ลักษณะทั่วไป เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก วัดจากปลายจมูกถึงก้นยาว ๔๔-๕๐ เซนติเมตร น้ำหนัก ๕๐๐-๘๐๐ กรัม รูปร่างเหมือนกระต่ายบ้าน ขนลำตัวตอนบนสีน้ำตาลหยาบ ตอนล่างสีขาวนุ่ม นอกจากบริเวณอกเป็นสีน้ำตาลแดง ขนบริเวณคางสีขาว หูสีน้ำตาล ปลายหูสีดำ ด้านบนของต้นคอสีน้ำตาลเข้มเช่นเดียวกับขาและตีนหน้า ขาหลังสีน้ำตาลด้านในสีขาว หางด้านบน สีน้ำตาลเข้ม ด้านล่างสีขาว มีสูตรฟัน ๒/๑ ๐/๐ ๓/๒ ๓/๓ * ๒ = ๒๘
ข้อแตกต่างจากกระต่ายบ้านคือ กระต่ายป่าจะไม่ขุดโพรงหรือฝังตัวอยู่ในดิน ออกลูกในที่โล่งหรือทุ่งหญ้า ลูกแรกเกิดลำตัวปกคลุมไปด้วยขนและลืมตาได้ทันที
กระต่ายป่าออกหากินเวลาเย็นหรือกลางคืน กลางวันจะหลบอยู่ตามพุ่มไม้เตี้ย ๆ หรือกอหญ้า เมื่อศัตรูมารบกวนจะออกวิ่งอย่างรวดเร็วเพื่อหาที่หลบซ่อนใหม่ หากินตัวเดียวโดด ๆ กินหญ้า ยอดและต้นอ่อนของพืช รากไม้ และเปลือกไม้ มีนิสัยหวงถิ่นไม่ล้ำเขตกัน แต่ระหว่างฤดูผสมพันธุ์จะเปลี่ยนนิสัยเป็นดุร้ายทันที มีการต่อสู้กันเพื่อแย่งตัวเมีย โดยใช้ตีนหน้าชกและตีนหลังเตะ เมื่อจับคู่กับตัวเมียที่ต้องการได้แล้ว ก่อนผสมพันธุ์จะทำร้ายตัวเมีย เช่น กัดก่อนจนอ่อนแรง ตัวเมียตั้งท้องนาน ๓๕-๔๐ วัน ออกลูกคราวละ ๑-๗ ตัว และมีลูกได้ตลอดปี กระต่ายป่ามีอายุอยู่ได้ประมาณ ๖ ปี
ในประเทศไทยพบกระต่ายป่าบริเวณที่ราบซึ่งเคยเป็นป่าทึบแล้วถูกทำลายไป โดยเฉพาะที่ราบรอบ ๆ ภูเขาหรือหมู่บ้าน พบได้ทุกภาคนอกจากภาคใต้ ต่างประเทศพบในพม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม สำหรับกระต่ายที่เลี้ยงกันทั่วไปมีชื่อสามัญว่า Rabbit ได้นำพันธุ์มาจากต่างประเทศมักเป็น ชนิด Oryctolagus cuniculus (Linn.).