กระสง-ปลา

Channa lucius Cuvier

ชื่อวิทยาศาสตร์
Channa lucius Cuvier วงศ์ Channidae
ชื่ออื่น ๆ
ปลากะสง, ปลากะจ๋น (หนองคาย); อีกันบูจก (ปัตตานี)
ชื่อสามัญ
Blotched Snake-head Fish

ลักษณะทั่วไป เป็นปลาน้ำจืด รูปร่างกลมยาว ลักษณะคล้ายปลาชะโดมากกว่าปลาอื่น ๆ เช่น ปลาช่อน ซึ่งล้วนอยู่ในสกุลเดียวกัน แต่มีขนาดยาวได้เพียงไม่เกิน ๔๐ เซนติเมตร ที่พบเสมอความยาวตลอดตัว ๒๒-๒๕ เซนติเมตร ปรกติตัวเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ ความยาวจากตาไปถึงปลายสุดของหัวยาวกว่าช่องว่างระหว่างตาทั้ง ๒ ข้าง ทำให้ส่วนปลายหัวค่อนข้างลู่แหลมคล้ายงูมากกว่าปลาอื่น ๆ อีก ๗ ชนิด ในสกุลเดียวกัน
     มีฟันแหลมคม ๑-๒ แนว บนเพดานปากแต่ละข้าง เส้นข้างตัวตรงบริเวณเกล็ดที่ ๑๘-๒๐ จะคดโค้งลง และตลอดแนวมีเกล็ดรวมทั้งสิ้น ๕๘-๖๕ เกล็ด เกล็ดที่อยู่ในแนวเฉียงข้างลำตัวมี ๑๖-๑๗ เกล็ด ส่วนที่อยู่ในแนวระหว่างตาถึงมุมกระดูกแผ่นปิดเหงือกชิ้นหน้ามี ๑๐-๑๓ เกล็ด
     พื้นลำตัวที่ด้านหลังมีสีค่อนไปทางน้ำตาล และจางลงจนเป็นสีเหลืองที่ด้านท้อง ข้างลำตัวมีจุดสีดำเรียงเป็นแถวคู่กันประมาณ ๑๒ แถว ระหว่างแถวจะเห็นเป็นแถบสีขาวจางคดไปคดมา ครีบต่าง ๆ สีน้ำตาลคล้ำประดำหรือน้ำตาลดำ ซึ่งอาจติดต่อกันเป็นริ้วสีดำ
     ปลากระสงอาศัยอยู่ตามลำพัง พบแพร่กระจายในแหล่งน้ำจืดโดยเฉพาะบริเวณต้นน้ำทั่วราชอาณาจักรและในประเทศใกล้เคียง มีจำนวนน้อยกว่าปลาช่อนและปลาชะโด สามารถหลบซ่อนหรือมีชีวิตอยู่ในที่ชื้นแฉะพ้นผิวน้ำได้ดีเช่นเดียวกับปลาชนิดอื่น ๆ ในสกุลเดียวกัน ปรกติจะเคลื่อนตัวช้า ๆ อยู่ใกล้ผิวน้ำบริเวณชายฝั่งที่มีพืชน้ำ และค่อย ๆ โผล่ขึ้นฮุบอากาศเป็นครั้งคราวเพื่อเก็บไว้ตรงบริเวณอวัยวะพิเศษใช้ช่วยหายใจที่บริเวณเหนือเหงือก และจะฮุบเหยื่อโผงผางเช่นเดียวกับปลาอื่น ๆ ในสกุลเดียวกัน ปรกติมักกินสัตว์อื่น เช่น กบ เขียด ปลา แมลง หอย แต่ก็ยังพบว่ากินแม้กระทั่งลูกเป็ดและนกน้ำด้วย
     ปลากระสงทำรังและดูแลลูกเช่นเดียวกับปลาช่อนและปลาชะโด คือ พ่อและแม่ปลาซึ่งปรกติแม่ปลาจะตัวใหญ่กว่าพ่อปลา จะช่วยกันทำรังตามพื้นท้องน้ำระหว่างพงพืชน้ำโดยจัดพื้นที่ให้เตียน อาจทำโดยกัดทึ้งพืชใต้น้ำในบริเวณนั้นจนราบเรียบ ขนาดของรังขึ้นอยู่กับขนาดของปลาระยะผสมพันธุ์มักเป็นต้นฤดูฝน ไข่ที่ถูกผสมแล้วจะลอยเป็นแพสีเหลืองอยู่ในรัง ลูกที่เพิ่งฟักเป็นตัวมีสีดำคล้ำ อาจพบเรียกกันว่า “หมัดหมา” และจะอยู่แต่ในรัง ระยะนี้พ่อแม่ปลาจะคุ้มครองหวงแหนลูกและดุมากที่สุด ลูกปลาที่โตขึ้นจะมีสีแดงส้ม ว่ายทิ้งรังออกหากินรวมกันเป็นฝูงเรียกกันว่า “ลูกครอก” ซึ่งสามารถดำผุดโผล่ได้รวดเร็วมาก ในระยะแรก ๆ พ่อและแม่ปลาโดยเฉพาะแม่ปลาจะยังคงว่ายติดตามคุ้มครองลูกอยู่ในระดับที่ลึกกว่า จนลูกปลาโตขึ้นอีกและทยอยทิ้งฝูงไป.

 

ชื่อหลัก
กระสง-ปลา
ชื่อวิทยาศาสตร์
Channa lucius Cuvier
ชื่อสกุล
Channa
ชื่อชนิด
lucius
ชื่อผู้ตั้งชื่อชนิดสัตว์
Cuvier
ชื่อวงศ์
Channidae
ชื่ออื่น ๆ
ปลากะสง, ปลากะจ๋น (หนองคาย); อีกันบูจก (ปัตตานี)
ชื่อสามัญ
Blotched Snake-head Fish
ผู้เขียนคำอธิบาย
ศ. ดร.ทศพร วงศ์รัตน์
คำสำคัญ
-
แหล่งอ้างอิง
อนุกรมวิธานสัตว์ อักษร ก กองวิทยาศาสตร์ อนุกรมสัตว์ ก.1.pdf