ลักษณะทั่วไป เป็นเต่าน้ำจืดขนาดใหญ่ โตเต็มวัยกระดองยาวประมาณ ๖๕ เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ ๒๑ กิโลกรัม กระดองหลังกลมรี แผ่นเกล็ดเหนือต้นคอ (nuchal plate) เล็กมาก แผ่นเกล็ดบนกระดองหลังชิ้นอื่น ๆ เรียบ ไม่มีสันเกล็ด กลางกระดองนูนสูง ขอบบริเวณท้ายกระดองงอนขึ้นเล็กน้อย ปลายจมูกงอนเชิดขึ้นคล้ายจมูกตะพาบ แต่เป็นโครงกระดูกแข็งไม่อ่อนนิ่ม เหมือนจมูกตะพาบ ตีนทั้งสี่มีพังผืดขึงระหว่างนิ้วเต็มจนเห็นนิ้วไม่ชัดเจน ดูคล้ายตีนตะพาบ ตีนหน้าเรียวยาวปรากฏนิ้วชัดเจน ๔ นิ้ว ขนาดใหญ่กว่าตีนหลัง
เต่ากระอานเป็นเต่าขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาเต่าน้ำจืดกระดองแข็งของทวีปเอเชีย จัดเป็นเต่าน้ำจืด แต่แท้จริงมักอาศัยในถิ่นน้ำกร่อย เท่าที่พบตัวเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้
โดยปรกติเต่ากระอานจะมีหัวสีเทาอมเขียว กระดองหลังสีเขียวมะกอก ตัวที่มีอายุมากกระดองจะมีสีเทาดำ ขอบกระดองเหลือง ตีนทั้งสี่สีเดียวกับหัว บริเวณผิวหนังขาว กระดองท้องขาว ในระยะผสมพันธุ์หัวของตัวผู้จะเปลี่ยนเป็นสีคล้ำ ขอบตาขาวหรือเหลืองอ่อน ริมฝีปากสีเหลืองสดขึ้น
เต่ากระอานใช้ชีวิตอยู่ในน้ำเกือบตลอดเวลา ไม่ขึ้นมาเดินบนบกมากนัก ทั้งนี้เพราะลักษณะของตีนเหมาะที่จะใช้ว่ายน้ำมากกว่า เต่ากระอานว่ายน้ำได้เร็วมากจนมีผู้จัดให้อยู่ในจำพวกเต่าบิน คือ ว่ายแฉลบในน้ำได้คล่องแคล่วราวกับนกถลาร่อนไปในอากาศ สามารถว่ายจับปลาและสัตว์น้ำเล็ก ๆ กินได้ แต่เต่ากระอานมักกินพืชน้ำมากกว่าเนื้อสัตว์ พบเต่ากระอานเฉพาะในแม่น้ำใหญ่ที่มีปากแม่น้ำออกทะเล อาศัยอยู่ในบริเวณน้ำกร่อย
เต่ากระอานขึ้นวางไข่ตามฝั่งแม่น้ำที่เป็นพื้นทราย ระหว่างเดือนมกราคมถึงมีนาคม ขุดหลุม วางไข่ลึกประมาณ ๒๐ เซนติเมตร กว้าง ๓๐-๔๕ เซนติเมตร วางไข่คราวละ ๒๐-๕๐ ฟอง ไข่กลมสีขาวเปลือกแข็ง นานประมาณ ๗๐ วัน จึงฟักออกเป็นตัวในประเทศไทยพบเต่ากระอานเฉพาะทางภาคใต้ ที่อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง และอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ต่างประเทศมีในประเทศพม่า มาเลเซีย และอินเดียเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองของประเทศไทย.