ลักษณะทั่วไป ลักษณะคล้ายกระรอกชนิดอื่น ๆ ที่ออกหากินในเวลากลางวัน แต่บริเวณด้านข้างลำตัวมีพังผืดเชื่อมระหว่างขาหน้าและขาหลัง ในบางชนิดพังผืดนี้จะเชื่อมไปจนถึงคอและโคนหาง เมื่อกระรอกบินอยู่นิ่ง ๆ จะสังเกตเห็นได้ยาก เพราะแผ่นพังผืดจะม้วนไปตามความโค้งของลำตัว ที่ข้อตีนหน้ามีกระดูกอ่อนซึ่งช่วยแผ่กางพังผืดในขณะร่อน เมื่อจะร่อนกระรอกบินจะไต่ขึ้นไปบนยอดไม้หรือที่สูง แล้วทิ้งตัวกางพังผืดร่อนลงมายังโคนไม้อีกต้นหนึ่งหรือยังที่ที่ต้องการ กระรอกบินมักมีรูปร่างแบบบาง ลำตัวเรียว หางแบน ซึ่งช่วยลดการเสียดสีกับอากาศในขณะร่อน มีสูตรฟัน ๑/๑ ๐/๐ ๒/๑ ๓/๓ *๒ = ๒๒
กระรอกบินไต่ต้นไม้ในลักษณะเดียวกับกระรอกทั่วไปแต่เชื่องช้ากว่า และมักใช้วิธีงอตัวกระโดดไปข้างหน้าโดยใช้พังผืดช่วย การร่อนจะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับการปรับกล้ามเนื้อของพังผืดและตำแหน่งของรยางค์กับหางให้ได้สัดส่วนกัน ปรกติกระรอกบินจะร่อนเป็นระยะทางไกลและโค้งเรียบลงสู่พื้นหรือลำต้นไม้ได้อย่างนุ่มนวล ออกหากินในเวลากลางคืน
กระรอกบินทั่วโลกมีไม่น้อยกว่า ๓๖ ชนิด ในประเทศไทยสำรวจพบแล้ว ๑๐ ชนิด คือ
๑. พญากระรอกบินหูดำ [Petaurista elegans (Müller)] พบทางภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้
๒. พญากระรอกบินหูแดง [P. petaurista (Pallas)] พบทั่วทุกภาค
๓. พญากระรอกบินหูขาว [P. alborufus (Milne-Edwards)] พบทางภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก
๔. พญากระรอกบินสีดำ [Aeromys tephromelas (Günther)] พบทางภาคใต้
๕. กระรอกบินเล็กเขาสูง [Hylopetes alboniger (Hodgson)] พบทางภาคเหนือ
๖. กระรอกบินเล็กแก้มขาว [H. phayrei (Blyth)] พบทางภาคเหนือและภาคกลาง
๗. กระรอกบินเล็กแก้มแดง [H. lepidus (Horsfield)] พบทางภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้
๘. กระรอกบินเล็กแก้มเทา [H. platyurus (Jentink)] พบทางภาคใต้
๙. กระรอกบินจิ๋วท้องขาว [Petinomys setosus (Temminck)] พบทางตอนเหนือสุดของภาคเหนือและภาคใต้
๑๐. กระรอกบินเท้าขน [Belomys pearsoni (Gray)] พบทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
มักมีผู้เข้าใจผิดว่า กระรอกบินมีปีกบินได้อย่างนก บ้างก็เข้าใจว่าเป็นสัตว์ชนิดเดียวกับบ่าง แต่ในทางอนุกรมวิธาน บ่างและกระรอกบินจัดเป็นสัตว์ต่างอันดับกัน เพียงแต่สามารถโผร่อนได้เหมือนกันเท่านั้น
เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองของประเทศไทย.