ลักษณะทั่วไป หนอนกระทู้เป็นหนอนแมลงซึ่งมีลำตัวอ่อนนุ่ม ผิวมัน มีขนตามลำตัวน้อย จนหากไม่สังเกตให้ดีก็อาจมองไม่เห็น สีพื้นลำตัวด้านบนเป็นสีคล้ำประเภทสีน้ำตาล ดำ หรือเขียวคล้ำปะปนกันไป ด้านท้องมีสีอ่อนกว่า อาจมีแถบสีต่าง ๆ เช่น สีส้มอมน้ำตาล เหลืองอมขาว ฯลฯ พาด ตามยาวข้างลำตัว หรือพาดตัดตามขวาง หรือมีลายเป็นจุดสีดำหรือสีอื่น ๆ แล้วแต่ชนิด หนอนเหล่านี้มีขาจริง ๓ คู่อยู่ที่อก และขาเทียม ๕ คู่อยู่ที่ท้อง ซึ่งเป็นลักษณะเช่นเดียวกับหนอนผีเสื้อทั่ว ๆ ไป
ในเวลากลางวันหนอนกระทู้ส่วนใหญ่จะซุกตัวอยู่เงียบ ๆ ตามซอกใบ ก้านใบ ลำต้นพืชใต้ก้อนดิน หรือขุดรูอยู่ใต้พื้นดิน ในเวลากลางคืนจึงจะออกมากัดกินส่วนต่าง ๆ ของพืช โดยมักกัดลำต้นของพืชให้ขาดออกจากกัน ฉะนั้น ในเวลาที่มีการระบาดมาก ๆ หนอนกระทู้อาจกัดกินพืชจนเหลือแต่ต้นโผล่ให้เห็นคล้ายซอไม้ไผ่ปักเป็นหลักอยู่ทั่วไป อันเป็นที่มาของชื่อ “กระทู้”
หนอนกระทู้เหล่านี้มีวัฏจักรชีวิตโดยทั่ว ๆ ไปคล้ายคลึงกัน กล่าวคือตัวแม่ผีเสื้อหนอนกระทู้จะวางไข่เป็นกลุ่มก้อนตามใบหรือส่วนอื่น ๆ ของพืชอาหาร ไข่เหล่านี้มักปกคลุมด้วยใยสีน้ำตาลซึ่งอาจปะปนด้วยขนของแม่ผีเสื้อหนอนกระทู้ เมื่อไข่ฟักออกมาเป็นตัวหนอนก็จะกัดกินใบและส่วนต่าง ๆ ของพืช ตัวหนอนจะเคลื่อนย้ายไปอยู่ตามสถานที่ต่าง ๆ แล้วแต่ประเภทและชนิดของหนอนดังกล่าว ข้างต้น โดยทั่วไปมีการลอกคราบ ๕ ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน ๔-๗ วัน โตเต็มวัยยาว ๓-๔ เซนติเมตร และส่วนใหญ่จะเปลี่ยนเป็นดักแด้โดยซ่อนตัวอยู่ในดิน มีน้อยชนิดที่เปลี่ยนเป็นดักแด้ บนพืช เมื่อออกจากดักแด้จะเป็นผีเสื้อกลางคืนที่มีขนาดไม่ต่างกันมากนัก หนวดมักยาวเป็นรูปเส้นด้าย และมักมีลำตัวอ้วนป้อม มีขนและเกล็ดสีเดียวกับลำตัวปกคลุมอยู่อย่างหนาแน่น ปีกคู่หน้าแคบ ผิดกับปีกคู่หลังที่มีลักษณะกว้างใหญ่ ส่วนใหญ่เมื่อเกาะนิ่งจะหุบปีกเป็นรูปหลังคาปกคลุมตัว ความยาววัดจากหัวถึงปลายปีก ๑.๖-๑.๘ เซนติเมตร เมื่อกางปีกออกให้ได้ฉากกับลำตัว ความยาววัดจากปลายปีกหนึ่งไปจดอีกปลายปีกหนึ่ง ๓.๐-๓.๕ เซนติเมตร สีพื้นของปีกและลำตัวโดยทั่วไปจะเป็นสีน้ำตาลอ่อนหรือเข้มแล้วแต่กรณี พวกที่มีลวดลายบนปีกหรือเส้นปีกมีสีอ่อนทำให้เห็นเป็นลายเส้นบนปีกก็มี ผีเสื้อหนอนกระทู้เหล่านี้จะผสมพันธุ์และวางไข่ต่อไปใหม่ ในปีหนึ่ง ๆ มีหลายชั่วรุ่น
หากจะแบ่งประเภทตามนิสัยของหนอนกระทู้แล้ว ก็อาจแบ่งได้ง่าย ๆ เป็น ๔ ประเภทด้วยกัน คือ
๑. หนอนกระทู้ประเภทที่คลานขึ้นบนต้นพืชและกัดกินตาอ่อน ใบ ยอดอ่อน ฝักของพืช เช่น หนอนกระทู้ฝักข้าวโพด (Heliothis armigera Hubner) หนอนกระทู้ผัก (Prodenia litura Fabricius) หนอนกระทู้ข้าวกล้า (Spodoptera muaritia Boisduval)
๒. หนอนกระทู้ประเภทที่กัดโคนต้นพืชตรงส่วนที่อยู่เหนือหรือใต้พื้นดินเล็กน้อย และบางครั้งอาจลากเอาต้นพืชลงไปกัดกินในรูด้วย หนอนประเภทนี้จะไม่กินพืชที่กัดจนหมด แต่จะทิ้งพืชที่กัดจนต้นขาดไว้มากมาย จึงทำให้เกิดความเสียหายมาก ดังตัวอย่าง หนอนกระทู้ดำ (Agrotis ypsilon Hubner) ซึ่งทำลายกล้าผักกาด พริก ยาสูบ ในพื้นที่ปลูกทั่วไป
๓. หนอนกระทู้ประเภทที่กัดกินรากพืชหรือส่วนของลำต้นพืชที่อยู่ใต้ดินเป็นอาหาร อาศัยอยู่ใต้ดินตลอดเวลา เช่น หนอนกระทู้ใส (Crymodes devastator Brace)
๔. หนอนกระทู้ประเภทที่อยู่บนดิน สามารถรวมกลุ่มและคลานไปเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ คล้ายกองทัพดังที่กล่าวกันว่าเป็นกองทัพหนอนบุกเข้าทำลายข้าวหรือพืชอื่น ๆ เป็นบริเวณกว้างขวางซึ่งได้แก่ หนอนกระทู้คอรวงหรือหนอนกระทู้ควายพระอินทร์ [Mythimna separata (Walker)] หนอนกระทู้อ้อย (Pseudaletia loreyi Dupochel) และหนอนกระทู้ธัญพืช (P. venalba Moore)
หนอนกระทู้พบทั่วไปในประเทศไทย และจัดเป็นหนอนแมลงสำคัญที่ทำลายพืชผลทางการเกษตรของประเทศ เพราะมักกัดกินทำลายพืชในท้องที่ต่าง ๆ ให้เสียหาย ความเสียหายมีตั้งแต่ร้อยละ ๕-๕๐ และบางครั้งอาจสูงถึงร้อยละ ๘๐ หรือ ๙๐ เป็นปัญหาทำให้การเพาะปลูกไม่ได้ผล เกษตรกรจำเป็นต้องป้องกันและกำจัดอยู่เป็นประจำ.