingfisher, Three-toed Forest Kingfisher, Black-backed Kingfisher ขนาดประมาณ ๑๔ เซนติเมตร พบตามป่าดงดิบที่อยู่ใกล้ลำธารและแหล่งน้ำ ยกเว้นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บางส่วนเป็นนกอพยพ พบไม่มากนัก
๘. นกกระเต็นลาย [Lacedo pulchella (Horsfield)] ชื่อสามัญ Banded Kingfisher ขนาดประมาณ ๒๓ เซนติเมตร พบตามป่าดงดิบ ป่าเบญจพรรณ และป่าไผ่ ยกเว้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบเห็นง่าย
๙. นกกระเต็นสร้อยคอสีน้ำตาล (Actenoides concretus Temminck) ชื่อสามัญ Rufous-collared Kingfisher ขนาดประมาณ ๒๔ เซนติเมตร พบตามป่าที่ราบต่ำทางภาคใต้ พบเห็นน้อย
๑๐. นกกระเต็นใหญ่ปีกสีน้ำตาล [Halcyon amauroptera (Pearson)] ชื่อสามัญ Brown-winged Kingfisher ขนาดประมาณ ๓๖ เซนติเมตร พบตามป่าชายเลนฝั่งทะเลอันดามันที่มีต้นไม้ใหญ่ พบเห็นยาก
๑๑. นกกระเต็นกำกอม [Halcyon capensis (Linn.)] ชื่ออื่น ๆ นกกระเต็นใหญ่ ชื่อสามัญ Stork-billed Kingfisher ขนาดประมาณ ๓๗ เซนติเมตร พบเสมอทั่วทุกภาคของประเทศ
๑๒. นกกระเต็นแดง [Halcyon coromanda (Latham)] ชื่อสามัญ Ruddy Kingfisher ขนาดประมาณ ๒๕ เซนติเมตร พบทางภาคใต้และภาคตะวันออกตามป่าชายเลน บางส่วนเป็นนกอพยพ
๑๓. นกกระเต็นอกขาว[Halcyon smyrnensis (Linn.)] ชื่อสามัญ White-breasted Kingfisher, White-throated Kingfisher ขนาดประมาณ ๒๘ เซนติเมตร เป็นนกกระเต็นที่พบเสมอทั่วทุกภาคของประเทศ ที่เกาะสายไฟตามแถบชานเมืองมักเป็นนกกระเต็นชนิดนี้ (ดู กระเต็นอกขาว-นก)
๑๔. นกกระเต็นหัวดำ [Halcyon pileata (Boddaert)] ชื่อสามัญ Black-capped Kingfisher ขนาดประมาณ ๓๐ เซนติเมตร พบทั่วทุกภาคของประเทศ เป็นนกอพยพ
นอกจากนี้ ยังมีนกกระเต็นอีกชนิดหนึ่งซึ่งเป็นชนิดเดียวที่มีชื่อแตกต่างไปจากนกกระเต็น คือ นกกินเปี้ยว [Halcyon chloris (Boddaert)] ชื่อสามัญ Collared Kingfisher, Mangrove Kingfisher ขนาดประมาณ ๒๔ เซนติเมตร พบเสมอตามป่าชายเลน ตามลำน้ำ และแหล่งน้ำใหญ่ทั่วทุกภาค (ดู กินเปี้ยว-นก).