ลักษณะทั่วไป เป็นกระรอกขนาดเล็ก วัดจากปลายจมูกถึงโคนหางยาว ๑๐-๑๖ เซนติเมตร หางยาว ๘-๑๒ เซนติเมตร น้ำหนัก ๔๐-๘๕ กรัม มีแถบสีดำ ๔ แถบพาดตามความยาวลำตัวสลับกับแถบสีน้ำตาลจาง ๆ ๕ แถบ แถบเหล่านี้มีขนาดใกล้เคียงและสม่ำเสมอกัน เว้นแต่แถบที่กลางหลังมีขนาดเล็กกว่าแถบอื่น ๆ ขนสีน้ำตาลอมเหลือง นอกจากบริเวณใต้ท้องเป็นสีขาวหรือเทา ขนหางไม่หนาแน่นเป็นพวงเหมือนขนหางของกระรอกชนิดอื่น ๆ มีนม ๓ คู่ สูตรฟัน ๑/๑ ๐/๐ ๒/๑ ๓/๓ * ๒ = ๒๒
กระถิกอาศัยอยู่บนต้นไม้สูง ๆ ในป่า สวนผลไม้ หรือสวนมะพร้าว มักลงหากินตามพื้นดิน เคลื่อนไหวได้คล่องแคล่ว อยู่ตามลำพัง เป็นคู่ หรือบางครั้งพบอยู่ด้วยกันเป็นฝูงเล็ก ๆ ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นครอบครัวเดียวกัน หากินในเวลากลางวัน แต่พบบ่อยมากในเวลาเช้าตรู่ กินผลไม้ เมล็ดพืช และเคยพบว่ากินแมลงด้วย เมื่อตกใจหรือหนีภัยจะกางขาแนบลำตัวเกาะนิ่งไปตามแนวยาวของต้นไม้ทำให้กลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อม ศัตรูมักมองไม่ค่อยเห็น
รังของกระถิกอยู่ตามโพรงไม้ ออกลูกประมาณเดือนเมษายน ครั้งละ ๑-๓ ตัว
ในประเทศไทยพบกระถิก ๒ ชนิด คือ
๑. กระถิกขนปลายหูยาว [Tamiops rodolphei (Milne-Edwards)] ชื่อสามัญ Cambodian Striped Tree Squirrel ขนปลายหูสีขาวและยาวเห็นได้ชัด มี ๒ ชนิดย่อย คือ
๑.๑ T. r. rodolphei (Milne-Edwards) สีค่อนข้างดำ พบทางภาคตะวันออกเฉียงใต้
๑.๒ T. r. elbeli Moore สีค่อนข้างน้ำตาล พบที่จังหวัดชัยภูมิและขอนแก่น
๒. กระถิกขนปลายหูสั้น [Tamiops macclellandi (Horsfield)] ชื่อสามัญ Burmese Striped Tree Squirrel แถบสีจาง เส้นนอกสุดมีขนาดกว้างและสีจางกว่าเส้นอื่น ๆ มี ๓ ชนิดย่อย คือ
๒.๑ T. m. collinus Moore พบทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน
๒.๒ T. m. kongensis (Bonhote) พบทางตะวันตกจากจังหวัดแม่ฮ่องสอนลงมาจนถึง ประจวบคีรีขันธ์
๒.๓ T. m. leucotis (Temminck) พบทางภาคใต้ตั้งแต่คอคอดกระลงไป.