ลักษณะทั่วไป เป็นปลาน้ำจืดที่มีลักษณะใกล้เคียงกับปลาตะเพียน รูปร่างยาวรี แบนข้าง คล้ายปลาแก้มช้ำมากกว่าปลาตะเพียนชนิดอื่น ๆ ในสกุล Puntius หัวมีขนาดปานกลางโดยมีความยาว ๑ ใน ๒-๓.๒ ของความยาวลำตัว มีหนวด ๑ คู่ อยู่เหนือมุมปาก ปากกว้างพอสมควรและมีขอบเรียบ ปลายปากอยู่ในระดับสูงกว่าขอบล่างของตาเล็กน้อย กระดูกขากรรไกรบนยาวจนจดประมาณแนวใต้ขอบหน้าของตา รอบตาไม่มีเยื่อใสปกคลุม ฟันที่บริเวณคอหอยมีข้างละ ๓ แถว ครีบหลังมีก้านครีบอ่อนเดี่ยว ๓ ก้าน ก้านสุดท้ายจักถี่คล้ายฟันเลื่อย ตามด้วยก้านครีบแขนง ๘ ก้าน ส่วนครีบก้นมีก้านครีบอ่อนเดี่ยว ๓ ก้านและก้านครีบแขนงอีก ๕ ก้าน เกล็ดตามแนวเส้นข้างตัวมี ๒๔-๒๖ เกล็ด ที่เรียงเฉียงอยู่ในแนวเฉียงข้างตัวจากหน้าครีบก้นมี ๘ เกล็ด ที่อยู่ถัดจากท้ายทอยในแนวสันหลังจดครีบหลังมี ๘-๙ เกล็ด และที่อยู่รอบคอดหางมี ๑๒ เกล็ด
ปลากระสูบที่พบในประเทศไทยมีเพียง ๒ ชนิด คือ
๑. ปลากระสูบขาว (Hampala macrolepidota van Hasselt) ชื่ออื่น ๆ ปลากระสูบขีด, ปลากระสูบเขา อาจพบยาวได้ถึง ๕๐ เซนติเมตร ในประเทศใกล้เคียงมีหลักฐานพบยาวได้ถึง ๗๐ เซนติเมตร ปลาชนิดนี้มีลักษณะเด่นที่จะสังเกตกันคือ ในปลาที่โตเต็มวัยจะมีแถบสีดำพาดขวางข้างลำตัวระหว่างครีบหลังถึงฐานครีบท้อง ในบางครั้งหรือในปลาขนาดใหญ่อาจเห็นแถบนี้ไม่ชัดหรือหายไป อาจเห็นหลงเหลือเป็นเพียงจุด ๆ เดียวเหนือเส้นข้างตัว หรืออาจมีจุดที่อยู่ต่ำลงมาอีก ๑ จุด ความแตกต่างเหล่านี้อาจเป็นไปตามขนาดหรือท้องถิ่น บนแผ่นปิดเหงือกมีบริเวณเรื่อ ๆ สีดำคล้ำ ส่วนที่คอดหางมักมีแถบดำจางในแนวตั้ง ๑ แถบ ซึ่งบางครั้งอาจเห็นเป็นเพียงจุดดำจาง ๆ เท่านั้น นอกจากนี้อาจพบแถบจางมากบริเวณโคนครีบหางอีก ๑ ตำแหน่ง และที่ใกล้ฐานครีบก้นอันแรก ๆ ยังอาจมีจุดดำอีกแห่งหนึ่ง ร่องรอยเหล่านี้มักจางหรือหายไปในปลาที่มีขนาดยาวกว่า ๕-๘ เซนติเมตร
ลักษณะเด่นที่สำคัญคือ ขอบบนและล่างของครีบหางจะมีแถบสีดำเห็นได้ชัดเจน ครีบต่าง ๆ สีแดงหรือส้ม เข้มบ้างจางบ้าง หนวดที่มุมปากยาวพอ ๆ กับเส้นผ่านศูนย์กลางของตาหรืออาจยาวกว่า
๒. ปลากระสูบจุด (Hampala dispar H.M. Smith) พบเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ขนาดยาวไม่เกิน ๒๐ เซนติเมตร มีลักษณะเด่นเป็นเพียงจุดดำอยู่เหนือเส้นข้างตัว จุดนี้มีขนาดเดียวกันหรือใหญ่กว่าตาเพียงเล็กน้อย ส่วนที่ครีบหางจะเห็นเป็นสีดำหม่นทั่วไป ขอบบนและล่างของครีบหางเป็นเพียงแถบสีคล้ำไม่เด่นนัก ครีบต่าง ๆ รวมทั้งลำตัวมีสีหมองคล้ำไม่สดสวยเหมือนปลากระสูบขาว นอกจากนี้ครีบหางยังมีสัดส่วนสั้นกว่าเพราะปลายแฉกทู่ โดยเฉพาะครีบหางตอนบนมักสั้นกว่าครีบหางตอนล่าง หนวดสั้นกว่าเส้นผ่านศูนย์กลางของตามาก และตาก็อาจมีสัดส่วนเล็กกว่าด้วย
ปลากระสูบทั้ง ๒ ชนิด ต่างชอบอยู่รวมกันเป็นกลุ่มขนาดเล็ก มักพบในแหล่งน้ำใหญ่ เช่น แม่น้ำ หนอง บึง อ่างเก็บน้ำ พบอาศัยอยู่ในบริเวณที่มีน้ำใสและไหลถ่ายเท หรือมีพื้นท้องน้ำเป็นกรวดทราย ในเขตน้ำขุ่นหรือพื้นท้องน้ำเป็นดิน โคลน จะพบอาศัยอยู่น้อยกว่า
ปลากระสูบขนาดเล็กกินแมลง กุ้ง และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอื่น ๆ ที่อาศัยอยู่ในน้ำ ปลาที่มีขนาดยาวกว่า ๑๐ เซนติเมตร สามารถว่ายน้ำไล่เหยื่อได้อย่างรวดเร็วและกินปลาที่มีขนาดเล็กกว่าได้ รวมทั้งพวกเดียวกันด้วย
นอกจากปลากระสูบจะถูกจับมาเป็นอาหารแล้ว ยังมีคุณสมบัติเหมาะสมสำหรับตกเป็นกีฬาและใช้เลี้ยงเป็นปลาสวยงามได้
ปลากระสูบขาวแพร่กระจายอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศไทยและประเทศใกล้เคียง รวมทั้งบนเกาะชวา สุมาตรา และบอร์เนียว พบทั่วไปและจัดเป็นปลาอาหารที่สำคัญกว่าปลากระสูบจุดซึ่งพบน้อยและขนาดเล็กกว่า ปลากระสูบจุดมีอยู่เฉพาะในเขตภาคกลางตั้งแต่จังหวัดเพชรบุรีขึ้นไปทางตะวันออกจนถึงแม่น้ำโขงและในประเทศกัมพูชาเท่านั้น โดยพบเสมอในอ่างเก็บน้ำเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ.